กรมอนามัย จับมือภาคีเครือข่ายร่วมหารือ ช่วยผู้มีบุตรยาก เข้าถึงสิทธิการรักษา

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ คณะอนุกรรมการเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ ราชวิทยาลัย  สูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย สถาบันพัฒนานโยบายสาธารณะ ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กรมการแพทย์ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และสำนักงานประกันสังคม ประชุมหารือแนวทางผลักดันสิทธิประโยชน์ ด้านการช่วยเหลือภาวะมีบุตรยาก เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่มีภาวะการมีบุตรยาก

เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2563 นพ.สุวรรณชัย  วัฒนายิ่งเจริญชัย รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางผลักดันสิทธิประโยชน์ ด้านการช่วยเหลือภาวะมีบุตรยาก ณ ห้องประชุมนรพัฒน์ สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย โดยมี  ศ.นพ.กำธร  พฤกษานานนท์  ประธานคณะอนุกรรมการเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย นพ.ดร.สรภพ เกียรติพงษ์สาร  ผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนานโยบายสาธารณะ นพ.โอฬาริก มุสิกวงศ์ ประธานคณะอนุกรรมการการศึกษา ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย และนพ.พีระยุทธ สานุกูล ผู้อำนวยการ สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ นำเสนอข้อมูลเพื่อการพิจารณา มีผู้เข้าร่วมประชุมจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กรมการแพทย์ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และสำนักงานประกันสังคม

นพ.สุวรรณชัย  วัฒนายิ่งเจริญชัย รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้มีการผลักดันร่างข้อเสนอสิทธิประโยชน์ ด้านการช่วยเหลือภาวะมีบุตรยาก โดยดำเนินการ ดังนี้ 1. จัดทำร่างข้อเสนอสิทธิประโยชน์ด้านการช่วยเหลือภาวะมีบุตรยาก โดยผนวกเข้ากับข้อเสนอการเข้าถึงการตั้งครรภ์คุณภาพ โดยการเข้าถึงการรักษาโรคภาวะมีบุตรยาก ของราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ที่ผ่านตามเกณฑ์การคัดเลือกหัวข้อจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เรียบร้อยแล้ว โดยจัดทำข้อเสนอเป็นทางเลือก 3 ระดับ ได้แก่ 1) ให้สิทธิในการตรวจคัดกรองเบื้องต้น อาทิ ผู้หญิงสามารถตรวจคัดกรองความผิดปกติทางโครงสร้างของมดลูก โดยการตรวจภายในและตรวจอัลตราซาวด์ และสำหรับผู้ชายสามารถตรวจคัดกรองคุณภาพน้ำเชื้อ หรือตรวจวิเคราะห์สเปิร์ม (Semen Analysis) เพื่อดูความแข็งแรงของอสุจิ 2) การเข้าถึงการรักษาด้วยการฉีดเชื้อ (IUI) และ 3) การทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) ทั้งนี้จะต้องจัดส่งภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2563

“2. ดำเนินการเตรียมความพร้อมในการจัดบริการในส่วนต่าง ๆ เพื่อรองรับการให้สิทธิการรักษา อาทิ การสร้างความเข้าใจ และปรับทัศนคติต่อการรักษาภาวะมีบุตรยาก ให้เข้าใจตรงกันว่าเป็นการรักษาโรค และเป็นสิทธิด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ที่ประชาชนมีสิทธิได้รับ รวมทั้งเตรียมความพร้อมการจัดบริการของสถานบริการสาธารณสุข โดยเฉพาะการจัดบริการรักษาด้วยการฉีดเชื้อกับสูตินรีแพทย์ที่มีศักยภาพในการดำเนินการได้ และ 3. หารือกับกระทรวงการคลัง ในการออกมาตรการลดหย่อนภาษี ให้กับคู่สมรสที่เข้ารับการรักษาภาวะมีบุตรยาก เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายและส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการมากยิ่งขึ้นด้วย” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

ร่วมแสดงความคิดเห็น