Update ข้อมูลวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19

ในสถานการณ์โลกที่ผู้ป่วยโควิด -19 ยังคงเพิ่มสูงอย่างต่อเนื่อง ผู้คนทั่วโลกล้วนฝากความหวังไว้กับวัคซีน ในการเอาชนะวิกฤตครั้งนี้ ซึ่งหลายประเทศกำลังทำการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 โดยส่วนใหญ่อยู่ในช่วงของการศึกษา วิจัย ทดลอง ทั้งในระยะศึกษาในสัตว์ทดลอง และในมนุษย์ มากกว่า 100 ชนิด ซึ่งวัคซีนทุกตัวต้องผ่านการศึกษาวิจัย และการขออนุมัติการผลิต

จากข้อมูลปัจจุบัน ถึงวันที่ 15 มกราคม 2564 วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่อนุมัติให้ใช้เป็นการเร่งด่วน (อย่างน้อยใน 1 ประเทศขึ้นไป) มีทั้งหมด 8 ชนิด ส่วนวัคซีนตัวอื่นๆ ยังคงอยู่ในขั้นตอนการศึกษาวิจัย ซึ่งต้องรออัปเดตข้อมูลต่อไป

โดยวัคซีนทั้งหมดที่อยู่ในการศึกษา และรวมถึงที่อนุมัติให้เริ่มใช้ได้แล้วในบางประเทศ แบ่งออกเป็นทั้งหมด 4 ชนิด

วัคซีนชนิดที่ 1 “mRNA vaccine” ผลิตจากสารพันธุกรรมของไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19 หรือไวรัสซาร์ส-โควี-2 (SARS-CoV-2) เมื่อฉีดวัคซีนเข้ามาในร่างกายมนุษย์ ตัวสารพันธุกรรมจะทำร่างกายมนุษย์ สร้างโปรตีนที่สามารถกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสขึ้นมา ซึ่งวัคซีนในกลุ่มนี้ที่มาแรงที่สุดตอนนี้ คือ วัคซีนจากบริษัทไฟเซอร์ ไบโอเอ็นเทค (Pfizer BioNTech) และของบริษัทโมเดอร์นา (Moderna) ประเทศสหรัฐอเมริกา ข้อดีของวัคซีนตัวนี้ คือ ผลิตง่าย รวดเร็ว ขั้นตอนการผลิตไม่ยุ่งยาก และราคาไม่สูงมาก แต่มีข้อจำกัดคือ เนื่องจากวัคซีนป้องกันโรคอื่นๆ ที่เคยมีใช้ทั่วโลกก่อนหน้านี้ ยังไม่มีวัคซีนตัวไหนที่ผลิตโดยเทคโนโลยีนี้ ทำให้ข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัยในระยะยาว และประสบการณ์การใช้อาจมีไม่มากนัก นอกจากนี้ วัคซีนในกลุ่มนี้ยังจำเป็นต้องเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำมาก เช่น -70 หรือ -20 องศาเซลเซียส เพื่อให้คงประสิทธิภาพไว้ได้

วัคซีนของบริษัทไฟเซอร์ ไบโอเอ็นเทค (Pfizer/BioNTech) ประสิทธิภาพของวัคซีน ตามที่ตีพิมพ์ออกมาล่าสุด อยู่ที่ประมาณ 95% โดยให้วัคชีน 2 ครั้ง ห่างกัน 3 สัปดาห์ โดยฉีดเข้ากล้ามเนื้อ การเก็บรักษาวัคซีนต้องเก็บที่อุณหภูมิ -70 องศาเซลเซียส ด้านผลข้างเคียงรุนแรงที่เกิดขึ้นไม่พบว่าเกี่ยวข้องกับการรับวัคซีน

วัคซีนของบริษัทโมเดอร์นา (Moderna) ประสิทธิภาพของวัคซีน ตามที่ตีพิมพ์ออกมาล่าสุด อยู่ที่ประมาณ 94% โดยให้วัคซีน 2 ครั้ง ห่างกัน 4 สัปดาห์ โดยฉีดเข้ากล้ามเนื้อ การเก็บรักษาวัคซีนต้องเก็บที่อุณหภูมิ -20 องศาเซลเซียส (ได้นาน 6 เดือน) หรือเก็บที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส (ได้นาน 1 เดือน) ด้านผลข้างเคียงรุนแรงที่เกิดขึ้น ไม่พบว่าเกี่ยวข้องกับการรับวัคซีนเช่นกัน

วัคซีนชนิดที่ 2 “viral vector vaccine” โดยใช้หลักการฝากสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสซาร์ส-โควี-2 (SARS-CoV-2) เข้าไปในไวรัสพาหะชนิดอื่นๆ เช่น adenovirus เพื่อพาเข้ามาในร่างกายมนุษย์ และทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสขึ้นมาได้ โดยวัคซีนในกลุ่มนี้ ตัวที่มาแรง ได้แก่ วัคซีนของบริษัท AstraZeneca ร่วมกับ University of Oxford ของประเทศอังกฤษ ข้อดีของวัคซีนในกลุ่มนี้ คือ เป็นวัคซีนที่เลียนแบบการติดเชื้อตามธรรมชาติ ผลิตได้ง่าย เร็ว ราคาไม่สูง ข้อด้อยของวัคซีน คือ ยังไม่มีประสบการณ์ใช้ในวงกว้าง และในผู้ที่เคยติดเชื้อไวรัสที่ใช้เป็นพาหะมาก่อน วัคซีนอาจกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันที่ไม่ดีมากนัก

