สธ.เผย โรงเบียร์ศรีราชา พบติดโควิด 52 ราย ย้ำ“หมอชนะ” ช่วยติดตามผู้สัมผัสได้เร็วขึ้น


วานนี้ (11 มกราคม 2564) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และนพ.ไผท สิงห์คำ ผู้อำนวยการ กองนวัตกรรมและวิจัย กรมควบคุมโรค แถลงข่าวสถานการณ์โรคโควิด 19 ในประเทศไทย และการใช้แอปพลิเคชัน “หมอชนะ” ว่า การระบาดระลอกใหม่ ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2563 – 11 มกราคม 2564 จำนวนผู้ติดเชื้อสะสม 6,285 ราย เสียชีวิต 7 ราย อัตราการเสียชีวิตต่ำกว่าระลอกแรก เนื่องจากเชื้อมีความรุนแรงของโรคน้อยลง และมีความรู้ด้านการรักษา ช่วยลดการเสียชีวิต โดยยังมีผู้ป่วยในโรงพยาบาล 1,770 ราย ในจำนวนนี้ อาการรุนแรงใช้เครื่องช่วยหายใจ 10 ราย รักษาหายแล้ว 3,626 ราย แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยรายใหม่ ค่อนข้างคงที่คือ เกือบ 200 รายต่อวัน และการค้นหาเชิงรุกพบผู้ติดเชื้อลดลง เนื่องจากกลุ่มก้อนการระบาดใหญ่ๆ ส่วนใหญ่ค้นหาและรับไว้ดูแลรักษาในโรงพยาบาลและโรงพยาบาลสนามแล้ว

 นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีการระบาดในโรงเบียร์ 90 ศรีราชา จ.ชลบุรี มีความคล้ายกับกรณีสถานบันเทิงที่เชียงใหม่คือ มีลูกค้า 1 คน มาจาก จ.ระยอง ซึ่งมีการระบาดของโควิด 19 ในบ่อนการพนันเข้ามาในร้าน และนำเชื้อมาติดพนักงาน พนักงานนำไปติดเพื่อนพนักงาน เมื่อพนักงานติดกันมากๆ ก็นำไปติดลูกค้าคนอื่น และนำไปติดครอบครัวและผู้สัมผัสกระจายไป ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อรวม 52 ราย มีผู้สัมผัสอีกหลาย 10 คน ที่อยู่ในการกักตัว และอาจตรวจพบผู้ติดเชื้อเพิ่มเป็นระยะ ทั้งนี้ ได้ปิดร้านดังกล่าวแล้วตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2563

      

  “สาเหตุที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี มีการระบาดจำนวนมาก เนื่องจากมีปัจจัยครบทั้งสถานที่เสี่ยง คือ สถานที่แคบ อากาศถ่ายเทไม่สะดวก กิจกรรมเสี่ยงที่คนรวมกันหมู่มาก ไม่ใส่หน้ากาก พูดคุยใกล้ชิดกันหมู่มาก และเวลาที่เสี่ยง คือ กลางคืน มีการผ่อนคลาย ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จากการค้นหาเชิงรุกทุกกลุ่ม ทั้งกรณีลักลอบเล่นพนัน กรณีผับ/ บาร์/ ร้านนวด และโรงเบียร์ จำนวน 2,500 คน พบผู้ติดเชื้อ 253 ราย และจะค้นหาเพิ่มเติมต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เกี่ยวข้องไปสถานบันเทิงให้ติดต่อ สจจ.เพื่อรับคำแนะนำต่อไป” นพ.โอภาสกล่าว

 นพ.ไผท สิงห์คำ ผอ.กองนวัตกรรมและวิจัย กล่าวว่า แอปพลิเคชัน “หมอชนะ” เมื่อใช้ควบคู่กับการสแกน “ไทยชนะ” จะช่วยให้ระบุสถานที่ได้แม่นยำขึ้น ซึ่งหมอชนะระบบทำงานได้โดยไม่ต้องเปิดแอปพลิเคชัน และเก็บเส้นทางที่เราเดินทางไปในแต่ละช่วงเวลาในฐานข้อมูล โดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล และเก็บในคลาวด์ข้อมูลภาครัฐในการดูแลของ CAT เทเลคอม โดยไม่ระบุว่าเป็นใคร เนื่องจากไม่มีการยืนยันตัวตนจากเลขบัตรประชาชนหรือเบอร์โทรศัพท์ จึงไม่ต้องกังวลเรื่องการถูกเปิดไทม์ไลน์ว่าไปสถานที่ใดบ้าง สำหรับการเข้าถึงข้อมูล จะอนุญาตเฉพาะเจ้าพนักงานโรคติดต่อ นำไปใช้ในการสอบสวนโรค เฉพาะกรณีเป็นผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อ เพื่อดูข้อมูลจุดเสี่ยงที่ผู้ติดเชื้อไปทำกิจกรรม และจะส่งข้อความแจ้งเตือนและคำแนะนำไปในแอปพลิเคชัน กับผู้ที่ทำกิจกรรมในวันและเวลาดังกล่าวที่ใช้หมอชนะเช่นกัน หรือให้ติดต่อกลับเมื่อมีอาการ ทำให้เจ้าหน้าที่ได้รับการติดต่อจากผู้มีความเสี่ยงรวดเร็ว ช่วยให้ติดตามผู้สัมผัสได้เร็วขึ้น และเมื่อใช้ควบคู่กับไทยชนะก็จะแม่นยำมากขึ้น

 “โดยเฉลี่ยการสอบสวนโรคผู้ป่วยยืนยัน 1 ราย ต้องตามติดต่อคนอีก 50-100 ราย ดังนั้น ถ้ามีผู้ป่วย 200 ราย จำนวนที่ต้องติดตามก็คูณ 50 หรือ 100 เข้าไป ทำให้เจ้าหน้าที่ทำงานหนักและไม่เพียงพอ เพราะมีผู้ที่ต้องติดตามทบมากขึ้น แต่หมอชนะจะช่วยให้ติดต่อผู้สัมผัสอย่างรวดเร็ว หากเราทุกคนร่วมกันใช้เพื่อควบคุมป้องกันโรคอย่างมีส่วนร่วม ก็จะผ่านวิกฤตการณ์นี้ไปด้วยกัน” นพ.ไผท กล่าว   

ร่วมแสดงความคิดเห็น