สธ. รณรงค์ ‘วันส้วมโลก’ เผยวิถีใหม่ (New Normal) ใช้ส้วมอย่างถูกต้อง ลดเสี่ยงเชื้อโรค

​กระทรวงสาธารณสุข ชวนรณรงค์วันส้วมโลก ภายใต้ Theme “ส้วมสาธารณะวิถีใหม่เพื่อทุกคน” (The New Normal Public Toilet for All) ป้องกันโรคโควิด 19 พร้อมเผยผลสำรวจอนามัยโพลออนไลน์ พบคนไทยใช้บริการส้วมปั๊มน้ำมันมากที่สุด และปัจจัยด้านความสะอาดยังคงเป็นเหตุผลลำดับแรกของ การเลือกใช้บริการ
​วันนี้ (16 พฤศจิกายน 2563) ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงานรณรงค์วันส้วมโลก ประจำปี 2563 ณ ศูนย์การค้าไอคอนสยาม ว่า องค์การสหประชาชาติ กำหนดให้วันที่ 19 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันส้วมโลก ประเทศไทย โดยกระทรวงสาธารณสุข ได้จัดงานรณรงค์วันส้วมโลก ประจำปี 2563 ภายใต้ Theme “ส้วมสาธารณะวิถีใหม่เพื่อทุกคน” (The New Normal Public Toilet for All) เนื่องจากขณะนี้ทั่วโลกกำลังเผชิญกับโรคโควิด 19 ส่งผลให้การดำเนินชีวิตของประชาชนเปลี่ยนไป จึงจำเป็นต้องดูแลสุขภาพของตนเอง ครอบครัว และสังคม ให้ปลอดภัยจากโรค ดังนั้น การพัฒนาส้วมสาธารณะจึงมีความสำคัญ เนื่องจากมีความเสี่ยงจากการรับสัมผัสเชื้อโรคที่ออกมาจาก สารคัดหลั่งในร่างกาย ซึ่งอาจปนเปื้อนอยู่พื้นผิวสัมผัสร่วมต่าง ๆ หรืออากาศภายในห้องส้วม จนส่งผลต่อการ ติดเชื้อและเกิดโรคระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องร่วง บิด ไทฟอยด์ ไวรัสตับอักเสบชนิดเอ พยาธิหรือไข่พยาธิที่อยู่ในอุจจาระเข้าสู่ร่างกาย กระทรวงสาธารณสุข จึงขอความร่วมมือประชาชนมีพฤติกรรมการใช้ส้วมสาธารณะวิถีใหม่ เพื่อลดการสัมผัสในบริเวณที่มีการใช้ร่วมกัน เน้นการป้องกันตนเองจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 รวมทั้งเชื้อโรคจากการเข้าไปใช้บริการส้วมสาธารณะ
​ทางด้าน นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากผลสำรวจ อนามัยโพลออนไลน์เรื่องการใช้ส้วมสาธารณะของประชาชน พบว่า ส้วมที่เลือกใช้บริการมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง ร้อยละ 68 รองลงมาคือ ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ร้อยละ 58.5 และโรงพยาบาล ร้อยละ 21.6 ตามลำดับ โดยเหตุผลที่ประชาชนเลือกใช้ส้วมสาธารณะลำดับแรกคือ ความสะอาด ซึ่งผลสำรวจยังคงพบว่าส้วมสาธารณะที่สะอาดที่สุด คือ ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า และรองลงมา คือ สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง ทั้งนี้ การใช้ส้วมสาธารณะแบบวิถีใหม่ ผู้ให้บริการต้องเพิ่มความถี่ในการทำความสะอาดห้องส้วมและบริเวณผิวสัมผัสร่วม ได้แก่ สายฉีดชำระ ที่กดโถส้วม โถปัสสาวะ ลูกบิดหรือกลอนประตู ที่รองนั่งโถส้วม พื้นห้องส้วม และที่เปิดก๊อก สำหรับผู้ใช้บริการ ต้องมีพฤติกรรมอนามัยในการใช้ส้วมอย่างถูกต้อง โดยปิดฝาโถส้วมก่อนกดชักโครกทุกครั้ง เพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายของเชื้อโรค เว้นระยะห่างในขณะรอใช้ส้วมสาธารณะ 1-2 เมตร ไม่ขึ้นไปเหยียบบนโถส้วมแบบนั่งราบ โดยเช็ดฆ่าเชื้อก่อนนั่งลงบนโถส้วม ไม่ทิ้งวัสดุใด ๆ ลงในโถส้วม และล้างมือด้วยสบู่และน้ำให้สะอาด อย่างน้อย 20 วินาที ทุกครั้งหลังใช้ส้วม สร้างสุขอนามัยดีให้กับตนเอง และป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรคไปยังส่วนรวมด้วย

ร่วมแสดงความคิดเห็น