(มีคลิป) เชียงใหม่แถลงผลการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ทั้งหมดในพื้นที่ ยันทุกเคสมีการดูแลอย่างใกล้ชิดกระจายไปตามโรงพยาบาลต่างๆ

เชียงใหม่แถลงผลการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ทั้งหมดในพื้นที่ ยันทุกเคสมีการดูแลอย่างใกล้ชิดกระจายไปตามโรงพยาบาลต่างๆ ขณะที่สถานการณ์ผู้ป่วยยังไม่น่าห่วง พร้อมจัดเตรียมสถานที่ และมาตรการรองรับหากเกิดภาวะฉุกเฉิน มีการเตรียมโรงพยาบาลสนามจำนวน 260 เตียง ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติฯ หากพบผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มขึ้นถึง 60 คนขึ้นไป

เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 14 ม.ค.64 รายงานข่าวแจ้งว่า ที่บริเวณห้องประชุมชั้น 7 อาคารอำนวยการผู้ป่วยนอกอุบัติเหตุและฉุกเฉิน โรงพยาบาลนครพิงค์ จังหวัดเชียงใหม่ นายแพทย์จตุชัย มณีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ แพร้อมด้วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครพิงค์, โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่, โรงพยาบาลสันทราย, และโรงพยาบาลประสาท ได้ร่วมกันแถลงข่าว ผลการรักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งขณะนี้โรงพยาบาลทุกแห่งในจังหวัดเชียงใหม่ ได้รวมกันเป็นหนึ่ง ถือเป็นทีมเชียงใหม่ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการรักษา คล้ายกับการมีหน่วยรักษาผู้ป่วยโควิท-19 แยกกันไปตาม โรงพยาบาลต่างๆ มีการใช้ทรัพยากรในการรักษา อาทิ ยารักษาโรค แบบแบ่งปันกัน โดยในการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ มีผู้ป่วยในจังหวัดเชียงใหม่รวม 28 ราย ตั้งแต่กรณีหญิงสาวที่ลักลอบข้ามแดนจากจังหวัดท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา ผู้ที่เดินทางมาจากจังหวัดระยอง ชลบุรี และในกลุ่มที่ติดเชื้อในสถานบันเทิง ปัจจุบันมีผู้ป่วยรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล รวม 22 คน แบ่งเป็น โรงพยาบาลนครพิงค์ 8 คน, โรงพยาบาลประสาท 7 คน, โรงพยาบาลสันทราย 5 คน, โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ 1 คน และรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลเอกชน (กรุงเทพ-เชียงใหม่) อีก 1 คน ในจำนวนนี้เป็นชาวต่างชาติ 2 คน และ 1 ในนั้น มีอาการค่อนข้างหนัก

โดยทาง นายแพทย์จตุชัย มณีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ปัจจุบันโรงพยาบาลนครพิงค์รับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ไว้รักษาและยังอยู่ในโรงพยาบาลทั้งหมด 8 ราย โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ 1 ราย โดรงพยาบาลประสาทเชียงใหม่ 7 ราย และโรงพยาบาลสันทราย 5 ราย นอกจากนี้ยังมีโรงพยาบาลเอกชนที่อยู่ในเครื่องข่าย คือโรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่ ที่มีผู้ป่วยรักษา 1 ราย ซึ่งเป็นผู้ป่วยชาวญี่ปุ่น ทั้งนี้จังหวัดเชียงใหม่ มีห้องปลอดเชื้อและเตียงที่รองรับผู้ป่วยหนักได้ทั้งจังหวัด 61 เตียง ผู้ป่วยอาการปานกลาง 92 เตียง คือรวมประมาณ 150 เตียง ในส่วนของการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามนั้น ได้มีการเตรียมความพร้อมไว้แล้ว โดยจะใช้พื้นที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา จัดตั้งโรงพยาบาลสนามจำนวน 260 เตียงจะเริ่มเปิดใช้เมื่อมีผู้ป่วยตั้งแต่ 60 คนขึ้นไป จึงขอให้ประชาชนมั่นใจว่าทีมแพทย์เชียงใหม่ มีความพร้อมทั้งบุคลากร เครื่องมือ และสถานที่ สามารถดูแลผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตามขอให้ประชาชน ดูแลตนเอง ด้วยการปฏิบัติตัวตามาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ห่างไกลจากโรคดังกล่าว และจะได้ผ่านพ้นวิกฤติการณ์ของโรคโควิด-19 ไปได้ด้วยกัน

