(มีคลิป) ป.ป.ส. ร่วมกับหน่วยงานภาคี เผาทำลายกัญชาของกลาง ปนเปื้อนสารเคมีและเชื้อรากว่า 542 กิโลกรัม

วันที่ 4 ธันวาคม 2563 นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด มอบหมายให้ พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (รองเลขาธิการ ป.ป.ส.) เป็นประธานในโครงการทำลายยาเสพติดกัญชาของกลางที่ไม่สามารถนำไปใช้ในการศึกษาวิจัยและประโยชน์ทางการแพทย์ได้ จำนวน 542 กิโลกรัม โดยมี พล.ต.ต.สุภธีร์ บุญครอง รอง ผบช.ภ.1 ตำรวจภูธรภาค 1 พล.ต.ต.หญิง ชุติมา ชัยมุสิก ผบก.ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 1 พ.ต.อ.อนุราช จิตศิล รอง ผบก.ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 1 นายประทีป การมิตรี ปลัดจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และหน่วยงานภาคี เป็นสักขีพยานในการเผาทำลาย ณ ศูนย์บริหารสาธารณูปโภคและสิ่งแวดล้อม ภายในนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยาพ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล รองเลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่า สำนักงาน ป.ป.ส. ได้ขออนุญาตครอบครองกัญชาของกลางไว้ใช้ประโยชน์จากทั่วประเทศ ตั้งแต่ปี 2562 จำนวนกว่า 18 ตัน โดย สำนักงาน ป.ป.ส. ได้ให้การสนับสนุนกัญชาของกลางเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และงานวิจัยกับหน่วยงานของรัฐและสถาบันการศึกษาไปแล้ว 15 แห่ง จำนวนกว่า 3.8 ตัน โดยกัญชาที่นำมาเผาทำลายครั้งนี้ เป็นกัญชาที่มีสารปนเปื้อนโลหะหนัก และสารฆ่าแมลงที่เกินค่ามาตรฐาน รวมถึงมีเชื้อรา ซึ่งไม่เหมาะที่จะใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ โดยเป็นการเผากัญชาส่วนสุดท้ายจากที่ขออนุญาตครอบครองกัญชาของกลางไว้ใช้ประโยชน์จากทั่วประเทศ ตั้งแต่ปี 2562 มีจำนวน 542 กิโลกรัม แบ่งเป็นกัญชาแห้ง 541 แท่ง/กิโลกรัม และเมล็ดกัญชา 1 กิโลกรัม ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ได้มีการเผาทำลายกัญชาของกลางแล้ว 2 ครั้ง ในเดือนธันวาคม 2562 และเดือนมิถุนายน 2563 รวมกัญชาที่เผาทำลายทั้งหมดกว่า 14 ตัน ส่วนวิธีการเผาทำลายกัญชาจะใช้ระบบการเผาแบบปิดด้วยเตาเผาไพโรไลติก อินซิเนอะเรชั่น (Pyrolytic Incineration) ที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษในอากาศและสิ่งแวดล้อม

พ.ต.ต.สุริยา รองเลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวอีกว่า ตามนโยบายรัฐบาล ได้มีการผ่อนปรนให้มีการใช้ประโยชน์กัญชา ทั้งในแง่ของการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนา และการผลิตเป็นยาเพื่อให้ผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้กัญชามีสิทธิในการเข้าถึงกัญชาเพื่อการรักษา โดยกัญชาที่ทางสำนักงาน ป.ป.ส. ให้การสนับสนุนแก่หน่วยงานต่าง ๆ จำนวนกว่า 3.8 ตัน นั้น ได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ เช่น คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำไปศึกษาวิจัย เพื่อนำมาพัฒนายาต้นแบบใช้ในการรักษาผู้ป่วย และสามารถพัฒนาวิธีการสกัดสารสำคัญจากกัญชาด้วยการใช้สารอินทรีย์/น้ำมันพืช/คาร์บอนไดออกไซด์ได้ หรือ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ และ กองพัฒนายาแผนไทยและสมุนไพร กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้นำกัญชาดังกล่าวไปผลิตเป็นน้ำมันกัญชาสำหรับผู้ป่วยได้ รวมจำนวน 856,000 ขวด

พ.ต.ต.สุริยา รองเลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวทิ้งท้ายว่า ในอนาคต การขอรับการสนับสนุนกัญชาของกลางเพื่อการศึกษาวิจัยและใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ เมื่อแจ้งขอสนับสนุนกัญชาของกลางและได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแล้ว จะสามารถติดต่อขอรับได้ที่หน่วยงานที่เป็นผู้เก็บรักษาของกลางนั้น เช่น กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด หรือหน่วยเก็บรักษาในพื้นที่ซึ่งเป็นเจ้าของคดีโดยตรง ส่วนสำนักงาน ป.ป.ส. และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะเป็นผู้สนับสนุนข้อมูลด้านการตรวจพิสูจน์ทั้งปริมาณสารสำคัญและสารปนเปื้อนก่อนแจ้งผลการตรวจพิสูจน์ไปให้หน่วยงานที่เก็บรักษา เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการสนับสนุนกัญชาของกลางต่อไป ทั้งนี้หากต้องการแจ้งเบาะแสการกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หรือการนำผู้ป่วยจากการติดยาเสพติดเข้ารับการบำบัดรักษา สามารถติดต่อ สายด่วน ป.ป.ส. โทร. 1386 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ร่วมแสดงความคิดเห็น