(มีคลิป) เหมืองแม่เมาะ สานต่อภารกิจ ม.ค. ถึง ก.พ. เร่งฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมแก้ปัญหาน้ำเน่าเสีย

กฟผ.เหมืองแม่เมาะ เดินหน้าแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมจากน้ำเน่าเสียภายในบริเวณอ่างกักเก็บน้ำ Sump G เร่งดำเนินการตามแผนงานฟื้นฟูก่อนถึงฤดูร้อน นำเจ้าหน้าที่ใช้สารชีวภาพเติมลงแหล่งน้ำช่วยปรับสภาพ จากกรณีปัญหาน้ำเน่าเสียส่งกลิ่นเหม็นภายในบริเวณอ่างกักเก็บ Sump G ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เหมืองแม่เมาะ ซึ่งเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการดำเนินกิจการของการไฟฟ้าฯ และปัญหาดังกล่าวยังถือเป็นปัญหาต่อเนื่องที่ได้ส่งผลกระทบต่อชุมชนโดยรอบโรงไฟฟ้า เฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหน้าแล้งที่ภายในอ่างมีปริมาณน้ำกักเก็บลดน้อยลง ยิ่งได้ทำให้เกิดผลกระทบมากขึ้น เนื่องจากบางจุดน้ำได้ลดระดับต่ำลงจนกลายเป็นแอ่งน้ำขัง เกิดการเน่าเสียและส่งกลิ่นเหม็นรบกวนชาวบ้านในเขตชุมชนต่างๆ รอบพื้นที่ โดยที่ผ่านมาทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เหมืองแม่เมาะ ได้มีการพยายามดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียภายในบริเวณอ่างกักเก็บน้ำ Sump G ด้วยมาตรการต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง

นับตั้งแต่ปลายปี 2562 ทั้งการดำเนินการฉีดน้ำแรงดันสูงไล่น้ำเน่าเหม็นตามบริเวณแอ่งน้ำขัง และตามร่องระบายน้ำ, ดำเนินการปิดถมปรับระดับร่องระบายน้ำในจุดที่มีน้ำขัง, ทำการติดตั้งเครื่องสูบน้ำแบบ Submersible Pump จำนวน 4 เครื่อง สำหรับใช้ทำน้ำพุเพื่อช่วยเติมออกซิเจนให้กับแหล่งน้ำ ตลอดจนได้ดำเนินการติดตามตรวจวัดปริมาณออกซิเจนในน้ำภายในอ่างกักเก็บน้ำ Sump G อย่างสม่ำเสมอ เพื่อจะคอยควบคุม และปรับสภาพน้ำให้อยู่ในระดับคุณภาพดี ซึ่งในส่วนนี้ กฟผ.เหมืองแม่เมาะ ได้มีการนำ EMBall และ น้ำหมักจุลินทรีย์ EM เข้ามาช่วยในการฟื้นฟูปรับสภาพน้ำ โดยได้มีการนำชาวบ้านในชุมชนรอบพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วม ทำการฝึกอบรมให้ความรู้เรื่อง EMBall และน้ำหมักจุลินทรีย์ EM พร้อมให้ชาวบ้านในชุมชนได้ช่วยกันจัดทำทั้ง EMBall และน้ำหมักจุลินทรีย์ EM เพื่อสำหรับนำไปใช้เติมลงในแหล่งน้ำภายในอ่างกักเก็บน้ำ Sump G เพื่อจะได้ช่วยในการปรับสภาพน้ำและปรับปรุงคุณภาพน้ำด้านกลิ่น ซึ่งทางหน่วยงาน (กฟผ.) เหมืองแม่เมาะ ได้มีการกำหนดแผนการดำเนินงานปรับปรุงคุณภาพน้ำด้วยการเติมน้ำหมักจุลินทรีย์ EM และโยน EM Ball ไว้รวมจำนวน 5 ครั้ง ในช่วงระหว่างเดือนมกราคม ถึง กุมภาพันธ์ 2564

ล่าสุด (กฟผ.) เหมืองแม่เมาะ ได้มีการเริ่มปฏิบัติการตามแผนการดำเนินงานดังกล่าว ครั้งที่ 1 โดยนายกนก ดุสิตโสภณ นักวิทยาศาสตร์ระดับ 9 กองสิ่งแวดล้อมเหมืองแม่เมาะ และนางสาวอัญญารัตน์ วงศ์คช วิทยากรระดับ 6 แผนกบำรุงรักษาบริเวณและจัดการพื้นที่ฟื้นฟูสภาพเหมือง กองฟื้นฟูสภาพเหมืองแม่เมาะ ได้ร่วมกันนำเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ลงพื้นที่ร่วมกับชาวบ้าน ในชุมชนบ้านหัวฝายหล่ายทุ่ง หมู่ที่ 8 ตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ช่วยกันโยน EM Ball จำนวน 500 ลูก และฉีดพ่นน้ำหมักจุลินทรีย์ EM เติมลงในแหล่งน้ำภายในอ่าง Sump G รวมจำนวนกว่า 400 ลิตร ซึ่งในการปฏิบัติการดังกล่าว ทางเจ้าหน้าที่แผนกปฏิบัติการสิ่งแวดล้อมเหมือง กองสิ่งแวดล้อมเหมืองแม่เมาะ ได้มีการตรวจวัดคุณภาพน้ำบันทึกค่าปริมาณออกซิเจนภายในน้ำไว้ ทั้งก่อนและหลัง โดยหลังจากนี้จะยังคงติดตามตรวจวัดปริมาณออกซิเจนในน้ำ ภายในอ่างกักเก็บน้ำ Sump G ไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อจะคอยควบคุมและปรับสภาพน้ำให้อยู่ในระดับคุณภาพดีสม่ำเสมอ และจะได้ดำเนินการนำชุมชนรอบๆ พื้นที่ ร่วมช่วยกันโยน EM Ball และเติมน้ำหมักจุลินทรีย์ EM ลงในแหล่งน้ำภายในอ่าง Sump G อีกครั้งตามช่วงระยะเวลาที่กำหนดยาวไปจนถึงปลายเดือน กุมภาพันธ์ นี้

ร่วมแสดงความคิดเห็น