ทางด้าน นายแพทย์วรเชษฐ เต๋ชะรัก ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครพิงค์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันโรงพยาบาลนครพิงค์รับผู้ป่วยโควิด-19 ในระลอกใหม่จนถึงขณะนี้ทั้งสิ้น 17 ราย แต่อยู่ในโรงพยาบาลตอนนี้ทั้งสิ้น 8 ราย เนื่องจากส่วนใหญ่สามารถเดินทางกลับบ้านได้แล้ว และอีกส่วนหนึ่งคือผู้ป่วยที่อาการดีขึ้น จึงได้ส่งไปอยู่ที่โรงพยาบาลประสาทเชียงใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่ 16 คน จากทั้งหมด 17 คน เป็นผู้ป่วยที่ไปรับมาจากที่บ้าน ส่วนอีก 1 ราย เป็นการรับส่งต่อมาจากโรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่ เนื่องจากคนไข้อาการไม่ดีขึ้นและต้องใช้ยา รวมทั้งการดูแลเพิ่มเติม

ขณะเดียวกันมีประชาชนสงสัยว่าทำไมทางโรงพยาบาลจึงต้องมีการกระจายผู้ป่วยไปรักษาตามโรงพยาบาลต่างๆ นั้น สืบเนื่องมาจากตามแผนยุทธศาสตร์ได้มีการเตรียมโรงพยาบาลไว้หลายโรงพยาบาล และยังมีโรงพยาบาลอีกหลายแห่งที่ยังไม่ได้รับคนไข้ ดังนั้นเพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าสูงสุด เวลารับคนไข้เข้ามาจึงมีการกระจายคนไข้ไปยังที่ต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับอาการของผู้ป่วยด้วย ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าที่ผ่านมามีการย้ายคนไข้ไปตามโรงพยาบาลต่างๆ ทั้งนี้ในส่วนของเตียงรักษาที่โรงพยาบาลนครพิงค์ได้เตรียมไว้แล้วนั้น มีจำนวนทั้งสิ้น 43 เตียง และรับคนไข้ที่มีอาการหนักเป็นหลัก แต่เนื่องจากสถานการณ์ในช่วงแรกคนไข้ส่วนใหญ่อาการไม่มากนัก และเนื่องจากมีความพร้อมในการเตรียมการรักษาคนไข้ส่วนใหญ่จึงเข้ามาที่โรงพยาบาลนครพิงค์เป็นหลัก อย่างไรก็ตามทางโรงพยาบาลนครพิงค์มั่นใจว่าการเตรียมความพร้อมและการรักษาผู้ป่วยนั้นยังคงมีประสิทธิภาพและสามารถรองรับสถานการณ์ที่รุนแรงขึ้นได้ในอนาคต ซึ่งทางโรงพยาบาลยังมีศักยภาพเหลืออยู่ค่อนข้างมาก และยังมีเครือข่ายโรงพยาบาลที่มีการตรวจโควิด-19 ทั้งภาครัฐและเอกชนที่ได้มีประสิทธิภาพ

ขณะที่ทางด้าน แพทย์หญิงรัฐกานต์ กาวิละ นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ ด้านโรคติดเชื้อ โรงพยาบาลนครพิงค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับโรงพยาบาลนครพิงค์มีผู้ป่วยติดเชื้อสะสมทั้งหมด 34 ราย และล่าสุดคนไข้ที่กำลังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลมีทั้งหมด 8 ราย และมีคนไข้ที่เสียชีวิตเพียง 1 ราย ซึ่งเป็นผู้ป่วยติดเชื้อตั้งแต่ระลอกแรก และในส่วนของรายละเอียดคนไข้ที่รักษาตัวอยู่ภายในโรงพยาบาลทั้งหมด 8 รายนั้น มีจำนวนทั้งหมด 6 รายที่มีอาการไม่รุนแรงหรืออาการน้อยมาก เนื่องจากคนไข้ส่วนใหญ่อายุน้อย และไม่มีปัจจัยต่อการเป็นโรครุนแรงและไม่มีโรคประจำตัว และมีคนไข้เพียง 1 รายที่มีอาการเล็กน้อย ส่วนปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง และโรคประจำตัวไม่มี ส่วนคนไข้อีก 1 ราย เป็นผู้ป่วยชาย อายุ 64 ปี เป็นชาวต่างชาติ มีอาการปอดอักเสบ ซึ่งผู้ป่วยรายนี้ต้องอยู่ในระหว่างการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด และเป็นผู้ป่วยที่ได้รับยาต้านไวรัสด้วย โดยโรงพยาบาลนครพิงค์ได้รับการส่งตัวผู้ป่วยมาจากโรงพยาบาลเอกชน ตั้งแต่วันที่ 7 ม.ค.64 โดยคนไข้มีโรคประจำตัวเป็นความดันโลหิตสูงและเป็นสะเก็ดเงิน ซึ่งทานยากดภูมิคุ้มกันอยู่ แรกรับคนไข้มีภาวะปอดอักเสบเล็กน้อย ทางโรงพยาบาลได้ให้การรักษาด้วยยาต้านไวรัส Favipiavir ประมาณ 5 วัน คนไข้มีการตอบสนองและยังมีไข้ อ่อนเพลีย จึงมีการเปลี่ยนการรักษาและให้ยาต้านไวรัสชนิด Remdesivir ซึ่งวันนี้เป็นวันที่คนไข้ได้รับยาตัวใหม่เป็นวันที่ 2 และพบว่าตอนนี้คนไข้อาการดีขึ้นมาก แล้ว

