รวมคำถามคลายข้อสงสัย! เกี่ยวกับการยื่นภาษีบุคคลธรรมดา ปี 2563

หลายคนมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการยื่นภาษี ไม่ว่าจะเป็เงินเดือนเท่าไหร่ต้องเสียภาษี แล้วต้องไปเสียภาษีประเภทไหน หรือที่หลาย ๆ คนอยากรู้มากที่สุด คือการคำนวณภาษีที่ต้องจ่าย วันนี้เชียงใหม่นิวส์จะมาไขข้องสงสัย รวมทุกคำถามเกี่ยวกับการยื่นภาษี ใครที่ไม่เข้าใจส่วนไหนหาคำตอบกันได้ที่นี่เลย

 

1.ใครบ้างที่ต้องยื่นภาษี ?
ตอบ : สำหรับคนโสด ถ้าเป็นมนุษย์เงินเดือนจำนวนรายได้ ที่ต้องเริ่มยื่นภาษี คือ 120,000 บาท แต่ถ้ากรณีที่มีรายได้อื่น จำนวนรายได้ที่ต้องยื่นภาษี คือ 60,000 บาท ส่วนกรณีสมรสจะเพิ่มขึ้นเป็น 220,000 บาท และ 120,000 บาทตามลำดับ

 

2. ต้องยื่นภาษีประเภทไหน?
ตอบ : เงินได้พึงประเมินแบ่งออกเป็น 8 ประเภท

ประเภทที่ 1 : พนักงานเงินเดือน คือ เงินจากการจ้างแรงงาน เงินโบนัส บำเหน็จ บำนาญ เงินค่าที่พัก ค่าอาหาร หรือสวัสดิการอื่น ๆ ที่ได้รับจากนายจ้าง

ประเภทที่ 2 : ฟรีแลนซ์ คือ ค่าจ้างรับทำงานให้ ค่าทำงานที่ให้เป็นครั้งๆ ค่านายหน้า บำเหน็จ บำนาญ โบนัส ค่าอื่นๆ ที่ตีค่าเป็นเงินได้

ประเภทที่ 3 : ศิลปิน คือ ค่าแห่งกู๊ดวิล (ค่าความนิยม) ค่าลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญา เช่น เงินได้จากงานเพลง งานเขียน ค่าสูตรลับอาหาร เป็นต้น

ประเภทที่ 4 : ดอกเบี้ยต่าง ๆ เช่น ดอกเบี้ยจากพันธบัตร ดอกเบี้ยเงินฝาก รวมถึงเงินปันผล จากการปันผลกำไร ประโยชน์อื่นใดที่ได้จากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล เงินโบนัสที่ได้จากการเป็นผู้ถือหุ้น ผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนหุ้น เป็นต้น

ประเภทที่ 5 : ค่าเช่า คือ เงินหรือประโยชน์ที่ได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน การผิดสัญญาเช่าซื้อทรัพย์สิน การผิดสัญญาซื้อขายเงินผ่อน

ประเภทที่ 6 : ค่าวิชาชีพ คือ ค่าวิชาชีพอิสระ ซึ่งประกอบไปด้วย 6 อาชีพเท่านั้น และหักค่าใช้จ่ายตามจริงหรือแบบเหมาในอัตราแตกต่างกัน

ประเภทที่ 7 : การรับเหมา คือ เงินที่ได้จากการรับเหมา ซึ่งรวมทั้งค่าแรงและค่าของด้วย อย่างเช่น ค่ารับเหมาก่อสร้าง ค่ารับเหมาทำสินค้าที่นอกเหนือจากที่ทำอยู่แล้วปกติ หรือทำตามแบบที่ลูกค้าต้องการเป็นพิเศษ

ประเภทที่ 8 : รายได้อื่น ๆ คือ เงินได้อื่น ๆ ที่ไม่เข้าข่ายเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 1-7 ซึ่งก็คือเงินได้จากธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง เช่น กำไรจากการขายกองทุนรวม RMF, LTF การขายอสังหาริมทรัพย์ เงินได้จากการเป็นนักแสดงสาธารณะ เงินได้จากการเปิดร้านอาหาร เงินจากการทำงานในอุตสาหกรรมบางอย่างเช่น ฟอกหนัง ย่อยหิน การทำน้ำตาล เป็นต้น

 

3. เงินได้สุทธิคืออะไร? มาจากไหน?
ตอบ : เงินได้สุทธิคือ การนำรายได้ทั้งปี มาหักค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อน ก็จะได้เป็น “เงินได้สุทธิ” นั่นเอง ซึ่งสำหรับมนุษย์เงินเดือน สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 50% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 100,000 บาท

 

4. จะคำนวณภาษียังไง?
ตอบ : วิธีการคำนวณภาษีคือ “เงินได้สุทธิ x อัตราภาษี”

 

