องค์การเภสัชกรรม (GPO) เผยมียาฟาวิพิราเวียร์กว่า 4.8 แสนเม็ด ทยอยส่งให้โรงพยาบาลแล้ว พร้อมจัดหาเพิ่มอีก 1 แสนเม็ด

นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม เผยได้มีการสำรองยาฟาวิพิราเวียร์กว่า 4.8 แสนเม็ด และทยอยจัดส่งไปรักษาผู้ป่วยในพื้นที่ต่าง ๆ แล้ว นอกจากนี้ องค์การเภสัชกรรมได้ทำการวิจัยและพัฒนายาฟาวิพิราเวียร์เอง เพื่อให้ประเทศไทยพึ่งพาตนเองได้

“ขณะนี้การวิจัยพัฒนาในระดับห้องปฏิบัติการเสร็จแล้ว โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 จะเริ่มทำการผลิตในระดับอุตสาหกรรมจำนวน 360,000 เม็ด สำหรับทดสอบประสิทธิผลการรักษาหรือการศึกษาชีวสมมูล (Bioequivalence study) ซึ่งเป็นการศึกษาระดับยาในเลือดเทียบกับยาต้นแบบ เพื่อยื่นขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ในเดือนกันยายน 2564 หากได้รับขึ้นทะเบียน จะเป็นยาสำหรับการสำรองใช้ในการรักษาผู้ติดเชื้อโควิดต่อไป” นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์

ยาฟาวิพิราเวียร์ คืออะไร ?

ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) หรือที่รู้จักกันในชื่อ T-705 เป็นชื่อสามัญของยากลุ่ม Avigan เป็นยาต้านไวรัสที่ค้นพบโดยบริษัทโตยามะเคมิคอล (Toyama Chemical Co., Ltd) ในประเทศญี่ปุ่น มีฤทธิ์ต่อต้านอาร์เอ็นเอไวรัสหลายชนิด มีลักษณะโครงสร้างเป็นอนุพันธ์ไพราซีนคาร์บอกซาไมด์ (pyrazinecarboxamide derivative)

ในมิติทางเภสัชวิทยาของยาฟาวิพิราเวียร์ พบว่าการที่ยานี้จะมีฤทธิ์ต้านไวรัสได้ต้องถูกเปลี่ยนแปลงในร่างกายโดยเอนไซม์ภายในเซลล์ได้เป็นฟาวิพิราเวียร์ไรโบซิลไตรฟอสเฟต (favipiravir ribosyl triphosphate) ที่มีฤทธิ์ในการยับยั้งเอนไซม์อาร์เอ็นเอพอลิเมอเรส (RNA-dependent RNA polymerase หรือ RNA replicase) ซึ่งเอนไซม์ดังกล่าวมีความสำคัญในการเพิ่มจำนวนไวรัส ดังนั้นเมื่อเอนไซม์ไม่สามารถทำหน้าที่ได้ จึงยับยั้งการเพิ่มจำนวนไวรัส
นอกจากนี้สารดังกล่าวยังทำให้เกิดการสร้างสารพันธุกรรมอาร์เอนเอของไวรัสที่ผิดปกติและทำให้ไวรัสตาย ยาฟาวิพิราเวียร์ไม่ยับยั้งการสร้างอาร์เอ็นเอและดีเอ็นเอในเซลล์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จึงไม่เป็นอันตรายต่อเซลล์ของคนและสัตว์

ยานี้ถูกดูดซึมจากทางเดินอาหารได้ดีเกือบสมบูรณ์ เกิดระดับยาสูงสุดภายใน 1 ชั่วโมง (ช่วงตั้งแต่ 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง) ยาถูกเปลี่ยนสภาพที่ตับโดยอาศัยเอนไซม์แอลดีไฮด์ออกซิเดส (aldehyde oxidase) เป็นส่วนใหญ่ อาศัยเอนไซม์แซนทีนออกซิเดส (xanthine oxidase) เพียงเล็กน้อย
เกิดเป็นสารที่ไม่มีฤทธิ์และถูกขับออกทางปัสสาวะ ยานี้มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์อัลดีไฮด์ออกซิเดสได้ด้วยจึงยับยั้งการเปลี่ยนสภาพของตัวยาเอง ด้วยเหตุนี้ค่าทางเภสัชจลนศาสตร์ (กระบวนการที่ร่างกายจัดการกับยา ตั้งแต่การนำยาเข้าสู่ร่างกาย การดูดซึม การกระจายยาผ่านไปส่วนต่างๆ ของร่างกาย การเปลี่ยนแปลงยา และการขจัดออกจากร่างกาย) บางอย่างของยาจึงไม่ได้แปรผันเป็นเส้นตรงกับขนาดยาที่ได้รับ การศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่ายาผ่านรกและขับออกทางน้ำนมได้ ยามีความเสี่ยงที่จะเป็นอันตรายต่อลูกในท้องและอาจทำให้ลูกในท้องพิการได้โดยเฉพาะเมื่อได้รับยาในขนาดสูง

ขอบคุณข้อมูลจาก : กรุงเทพฯธุรกิจ ,องค์การเภสัชกรรม (GPO) และศูนย์ข้อมูล COVID-19

ร่วมแสดงความคิดเห็น