(มีคลิป) กรมอนามัย ร่วมประชุมจีน – อาเซียน ว่าด้วยความร่วมมือด้านสาธารณสุข ครั้งที่ 3 ตั้งเป้าปี’73 ประชาชนมีสุขภาพดีทุกช่วงวัย

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วมประชุมย่อยเกี่ยวกับความปลอดภัยด้านอาหาร โภชนาการ และสุขภาพ  ผ่านระบบออนไลน์ในการประชุมจีน-อาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านสาธารณสุข ครั้งที่ 3 : สู่เส้นทางสายไหมด้านสุขภาพ ภายใต้แนวคิดหลัก “Building a China-ASEAN Community of Health through Solidarity and Cooperation” เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับสมาชิกอาเซียนเกี่ยวกับนโยบายและเทคโนโลยี ใหม่ ๆ ด้านความปลอดภัยทางอาหารและสุขภาพโภชนาการ

วันนี้ (25 พฤศจิกายน 2563) นายแพทย์สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย นำทีมนักวิชาการจาก สำนักโภชนาการและศูนย์ความร่วมมือระหว่างประเทศ เป็นผู้แทนกรมอนามัยเข้าร่วมการประชุมย่อยเกี่ยวกับ ความปลอดภัยด้านอาหาร โภชนาการ และสุขภาพ ผ่านระบบออนไลน์ ณ Fangchenngang มณฑล Guangxi สาธารณรัฐประชาชนจีน ภายใต้ธีม “การจัดตั้งแพลตฟอร์มเพื่อความร่วมมือและการสื่อสาร สำหรับการร่วมสร้างประชาสังคมจีน – อาเซียนด้านความปลอดภัยทางอาหารและโภชนาการสำหรับทุกคน” (Setting Up Platform for Cooperation and Communication, Jointly Building China-ASEAN Community of Food Safety and Nutrition for All) โดยการประชุมย่อยครั้งนี้ เน้นเกี่ยวกับมาตรฐานความปลอดภัยทางอาหาร นโยบายโภชนาการและสุขภาพ รวมทั้งแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายและเทคโนโลยีใหม่ๆ ด้านความปลอดภัยทางอาหารและสุขภาพโภชนาการ โดยให้ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค สร้างแพลตฟอร์มการพูดคุย ความร่วมมือ และส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารและสุขภาพโภชนาการที่มีคุณภาพสูง รวมถึงปกป้องด้านสาธารณสุขและความปลอดภัยของชีวิตประชาชน

นายแพทย์สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงนโยบายด้านโภชนาการในประเทศไทย ว่าที่ผ่านมากรมอนามัย โดยสำนักโภชนาการ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการด้านโภชนาการ พ.ศ. 2562-2566 ในการส่งเสริมโภชนาการสำหรับทุกกลุ่มวัยขึ้น ซึ่งประกอบด้วย 3 แผนงานหลัก ได้แก่ 1) แผนงานพัฒนาและจัดการองค์ความรู้ 2) แผนงานบูรณาการอาหารศึกษาเชิงรุกตลอดห่วงโซ่อาหาร และ 3) แผนงานพัฒนาความร่วมมือเพื่อเชื่อมโยงฐานข้อมูลด้านอาหารและโภชนาการที่ก่อให้เกิดพฤติกรรมที่พึงประสงค์ในการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะที่ดีของประชาชน รวมทั้งเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายโลกด้านโภชนาการ (Global Nutrition Targets) ในการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อ (NCDs Targets) ภายในปี พ.ศ. 2568 รวมทั้งมีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDG2 ในการขจัดความหิวโหย สร้างความมั่งคงทางอาหาร และส่งเสริมเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน SDG3 เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีในทุก ช่วงอายุ ภายในปี พ.ศ. 2573

“ทั้งนี้ ประเทศไทยได้เน้นย้ำการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ผ่านช่องทางต่าง ๆ โดยเชิญชวนสมาชิกอาเซียนและสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการสร้างความรอบรู้ด้านโภชนาการทุกกลุ่มวัย เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยในการตัดสินใจเลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ประเทศสมาชิกอาเซียนมีความพยายามอย่างหนักในการจัดการภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนของประชาชนในประเทศ ที่ถึงแม้ว่าจะมีมาตรการต่าง ๆ ในการควบคุม เช่น มาตรการทางภาษีในเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล
การปรับสูตรอาหารเพื่อสุขภาพ ฉลากอาหารเพื่อสุขภาพ เป็นต้น แต่ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร โดยแผนการดำเนินงานปี 2564 -2565 ภายใต้กรอบ ASEAN Health Cluster 1 ประเทศไทยได้รับเป็นประเทศผู้นำร่วมกับสิงคโปร์และฟิลิปปินส์ จัดทำแนวทางขั้นต่ำในการควบคุมการตลาดในอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ในเด็ก เพื่อเป็นแนวทางให้กับประเทศสมาชิกอาเซียนในการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับการสื่อสาร เพื่อให้มั่นใจได้ว่าเด็กทุกคนในระดับอาเซียนจะปลอดภัยจากผลกระทบจากการตลาด และมีโอกาสเติบโตเต็มศักยภาพ ควบคู่กับการมีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วย” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ร่วมแสดงความคิดเห็น