(มีคลิป) ธ.ก.ส.ก้าวสู่ปีที่ 55 ร่วมพัฒนาชนบทไทยให้ยั่งยืน​ “Better Life Better Community Better Pride”

เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2563 นางณิชา อวยพรรุ่งรัตน์ ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) พร้อมด้วยนายภูมิ เกลียวศิริกุล ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการสาขาภาคเหนือตอนบน ผู้บริหาร ธ.ก.ส.ร่วมแถลงข่าว การดำเนินงานของฝ่ายกิจการสาขาภาคเหนือตอนบน ประจำไตรมาส 3/2563 ที่ชุมชนท่องเที่ยวตามรอยพ่อสบวิน หมู่ที่ 9 ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่

ธ.ก.ส.ก้าวสู่ปีที่55 ก้าวข้ามวิกฤตเศรษฐกิจและ COVID-19 มุ่งสู่เป้าหมายการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี ชุมชนที่ดีและความภาคภูมิใจในอาชีพเกษตรกรรม ภายใต้วิสัยทัศน์ใหม่ “เป็นธนาคารพัฒนาชนบทที่ยั่งยืน มุ่งสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชนบท”โดยประสานเครือข่ายภาครัฐภาคเอกชน สถาบันศึกษาเติมความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรมและการตลาด สร้างความมั่นคงในการประกอบอาชีพ และฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ

นายภูมิ เกลียวศิริกุล ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการสาขาภาคเหนือตอนบน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) เปิดแถลงข่าวถึงผลการดำเนินงานของฝ่ายกิจการสาขาภาคเหนือตอนบนที่ดูแลรับผิดชอบในพื้นที่ 8 จังหวัด ตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 จนถึงปัจจุบัน ได้ดำเนินโครงการ และมาตรการเพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร และประชาชนทั่วไปตามนโยบายของธนาคารและรัฐบาล

1. มาตรการช่วยเหลือด้านภาระหนี้สิน เพื่อลดภาระและผ่อนคลายความกังวลในช่วงวิกฤต ให้สามารถดำเนินชีวิตและประกอบอาชีพได้อย่างต่อเนื่อง โดยการปรับปรุงโครงสร้างการชำระหนี้ (Loan Review) ให้สอดคล้องกับที่มาของรายได้ และการพักชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยเงินกู้ทั้งระบบเป็นเวลา 1 ปี ตั้งแต่งวดเดือนเมษายน 2563 ถึงงวดเดือนมีนาคม 2564 โดยมีเกษตรกรลูกค้า สหกรณ์ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนได้รับประโยชน์กว่า 1.8 แสนราย วงเงินที่ได้รับพักชำระหนี้กว่า 40,000 ล้านบาท และมาตรการชะลอการชำระหนี้แก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ SMEs (Loan Payment Holiday) ที่มีหนี้กับธนาคารไม่เกิน 100 ล้านบาท ให้ชะลอการชำระหนี้ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ย เป็นเวลา 6 เดือนโดยอัตโนมัติ ตั้งแต่ 23 เมษายน 2563 ถึง 22​ ตุลาคม 2563 และปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประกาศขยายระยะเวลาต่ออีก 6 เดือน ไปสิ้นสุด 30 มิถุนายน 2564 มีผู้ประกอบการได้รับความช่วยเหลือจำนวน 1,259 ราย เป็นเงินกว่า 1,000 ล้านบาท

 

 

2. มาตรการสนับสนุนสินเชื่อ เพื่อเสริมสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ ลดปัญหาการว่างงาน กระตุ้นกลไกการซื้อขายผลผลิตทางการเกษตร ได้แก่

2.1 โครงการสนับสนุนสินเชื่อธุรกิจ SME โดยใช้ Soft Loan ธปท. อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี ซึ่งมีเกษตรกร ผู้ประกอบและวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ใช้สินเชื่อ จำนวน 2,131 ราย วงเงินกู้
กว่า 2,100 ล้านบาท

 

