กรมอนามัย เตือนนักท่องเที่ยวเลี่ยงนำเตาไฟเข้าเต็นท์ หวั่นสูดดมนาน เสี่ยงเสียชีวิต พร้อมแนะระวังสัตว์มีพิษ

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เตือนนักท่องเที่ยวที่นิยมกางเต็นท์ตามอุทยานหรือยอดดอย เลี่ยงการนำเตาไฟจุดไว้ในเต็นท์ เพราะหากสูดดมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์นาน ๆ เสี่ยงขาดอากาศหายใจ เสียชีวิตได้ และให้ระวังสัตว์มีพิษพร้อมแนะวิธีปฐมพยาบาลหากถูกกัดต่อย


​นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า นักท่องเที่ยวที่ต้องการสัมผัสลมหนาวตามอุทยานหรือยอดดอย ส่วนมากเลือกค้างแรมด้วยการกางเต็นท์ แต่ด้วย สภาพอากาศที่หนาวเย็นจนทำให้ร่างกายต้องการความอบอุ่นเพิ่มมากขึ้น บางคนรู้เท่าไม่ถึงการณ์นำเตาไฟเข้าไปในเต้นท์ที่ปิดมิดชิดเพื่อเพิ่มอุณหภูมิภายในให้อุ่นขึ้น ซึ่งไม่ควรกระทำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากการเผาไหม้ของไฟจะดึงออกซิเจนไปจากอากาศที่มีอยู่ในเต็นท์ และปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา เมื่อสูดดมเข้าไปจำนวนมากจะทำให้เสียชีวิตหรืออาจเกิดไฟไหม้ได้ ดังนั้น ควรเปลี่ยนมาใช้แผ่นร้อนแบบพกพาจะช่วยให้ร่างกายอุ่นขึ้นและยังปลอดภัยอีกด้วย นอกจากนี้ควรระวังแมลงและสัตว์มีพิษที่เข้ามาในบริเวณเต็นท์ เช่น งู ตะขาบ และแมงป่อง ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ โดยเฉพาะงู มักอาศัยในบริเวณที่ชื้นแฉะ รก และมีแหล่งอาหาร การป้องกันควรสำรวจบริเวณรอบเต็นท์และปิดช่องทางที่งูสามารถเข้ามาได้ กรณีถูกงูกัด วิธีการปฐมพยาบาลคือควรล้างแผลด้วยน้ำสะอาด ห้ามกรีดหรือดูดบริเวณที่ถูกงูกัด ไม่ควรขันชะเนาะ รีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ทันที และจดจำลักษณะงูที่กัดเพื่อแจ้งแพทย์ให้การรักษาที่ถูกต้อง


​นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า หากโดนตะขาบกัด จะทำให้มีอาการปวด คัน บวมแดงบริเวณที่ถูกกัด การปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้ทำความสะอาดบริเวณที่ถูกกัดด้วยน้ำสะอาด และประคบน้ำอุ่นครั้งละประมาณ 10 นาที เพื่อลดอาการบวม หลีกเลี่ยงการเกา แกะ บริเวณที่ถูกกัดเพื่อป้องกันการติดเชื้อ และ หากพบว่ามีอาการบวมหรือปวดเพิ่มขึ้นให้รีบไปพบแพทย์ทันที แต่หากถูกแมงป่องต่อย อาการส่วนใหญ่คือ ปวด บวม บริเวณที่ถูกต่อย โดยมากมีอาการในวันแรกและมักหายได้เอง ส่วนรายที่มีอาการรุนแรงอาจมี หัวใจเต้นเร็ว หายใจเร็ว ความดันโลหิตสูง ปวดกล้ามเนื้อและกระดูก ให้ปฐมพยาบาลโดยทำความสะอาดบริเวณที่ถูกต่อยด้วยน้ำสะอาด และประคบเย็นครั้งละประมาณ 10 นาที เพื่อลดอาการบวม
​“ทั้งนี้ การป้องกันสัตว์มีพิษ นักท่องเที่ยวควรทำความสะอาดสภาพแวดล้อมรอบ ๆ เต้นท์ จัดเก็บสิ่งของและเครื่องใช้ต่าง ๆ ภายในให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่ให้มีมุมอับชื้น หรือเป็นแหล่งหลบซ่อนอาศัย ของสัตว์มีพิษ ทิ้งขยะหรือเศษอาหารในภาชนะที่มีฝาปิดมิดชิด และกำจัดเศษใบไม้ทุกครั้ง ไม่ควรกองทิ้งไว้ ในกรณีที่มีเด็กเล็ก พ่อแม่ควรดูแลอย่างใกล้ชิดด้วย” รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด

ร่วมแสดงความคิดเห็น