อสม.สะท้อนเสียงชาวบ้าน ขอสิทธิ์เข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ทุกครัวเรือน

เครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) พื้นที่สันทราย เชียงใหม่ เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่ร่วมกับผู้นำชุมชนและผู้นำท้องถิ่น พบว่า ชาวบ้านกังวลการเข้าถึงวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ที่มีกระแสว่าจะเปิดลงทะเบียนช่วง ปลายเดือน มค.นี้
“ส่วนใหญ่กังวลเรื่องขั้นตอนการลงทะเบียน ที่อาจมีการใช้อุปกรณ์โทรศัพท์ทันสมัย มีการโหลดแอพพลิเคชั่นเฉพาะ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ด้านสาธารสุข และหน่วยงานรัฐฯ ต่างชี้แจงชาวบ้านว่า รูปแบบการลงทะเบียนนั้น ยังไม่มีการกำหนดวิธีการออกมา และมั่นใจว่าข้อแนะนำ ข้อเสนอต่าง ๆ จากชุมชน เกี่ยวกับสิทธิ์การเข้าถึงวัคซีนนี้ อย่างเท่าเทียม มีการรวบรวมข้อมูลเสนอไปยังระดับนโยบายแน่นอน”

ทั้งนี้ศูนย์ข้อมูลโควิด-19 ระบุคำชี้แจงของ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ว่าการฉีดวัคซีนโควิด
จะดำเนินการตามขั้นตอน หลังพิจารณาอย่างเหมาะสมแล้วว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพ และปลอดภัย โดยกำหนดฉีดวัคซีน 3 ระยะ ได้แก่ ระยะแรก 2 ล้านโดส ก.พ.- เม.ย.2564 นี้ จำนวน 1.32 ล้านคน ในพื้นที่เสี่ยงสูง 5 จังหวัดระยะที่ 2 จำนวน 26 ล้านโดส ฉีดช่วง พ.ค.- มิ.ย. กลุ่มเสี่ยงทั่วประเทศ ระยะที่ 3 ปลายปี 2564 ถึงต้นปี 2565 ฉีดประชาชนทั่วไปให้ครอบคลุมมากที่สุด กระจายทั่วถึงทั้งประเทศ

 

สำหรับการเปิดลงทะเบียนตรวจสอบกลุ่มเสี่ยงที่จะฉีดวัคซีนปลายเดือนม.ค.นี้ กับต้นเดือน ก.พ. 2564 จะมีการทำ
ความเข้าใจซักซ้อมการฉีดวัคซีน เช่น การขนส่ง การเก็บรักษา และการเฝ้าระวังที่ไม่พึงประสงค์ สถาบันวัคซีนแห่งชาติ รายงานว่าไทยเริ่มผลิตวัคซีนโควิด-19 โดยเป็นวัคซีนที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตจากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด และบริษัทแอสตราเซนเนก้า กำลังการผลิตได้ปีละ 200 ล้านโด๊ส จะส่งมอบล็อตแรกในเดือนพฤษภาคม 2564 และสั่งซื้อวัคซีนจากบริษัทประเทศจีน เพื่อส่งมอบในเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน 2 ล้านโด๊ส ส่งมอบในกุมภาพันธ์ 2แสนโดส มีนาคม 8 แสน โดส และเมษายน 1 ล้านโดส ตั้งเป้าฉีดให้คนไทยฟรี 70 ล้านโดส

อย่างไรก็ตามมีการชี้แจงเหตุผลการลงทะเบียน ว่าการจะรับบริการฉีดวัคซีน จำเป็นต้องจัดแบ่งกลุ่มตามความเสี่ยง กลุ่มแรกจะเป็นบุคลากร เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์สาธารณสุข,กลุ่มในพื้นที่ 5 จังหวัดควบคุมเข้มข้น กลุ่มสองอาจจะเป็นกลุ่มที่มีโรคประจำตัว ผู้สูงวัยและเด็ก สุดท้ายอาจจะเป็นกลุ่มสามทั่วไปที่สุขภาพดี
“การลงทะเบียนก็ส่งผลให้มีการแบ่งแยกกลุ่มชัดเจน สะดวกในการนัดหมาย ติดตามผล การลงทะเบียนจะเป็นการ
คัดกรอง เวลานี้วัคซีนมีจำนวนไม่มาก ไม่ใช่สินค้าที่จะหาซื้อได้ทั่วไปในตลาด มีระบบควบคุมคุณภาพและความปลอดภัย ทุกล็อตที่ จะฉีดวัคซีนได้นั้นต้องได้รับการรับรองคุณภาพจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์”

ด้านนายแพทย์นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า ขณะนี้ทั่วโลกมีวัคซีนโควิด 19 ที่ได้รับการ
อนุญาตให้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน แล้วจากผู้ผลิต 9 ราย 4 ชนิดวัคซีน ประเทศไทยจะยอมรับการขึ้นทะเบียนที่มีผลเฟส 3 มีประสิทธิผลที่ชัดเจน โดยที่มีการขึ้นทะเบียนมีเพียง 3 ชนิดคือ ของไฟเซอร์ ,โมเดอร์นา และแอสตร้าเซนเนก้า
” 10 ประเทศทั่วโลกที่ได้รับวัคซีนไปแล้วมากกว่า 5 ล้านโด๊สนั้น เกิดจากการจองวัคซีนล่วงหน้าตั้งแต่กรกฎาคม – สิงหาคม 2563 โดยขณะที่ทำการจอง ยังไม่ทราบผลเบื้องต้นของการศึกษาประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีน ความเป็นไปได้ที่ภายในมกราคม 2564 จะมีการฉีดวัคซีนมากขึ้น แต่จะถึงร้อยล้านโด๊สหรือไม่ ขึ้นอยู่กับจำนวนวัคซีนที่มีอยู่ เนื่องจากขณะนี้วัคซีนมีจำนวนจำกัด ในระดับนโยบายระบุแนวทางว่าการจัดหาวัคซีนต้องครอบคลุมไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของประชาชนไทยในปีนี้ และการเข้าถึงวัคซีนต้องเท่าเทียมกันทุกกลุ่มประชาชนในประเทศ”

ร่วมแสดงความคิดเห็น