กรมอนามัยกำชับ 12 ศูนย์อนามัย ใช้แนวทาง 8 ด้าน จัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมโรงพยาบาลสนาม

​กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข สั่งการ 12 ศูนย์อนามัย ใช้แนวทาง 8 ด้าน เพื่อจัดการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมโรงพยาบาลสนาม ร่วมกันป้องกันโรคโควิด-19 พร้อมย้ำผู้ปฏิบัติงานยังต้องสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง และล้างมือบ่อย ๆ สำหรับผู้ป่วยที่เข้าพักต้องมีการสังเกตอาการ วัดอุณหภูมิกายทุกวัน

​นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ขณะนี้หลายจังหวัดที่เป็นพื้นที่ควบคุม ได้มีการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามเตรียมรองรับกลุ่มผู้ป่วยโควิด-19 เพื่อดูแลรักษาผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ ผู้ป่วยที่มีอาการ ไม่รุนแรง และผู้ที่ต้องติดตามอาการ ดังนั้น สิ่งที่ต้องเตรียมการเพื่อลดปัญหาที่จะตามมาคือการจัดการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม ซึ่งกรมอนามัยได้มีหนังสือสั่งการไปยัง 12 ศูนย์อนามัยทั่วประเทศ ให้ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานระดับจังหวัด เพื่อความสะอาดปลอดภัยต่อผู้ป่วยที่เข้าพัก เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของชุมชน ล่าสุด ศูนย์อนามัยที่ 5 ราชบุรี และศูนย์อนามัยที่ 6 ชลบุรี ได้ลงพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ชลบุรี และระยอง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีผู้ป่วยติดเชื้อจำนวนมาก โดยให้คำแนะนำด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ที่มีการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามตามแนวทางปฏิบัติ 8 ด้าน ดังนี้

1) ด้านสุขาภิบาลอาหาร จัดให้มีสถานที่เตรียม ปรุง ประกอบอาหารที่สะอาด ถูกสุขลักษณะ

2) ด้านน้ำดื่ม น้ำใช้ น้ำดื่มเป็นน้ำบรรจุขวดหรือใส่ในภาชนะที่ปิดสนิทหรืออาจจัดให้มีอุปกรณ์สำหรับต้มน้ำ กรณีน้ำใช้เป็นน้ำประปา ควรมีคลอรีนอิสระคงเหลือที่ปลายท่อไม่น้อยกว่า 0.5 มิลลิกรัมต่อลิตร

3) ด้านสุขาภิบาลและความปลอดภัยในการซักฟอก มีโรงซักฟอกที่สามารถทำความสะอาดผ้าและทำลายเชื้อโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ใช้สารฆ่าเชื้อที่เหมาะสม หรือซักที่อุณหภูมิน้ำไม่น้อยกว่า 71 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 25 นาที

4) ด้านการจัดการส้วมและสิ่งปฏิกูล จัดให้มี ห้องส้วมที่ถูกหลักสุขาภิบาลและปลอดภัย และมีระบบเก็บกักสิ่งปฏิกูลที่ถูกหลักสุขาภิบาล

5) ด้านการควบคุมสัตว์และแมลงนำโรค มีระบบการป้องกันและกำจัดสัตว์ แมลงพาหะนำโรคเป็นประจำ

6) ด้านการจัดการน้ำเสีย ให้มีระบบบำบัดน้ำเสียที่สามารถใช้การได้ดี รองรับปริมาณน้ำเสีย 800 ลิตร/เตียง/วัน พร้อมติดตั้งอุปกรณ์ฆ่าเชื้อในน้ำทิ้ง โดยตรวจวัดปริมาณคลอรีนอิสระคงเหลือในน้ำทิ้งทุกวัน ให้มีค่าไม่น้อยกว่า 1 มิลลิกรัมต่อลิตร

7) ด้านการจัดการมูลฝอยติดเชื้อ มีบริเวณที่พักรวมมูลฝอยติดเชื้อแยกเฉพาะ โดยต้องมีลักษณะปิดมิดชิดเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคและสะดวกต่อการเก็บขนไปกำจัด โดยต้องนำไปกำจัดแบบมูลฝอยติดเชื้อ และ

8) ด้านความสัมพันธ์กับชุมชน โดยต้องมีแนวทางสร้างความรู้ ความเข้าใจ และมาตรการป้องกันด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ชุมชนรับทราบและไม่เกิดข้อขัดแย้งต่อกัน

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า ผู้ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลสนามต้องตรวจวัดอุณหภูมิกายก่อนเข้าบริเวณ ที่กำหนด สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยโดยเลือกชนิดให้เหมาะสม และถุงมือ ไม่ใช้มือสัมผัสใบหน้า จมูก ปากของตนเอง ต้องเว้นระยะห่าง 1-2 เมตร ควรล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์ หากพบว่ามีไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรสชาติ เหนื่อยหอบ ให้รีบพบแพทย์ทันที ส่วนผู้ปฏิบัติงานทำความสะอาดและเก็บรวบรวมขยะ ต้องสวมใส่เสื้อคลุมกันน้ำแขนยาว หรือเสื้อแขนยาว ขายาวและผ้ายางกันเปื้อนปกคลุม ใช้ถุงมือยางหนา รองเท้าบูท พื้นยางหุ้มแข้ง สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยโดยเลือกชนิดให้เหมาะสม แว่นป้องกันตาหรือกระจังกันใบหน้า หลังปฏิบัติงานเสร็จในแต่ละวัน ต้องล้างมือ อาบน้ำให้สะอาดทุกครั้ง และเปลี่ยนเสื้อผ้าทันที

 

“สำหรับผู้เข้าพักต้องมีการสังเกตอาการ วัดอุณหภูมิกายทุกวัน หากพบว่ามีไข้สูง 37.5 องศาเซลเซียส ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ เหนื่อยหอบ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ตามแนวทางที่กำหนดไว้ ควรล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำ หรือ เจลแอลกอฮอล์ทุกครั้งก่อนกินอาหาร หลังใช้ส้วม หรือหลังจากไอ จาม หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้า ตา ปาก จมูก ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดหน้า แปรงสีฟัน จาน ชาม ช้อน แก้วน้ำ รวบรวมมูลฝอยที่เกิดขึ้นใส่ถุงแดง มัดปากถุงให้แน่นและนำไปรวบรวมในบริเวณที่กำหนด หากต้องติดต่อญาติ เพื่อน หรือบุคคลต่าง ๆ ให้ใช้โทรศัพท์ หรือไลน์ และให้ปฏิบัติตามแนวทางปฏิบัติสำหรับผู้เข้าพักในโรงพยาบาลสนามอย่างเคร่งครัด” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด

ร่วมแสดงความคิดเห็น