2.2 โครงการสินเชื่อฉุกเฉิน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและครอบครัวบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายจำเป็นและฉุกเฉินภายในครัวเรือน วงเงินกู้รายละไม่เกิน 10,000 บาท โดยไม่ต้องมีหลักประกัน อัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 0.1 ต่อเดือน กำหนดชำระคืนไม่เกิน 2 ปี 6 เดือน นับจากวันกู้ และปลอดชำระคืนต้นเงินและดอกเบี้ยใน 6 เดือนแรก มีเกษตรกรและครอบครัวลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการผ่านระบบ LINE Official BAAC Family โดย ธ.ก.ส.ทำสัญญาผ่านระบบอิเลคทรอนิคส์ เพื่ออำนวยความสะดวกและเป็นไปตามมาตรการรักษาระยะห่างในช่วง Covid-19 โดยจ่ายสินเชื่อไปแล้วจำนวน 65,646 ราย วงเงินกู้กว่า 650 ล้านบาท
2.3 มาตรการสินเชื่อผ่อนปรนเพื่อสร้างงานสร้างอาชีพให้แก่เกษตรกรและผู้ที่สนใจ จำนวน 3 โครงการ เพื่อรองรับเกษตรกรหรือทายาทเกษตรกร หรือNew Gen ที่ประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจและโรคโควิด 19 ที่กลับภูมิลำเนาเพื่อประกอบอาชีพเกษตรและอาชีพอื่น ธนาคารจึงมีโครงการรับเกษตรกรรุ่นใหม่ควบคู่กับการพัฒนาให้เป็น Smart farmer โดยการสนับสนุนสินเชื่อผ่อนปรน ผ่านโครงการต่าง ๆ ดังนี้
1) โครงการสินเชื่อพอเพียงเพื่อเลี้ยงชีพ (Sufficient Loan) วงเงินรวม 10,000 ลบ. เดือนที่ 1- 3 คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 0 ต่อปี เดือนที่ 4 เป็นต้นไปคิดดอกเบี้ยในอัตรา MRR
2) โครงการสินเชื่อ New Gen Hug (ฮัก) บ้านเกิด วงเงินรวม 60,000 ลบ. เดือนที่ 1- 3 คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 0 ต่อปี เดือนที่ 4 เป็นต้นไปคิดดอกเบี้ยในอัตรา MRR
3) โครงการสินเชื่อระยะสั้นฤดูการผลิตใหม่ (Jump Start Credit) วงเงินรวม 100,000 ลบ. ปีที่ 1 คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 4 ต่อปี ปีที่ 2 เป็นต้นไปคิดดอกเบี้ยในอัตราปกติ

 

3. มาตรการช่วยเหลือของรัฐผ่านระบบ ธ.ก.ส. ได้แก่ การจ่ายเงินชดเชยรายได้สำหรับผู้ประกอบการ​ อาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 “เราไม่ทิ้งกัน” ของกระทรวงการคลัง (พฤษภาคม – กรกฎาคม 2563) ซึ่งผลการดำเนินงาน จ่ายเงินผ่านระบบ ธ.ก.ส. ไปยังผู้ใช้สิทธิ์ที่ลงทะเบียนในโครงการกว่า 2.7 ล้านราย​ เป็นเงินกว่า 43,015 ล้านบาท โครงการจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกร รายละ 15,000 บาท โดยจ่ายเดือนละ 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน จำนวน 771,032 ราย จำนวนเงิน 11,518.81 ล้านบาท และจ่ายเงินโครงการเยียวยาเกษตรกรชาวสวนลำไย ปี 2563 ให้เกษตรกรชาวสวนลำไยอัตราไร่ละ 2,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ไร่​เป็นจำนวนกว่า 175,000 ราย เป็นเงินกว่า 2,200 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล ตามโครงการประกันรายได้เกษตรกร ในสินค้าเกษตร 5 ชนิดประกอบด้วย ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ยางพาราและ ปาล์มน้ำมัน ในส่วนของการประกันรายได้ผู้ปลูกข้าวนาปี ได้มีการโอนเงินชดเชยส่วนต่าง งวดที่ 1 รวม 2 รอบให้แก่เกษตรกรแล้ว จำนวน 203,978 ราย เป็นเงินกว่า 1,028 ล้านบาท และจะทยอยโอนเงินชดเชยตามภาวะราคาพืชแต่ละชนิดตามช่วงเวลาที่กำหนดต่อไป

 

ทั้งนี้ธนาคารยังได้ดำเนินโครงการประกันภัยพืชผล เพื่อจัดการความเสี่ยงด้านการผลิตให้กับเกษตรกร โดยร่วมกับบริษัทประกันภัยเอกชน ประกันภัยพืชผลให้กับผลผลิตลำไย ข้าวโพด ข้าว เพื่อสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้เกษตรกร

นายภูมิ กล่าวอีกว่าในโอกาสใกล้วาระดิถีขึ้นปีใหม่ ธ.ก.ส.ได้เตรียมของขวัญปีใหม่ให้กับเกษตรกรลูกค้าที่ชำระหนี้ได้ดีอีก 2 โครงการคือ โครงการชำระดีมีคืน สำหรับลูกค้าเกษตรกรและบุคคล จะได้รับคืนดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราร้อยละ 20 ของดอกเบี้ยที่ชำระ ไม่เกินรายละ 5,000 บาท และลูกค้ากลุ่มบุคคล กลุ่มเกษตรกรสหกรณ์ นิติบุคคล กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง จะได้รับคืนดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราร้อยละ 10 ของดอกเบี้ยที่ชำระ ไม่เกินรายละ 50,000 บาท และโครงการลดภาระหนี้สำหรับลูกค้าที่มีหนี้ NPL หรือมีดอกเบี้ยค้างชำระเกิน 15 เดือน คืนดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ​20 ของดอกเบี้ยที่ลูกค้าชำระได้ สำหรับลูกค้ากลุ่มบุคคล กลุ่มเกษตรกรสหกรณ์ นิติบุคคล กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง คืนดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 10 ของดอกเบี้ยที่ชำระได้ ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2563 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2564 เท่านั้น จึงขอฝากประชาสัมพันธ์โครงการดังกล่าว ถึงพี่น้องเกษตรกรและประชาชนทั่วไปให้รับทราบ​ หากสนใจสามารถ สอบถามข้อมูลได้ที่ ธ.ก.ส.ทุกสาขาทั่วประเทศ

ร่วมแสดงความคิดเห็น