5. สามารถใช้อะไรลดหย่อนได้บ้าง?
ตอบ : ค่าลดหย่อนมีด้วยกัน 6 กลุ่ม ได้แก่

กลุ่มที่ 1 ลดหย่อนส่วนตัว และครอบครัว

  1. ค่าลดหย่อนส่วนบุคคล 60,000 บาท
  2. ค่าลดหย่อนจากคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้ 60,000 บาท
  3. ค่าลดหย่อนบุตร คนละ 30,000 บาท (ไม่จำกัดจำนวนบุตร)
  4. ค่าฝากครรภ์ และค่าคลอดบุตร
    หักตามจริง สูงสุดไม่เกินปีละ 60,000 บาท
  5. ค่าลดหย่อนบุตรคนที่ 2 เป็นต้นไป 30,000 บาทต่อคน
    * หากเราคลอดบุตรคนที่ 2 เป็นต้นไปในปี 2562 จะสามารถหักค่าลดหย่อนได้ 120,000 บาท (ค่าลดหย่อนบุตร 30,000 บาท + ค่าลดหย่อนบุตรคนที่ 2 เป็นต้นไป 30,000 บาท + ค่าฝากครรภ์และคลอดบุตร 60,000 บาท)
  6. ค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดา-มารดา(ตัวเอง) และบิดา-มารดาคู่สมรส ได้คนละ 30,000 บาท มากสุด 4 คน ไม่เกิน 120,000 บาท
    – บิดา-มารดาต้องมีอายุ 60 ปีขึ้นไป และมีรายได้ในปีภาษีนั้นไม่เกิน 30,000 บาท
  7. ค่าอุปการะคนพิการหรือคนทุพพลภาพ 60,000 บาทต่อคน

*หากผู้พิการเป็นบิดา-มารดา-บุตร-คู่สมรสของผู้มีเงินได้ ก็สามารถใช้สิทธิควบคู่กันได้เลย เช่น บิดาอายุเกิน 60 ปี เป็นผู้พิการ ไม่มีรายได้ เราสามารถนำมาลดหย่อนได้สูงสุด (30,000+60,000 บาท) เท่ากับ 90,000 บาท

* หรือหากคู่สมรสเป็นผู้พิการและไม่มีรายได้ ก็สามารถนำมาลดหย่อนได้สูงสุด 120,000 บาท (ค่าลดหย่อนคู่สมรส 60,000 + ค่าลดหย่อนอุปการะผู้พิการ 60,000)

 

กลุ่มที่ 2 ลดหย่อนกลุ่มประกัน

  1. ประกันสังคม ลดหย่อนตามจริง ไม่เกิน 9,000 บาท
  2. ประกันชีวิตทั่วไป หรือเงินฝากเพื่อสงเคราะห์ชีวิต
  • ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
  • หากคู่สมรสมีประกันชีวิตและไม่มีรายได้ ก็สามารถนำเบี้ยประกันที่จ่ายไป มาหักลดหย่อนได้ไม่เกิน 10,000 บาท
    *เงินฝากเพื่อสงเคราะห์ชีวิต หักลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่ฝากเงินจริง แต่รวมกับเงินที่ได้จ่ายค่าเบี้ยประกันชีวิตแล้ว ต้องไม่เกิน 100,000 บาท

(1) เบี้ยประกันสุขภาพตัวเอง

  • ลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 15,000 บาทต่อปี แต่เมื่อรวมเบี้ยประกันชีวิตแล้ว ต้องไม่เกิน 100,000 บาท (*สถานการณ์ปกติ)
  • *ข้อมูลพิเศษ ในช่วงโควิดนี้รัฐมีมาตรการเพิ่มวงเงินหักลดหย่อน ค่าเบี้ยประกันสุขภาพจากเดิมตามจ่ายจริงไม่เกิน 15,000 บาท เป็นไม่เกิน 25,000 บาท และเมื่อรวมกับการหัก ลดหย่อนค่าเบี้ยประกันชีวิตและเงินฝากประเภทสงเคราะห์ชีวิตแล้ว ต้องไม่เกิน 100,000 บาท ทั้งนี้ ตั้งแต่ปีภาษี 2563 เป็นต้นไป

(2) เบี้ยประกันสุขภาพบิดา-มารด

  • ลดหย่อนได้ตามจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท

เงื่อนไข

  •  บิดา-มารดาต้องไม่มีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ขอหักลดหย่อนเกิน 30,000 บาทขึ้นไป
  •  ลูกสามารถใช้สิทธิได้หลายคน โดยหารเฉลี่ยกัน เช่น ลูก 2 คน ร่วมกันซื้อประกันสุขภาพให้บิดา จำนวน 15,000 บาท ดังนั้นลูกแต่ละคนสามารถนำเบี้ยประกันสุขภาพบิดา ไปลดหย่อนภาษีได้คนละ 7,500 บาท

กลุ่มที่ 3 ลดหย่อนกลุ่มเงินออม และการลงทุน

  1. กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ RMF / กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) / กองทุนครูโรงเรียนเอกชน
  • หักลดหย่อนได้สูงสุด 15% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 500,000 บาท