ซึ่งวัคซีนตัวนี้เป็นตัวที่รัฐบาลไทย ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตจากมหาวิทยาลัย Oxford และบริษัท AstraZeneca ซึ่งคาดว่าจะทยอยส่งมอบล็อตแรก จำนวน 26 ล้านโดส ในเดือนพฤษภาคม 2564 นี้ ทั้งนี้วัคซีนของบริษัท AstraZeneca ใช้ไวรัส Adenovirus ของลิงชิมแปนซี เป็นไวรัสพาหะ และจากการศึกษาวิจัยพบว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพเฉลี่ยโดยรวม 70% (โดยกลุ่มอาสาสมัครที่ได้รับวัคซีนครึ่งโด๊ส ตามด้วย 1 โด๊ส ประสิทธิภาพของวัคซีนอยู่ที่ 90% และอาสาสมัครกลุ่มที่ได้รับวัคซีน 2 โด๊ส ประสิทธิภาพของวัคซีนอยู่ที่ 62%) โดยให้วัคซีน 2 ครั้ง ห่างกัน 4 สัปดาห์ ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ การเก็บรักษาวัคซีนสามารถเก็บได้ที่อุณหภูมิ 2-8 องศา (อย่างน้อย 6 เดือน) ด้านผลข้างเคียงพบว่าอาการที่รุนแรงที่เกิดขึ้น ไม่พบว่าเกี่ยวข้องจากการรับวัคซีน

วัคซีนชนิดที่ 3 “วัคซีนแบบใช้โปรตีน (protein-based vaccine)” ซึ่งเป็นวัคซีนที่ประกอบด้วยโปรตีนของเชื้อไวรัสซาร์ส-โควี-2 (SARS-CoV-2) โดยอาจใช้เป็นชิ้นส่วนโปรตีนของไวรัส เช่น โปรตีนส่วนหนาม (spike protein) เป็นต้น ข้อดีของวัคซีนชนิดนี้ คือ ผลิตได้ง่าย รวดเร็ว ราคาไม่แพง และเคยมีประสบการณ์การใช้มาก่อน แต่อาจต้องใช้สารเสริมฤทธิ์ (adjuvant) เพื่อให้การตอบสนองทางภูมิคุ้มกันดี วัคซีนในกลุ่มนี้ที่มาแรง ได้แก่ วัคซีน Novavax ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาวิจัยในคน ระยะที่ 3

วัคซีนชนิดที่ 4 “วัคซีนเชื้อตาย (inactivated vaccine)” ซึ่งผลิตโดยการใช้ไวรัสซาร์ส-โควี-2 (SARS-CoV-2) ที่ถูกทำให้ตายแล้ว วัคซีนตัวที่มาแรงในกลุ่มนี้ ได้แก่ วัคซีนโคโรนาแวค (CoronaVac) ซึ่งเป็นของบริษัทซิโนแวค (SinoVac) ประเทศจีน ข้อดีของวัคซีนในกลุ่มนี้ คือ ใช้เทคโนโลยีการผลิตที่มีมานาน จึงมีประสบการณ์และความมั่นใจในการใช้เป็นอย่างดี แต่ข้อจำกัด คือ ราคาวัคซีนอาจจะค่อนข้างสูง เนื่องจากกรรมวิธีในการผลิตต้องดำเนินการในห้องปฏิบัติการที่มีระบบความปลอดภัยทางชีวภาพในระดับที่ 3 สำหรับประสิทธิภาพของวัคซีน จากการศึกษาล่าสุดในประเทศบราซิล พบว่าประสิทธิภาพของวัคซีน เฉลี่ยอยู่ที่ >50.3% (รวมอาสาสมัครที่ติดเชื้อทั้งที่มีอาการรุนแรงและไม่รุนแรง) โดยให้วัคชีน 2 ครั้ง ห่างกัน 2-4 สัปดาห์ โดยฉีดเข้ากล้ามเนื้อ การเก็บรักษาวัคซีน สามารถเก็บได้ที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส สำหรับผลข้างเคียงที่รุนแรงของวัคซีน ยังไม่มีรายงานจากการวิจัยทดลองระยะที่ 3

วัคซีนตัวนี้จะนำเข้าในประเทศไทยล็อตแรก ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 จำนวน 2 แสนโด๊ส และเดือนมีนาคม 2564 อีก 8 แสนโด๊ส จากที่สั่งซื้อทั้งหมด 2 ล้านโดส (ข้อมูลตามที่รัฐบาลแถลง)

สำหรับกลุ่มประชาชนที่จะได้รับวัคซีน CoronaVac ล็อตแรก จำนวน 2 แสนโดส ในเดือนกุมภาพันธ์ รัฐบาลได้จัดไว้ 4 กลุ่ม ได้แก่
1. บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข
2. เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรค
3. ผู้สูงอายุ ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป
4. ผู้ที่มีโรคประจำตัว

ในปัจจุบันการใช้ชีวิตวิถีใหม่ (new normal) ถือเป็นวิธีการป้องกันโรคที่ดีที่สุด คือ การสวมหน้ากากอนามัย รักษาระยะห่างทางสังคม ล้างมือบ่อยๆ โดยยังคงเป็นสิ่งที่เราต้องทำต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ซึ่งการปฏิบัติตนเช่นนี้ ไม่เพียงช่วยป้องกันโรคโควิด-19 เท่านั้น แต่ยังสามารถป้องกันโรคติดเชื้อ ในระบบทางเดินหายใจอื่นๆ ได้อีกด้วย

ข้อมูลโดย รศ.ดร.พญ.ทวิติยา สุจริตรักษ์ อาจารย์ประจำสาขาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ข้อมูลอัพเดต วันที่ 16 มกราคม 2564)

ร่วมแสดงความคิดเห็น