ส่วนทางด้าน นายแพทย์ชัยวัฒน์ บำรุงกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ทางโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ได้รับผู้ป่วยติดเชื้อที่มาจาก ริเวอร์ไซด์ ซึ่งเป็นแม่ครัว ซึ่งหลังเข้ารับการรักษาคนไข้ไม่ได้มีอาการอะไร และได้เข้ารับการกักกันตัว และทางโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ก็ได้มีการเตรียมความพร้อมในการรองรับผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรือเล็กน้อยไปก่อน

ด้าน แพทย์หญิงศศิธร ศิริมหาราช ผู้อำนวยโรงพยาบาลประสาทเชียงใหม่ เปิดเผยว่า จากระลอกที่แล้วทางโรงพยาบาลได้ดูแลผู้ป่วยอาการน้อยถึงปานกลางจำนวน 20 ราย ซึ่งทั้งหมดก็ปลอดภัยและสามารถเดินทางกลับบ้านได้ตามปกติ ซึ่งระหว่างนั้นทางโรงพยาบาลได้มีการเตรียมการรองรับสถานการณ์หากพบผู้ป่วยภาวะวิกฤติเพิ่มขึ้นจึงได้มีการทำความร่วมมือกับโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ในการเตรียมการดูแลผู้ป่วยในภาวะวิกฤติ และได้มีการจัดเตรียมห้องที่เป็นความดันลบ จำนวน 12 เตียง เพื่อรองรับผู้ป่วย ขณะเดียวกันในส่วนของผู้ป่วยระลอกนี้ มีทั้งหมด 7 ราย เป็นชาย 3 ราย และหญิง 4 ราย โดยเริ่มรับผู้ป่วยมาตั้งแต่วันที่ 9 ม.ค.64 เป็นผู้ป่วยที่ได้รับการสัมผัสเสี่ยงสูงและผู้ป่วยยืนยัน ซึ่งทั้ง 7 รายเป็นผู้ป่วยอายุน้อย และส่วนใหญ่อาการน้อยไม่มีไข้ และมีไข้เพียง 1 ราย โดยได้มีการให้ยารักษาตามอาการ และครบกำหนดที่จะกลับบ้านได้แล้ว 1 ราย

ด้าน นายแพทย์วรวุฒิ โฆวัชรกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสันทราย เชียงใหม่ เปิดเผยว่า สำหรับผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสันทรายมีทั้งหมด 5 ราย ซึ่งได้รับผู้ป่วยมาตั้งแต่วันที่ 7 ม.ค.64 แบ่งเป็นชาย 3 ราย หญิง 2 ราย โดยผู้ป่วยที่มีอาการน่าเป็นห่วงกว่าเคสอื่นจะเป็นผู้ป่วยชาย อายุ 28 ปี มีอาการปอดติดเชื้อ แต่ก็ได้ให้ยารักษา และมีการเอ็กซเรย์คนไข้เมื่อวานนี้พบว่าปอดดีขึ้นและอาการปกติ ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่มีแผนว่าจะสามารถกลับบ้านได้ในช่วงวันที่ 17-18 ม.ค.64 และจะต้องมีการกักกันตัวที่บ้าน จนถึงช่วงประมาณต้นเดือน ก.พ. ให้ครบตามมาตรการกรมควบคุมโรค

ร่วมแสดงความคิดเห็น