2. ประกันชีวิตบำนาญ 15% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท

3. กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ตามจำนวนที่จ่ายจริง สูงสุดปีละ 13,200 บาท

  • (1)+(2)+(3) รวมกันไม่เกิน 500,000 บาท

     4. กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) สูงสุด 15% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 500,000 บาท

  • ปี 2562 จะเป็นปีสุดท้ายที่สามารถนำเงินลงทุนใน LTF มายื่นหักลดหย่อนภาษีได้

 

กลุ่มที่ 4 กลุ่มกระตุ้นเศรษฐกิจ

  1. ดอกเบี้ยบ้าน ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
    จะบ้านกี่หลังก็ได้ และในกรณีที่เป็นการกู้ร่วมกันหลายคน ให้แบ่งดอกเบี้ยคนละเท่าๆกัน แต่รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท
  2.  บ้านหลังแรกปี 2559 ไม่เกิน 120,000 บาท
    ถ้าบ้านหรือคอนโดนั้นราคาไม่เกิน 3,000,000 บาท และต้องซื้อภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2559 สามารถใช้สิทธิตั้งแต่ปีภาษี 2558 – 2559 เป็นต้นไป ต่อเนื่องเป็นเวลา 5 ปี (ปีละ 4%) ลดหย่อนได้ 20% ของค่าบ้าน (รวม 600,000 บาท)
  3.  ค่าธรรมเนียมจากการรับชำระเงินด้วยบัตรเดบิต
    เป็นสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ได้เพิ่มสำหรับกรณีคนทำธุรกิจ ที่มีการจ่ายค่าธรรมเนียมในการรับชำระเงินด้วยบัตรเครดิต ตั้งแต่ช่วง 1 พ.ย. 2559 – 31 ธ.ค. 2564 ซึ่งกลุ่มนี้จะเป็นเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ประเภทที่ 5-8 (ค่าเช่า วิชาชีพอิสระ รับเหมา และ ธุรกิจอื่นๆ) จำนวนไม่เกิน 30 ล้านบาทต่อปี ถึงจะได้รับสิทธิประโยชน์นี้ไป
  4.  ช้อปดีมีคืน ไม่เกิน 30,000 บาท ซื้อสินค้าและบริการได้ 3 กลุ่ม ตั้งแต่วันที่ 23 ต.ค. – 31 ธ.ค. 2563 ได้แก่
  • สินค้าและบริการในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม
  • สินค้า OTOP ที่ขึ้นทะเบียนเรียบร้อยแล้ว
  • หนังสือและค่าบริการหนังสือในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์

 

กลุ่มที่ 5 ลดหย่อนกลุ่มบริจาค

  1. บริจาคให้พรรคการเมือง ไม่เกิน 10,000 บาท
  2. เงินบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษา สนับสนุนการกีฬา โรงพยาบาลของรัฐ และเงินบริจาคเพื่อประโยชน์สาธารณะหักได้ 2 เท่า แต่รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน
  3. กลุ่มเงินบริจาคทั่วไป เช่น บริจาคเงินเพื่อสาธารณกุศล ได้จำนวนตามที่บริจาคจริง แต่ต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน

 

6. ยื่นภาษีที่ไหนได้บ้าง?
ตอบ : สำหรับใครที่มีรายได้จากเงินเดือนและโบนัส โดยไม่มีรายได้ประเภทอื่น ให้เตรียมหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (50 ทวิ) พร้อมเอกสารประกอบการลดหย่อนภาษี เมื่อเตรียมเอกสารครบแล้ว ให้รีบยื่นแสดงภาษีให้เร็วที่สุด ซึ่งขยายเวลาให้ยื่นได้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 63 – 31 ส.ค. 63 โดยยื่นได้หลายช่องทาง ได้แก่

  1. ยื่นแบบแสดงภาษีด้วยตัวเองที่กรมสรรพากร
  2. ยื่นออนไลน์ผ่านเว็บไซต์กรมสรรพากร
  3. ยื่นผ่านแอปพลิเคชั่น RD Smart Tax แต่ต้องลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์กรมสรรพากรก่อน

 

 

7. ใบ 50 ทวิ คืออะไร?
ตอบ : คือ หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย เป็นหลักฐานที่ผู้มีเงินได้จะได้รับ   เพื่อแสดงว่าผู้รับเงินได้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้เรียบร้อยแล้วโดยจะได้รับใบ 50 ทวิ จำนวน 2 ใบ ที่มีข้อความตรงกันไว้เป็นหลักฐาน สำหรับการยื่นภาษีในปีภาษีที่ได้รับเงินได้ก้อนนั้นๆ โดยคนที่มีรายได้จะต้องใช้ในการยื่นภาษี

 

 

8. ยื่นภาษีไม่ทัน ทำยังไงดี?
ตอบ : สามารถยื่นย้อนหลังด้วยตนเองได้ที่กรมสรรพากรได้เลย โดยต้องเตรียมเอกสารต่างๆ และค่าปรับด้วย

 

ข้อมูลจาก : Salehere

ร่วมแสดงความคิดเห็น