จังหวัดลำปาง ประชุมกำหนดแนวทางการผ่อนผันให้คนงานต่างด้าว 3 สัญชาติ (เมียนมา กัมพูชา ลาว)อยู่ในราชอาณาจักร ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

วันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2564 ที่ห้องประชุมแรงงานจังหวัดลำปาง ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดลำปาง นายจำลักษ์ กันเพ็ชร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เป็นประธานในการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดแนวทางการผ่อนผันให้คนงานต่างด้าว 3 สัญชาติ (เมียนมา กัมพูชา ลาว)อยู่ในราชอาณาจักร ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

จากสถานการณ์โควิด – 19 คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาให้ความเห็นชอบ เรื่อง การผ่อนผันให้คนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นกรณีพิเศษ ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ เพื่อกำหนดมาตรการเร่งด่วนเพื่อเฝ้าระวัง ติดตาม ควบคุม และป้องกัน มิให้ส่งผลกระทบต่อชีวิต และสุขภาพอนามัยของประชาชนคนไทย โดยการผ่อนผันให้ 1) คนต่างด้าวที่มีนายจ้าง/สถานประกอบการ ประสงค์จ้างงาน 2) คนต่างด้าวที่ยังไม่มีนายจ้าง/สถานประกอบการจ้างงาน และ 3) ผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตรของคนต่างด้าวดังกล่าวที่มีอายุไม่เกิน 18 ปี อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นกรณีพิเศษ โดยดำเนินการผ่านทางระบบออนไลน์ ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม ถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564 นี้


นายจำลักษ์ กันเพ็ชร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เปิดเผยว่า จังหวัดลำปางได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาพูดคุย เพื่อวางแนวทางการดำเนินงานเตรียมความพร้อมดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งในจังหวัดลำปางมีสถิติแรงงานต่างด้าวสัญชาติ เมียนมา กัมพูชา ลาว ณ เดือนธันวาคม 2563 ที่ถูกกฎหมาย จำนวนทั้งสิ้น 3,462 คน และไม่ถูกต้องตามกฎหมายอีก ประมาณไม่เกิน 500 คน โดยพบว่าในการยื่นเข้ามาจดทะเบียนเบื้องต้นมีเพียง 59 คน เท่านั้น จึงฝากความห่วงใยถึงแรงงานต่างด้าวในจังหวัดลำปาง รวมถึงนายจ้างผู้ประกอบการ ให้ออกมาขอยื่นจดทะเบียนแรงงานให้ถูกต้องตามกฏหมาย

นอกจากนี้ยังมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดลำปาง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำปาง โรงพยาบาลลำปาง ที่ทำการปกครองจังหวัดลำปาง/ศูนย์บริหารการทะเบียนภาค 5 สาขาจังหวัดลำปาง และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง บูรณาการในการทำงานร่วมกันเพื่อจัดทำฐานข้อมูลของแรงงานต่างด้าวดังกล่าว อำนวยความสะดวกในการตรวจสุขภาพก่อนยื่นขอใบอนุญาติให้เป็นแรงงานถูกกฏหมาย เพื่อควบคุมการเคลื่อนย้ายออกนอกพื้นที่ซึ่งอาจจะมีการนำพาเชื้อโรคเข้ามา พร้อมทั้งกำชับให้นายจ้าง สถานประกอบการณ์ ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด – 19 อย่างเคร่งครัดต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น