กระทรวงสาธารณสุข เผยผลสอบสวนโรคกรณีดีเจมะตูม และผู้ประกาศช่อง NBT พบเชื่อมโยงกันจากงานเลี้ยงปาร์ตี้ใน 3 เหตุการณ์ มีผู้ติดเชื้อรวม 19 ราย

กระทรวงสาธารณสุข เผยผลสอบสวนโรคกรณีดีเจมะตูมและผู้ประกาศช่อง NBT พบเชื่อมโยงกันจากงานเลี้ยงปาร์ตี้ใน 3 เหตุการณ์ มีผู้ติดเชื้อรวม 19 ราย ย้ำร่วมงานเลี้ยง ไม่ใส่หน้ากาก เป็นจุดเสี่ยงแพร่เชื้อในหลายเหตุการณ์ ส่วนใหญ่ผู้ติดเชื้อไม่มีอาการ ไม่ป้องกันตัวในบ้านและที่ทำงาน ทำผู้สูงอายุและคนมีโรคประจำตัวเสี่ยงติดเชื้ออาการรุนแรงและเสียชีวิต รวมทั้งแพร่เชื้อในที่ทำงาน

วันนี้ (24 มกราคม 2564) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี  นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวสถานการณ์โรคโควิด-19 ว่า ขณะนี้ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อสะสม 99.3 ล้านราย เสียชีวิตสะสม 2.13 ล้านราย ภาพรวมทั่วโลกพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในระดับคงตัว วันละ 5-6 แสนราย ส่วนประเทศเพื่อนบ้าน เช่น อินโดนีเซียเพิ่มหลักหมื่นราย มาเลเซีย 4 พันราย เมียนมา 500 กว่าราย ยังคงต้องเฝ้าระวังเข้มงวดป้องกันการข้ามพรมแดนผิดกฎหมาย ขอให้ประชาชนช่วยกันเป็นหูเป็นตา จะช่วยป้องกันการแพร่ระบาดได้ สำหรับประเทศไทย วันนี้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 198 ราย มาจากต่างประเทศ 7 ราย ติดเชื้อในประเทศ 191 ราย เป็นผู้ป่วยที่รับบริการในสถานพยาบาลและการสอบสวนโรค 118 ราย ค้นหาเชิงรุกในชุมชน 73 ราย มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย รักษาหายเพิ่มขึ้น 119 ราย  ทำให้การระบาดระลอกใหม่ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2563 เป็นต้นมา มีผู้ติดเชื้อสะสม 9,263 ราย หายป่วยสะสม 6,627 ราย เสียชีวิตสะสม 13 ราย อัตราเสียชีวิต 0.14%

สำหรับผู้เสียชีวิตรายล่าสุด เป็นหญิงอายุ 73 ปี ที่ จ.สมุทรสาคร มีโรคประจำตัว ความดันโลหิตสูง สมองเสื่อม และลมชัก ติดเชื้อจากคนในครอบครัวที่ไม่แสดงอาการและไม่ป้องกันตัว โดยมีอาการปอดอักเสบรุนแรง ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ แม้จะรักษาอาการดีขึ้นจนถอดเครื่องช่วยหายใจได้ แต่เกิดภาวะแทรกซ้อนในปอด จากอยู่โรงพยาบาลนาน ประกอบกับโรคประจำตัวเรื้อรัง ทำให้เสียชีวิต ซึ่งคล้ายกับผู้เสียชีวิตหลายราย เพราะผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัวอาการจะรุนแรงกว่าคนหนุ่มสาว ดังนั้น บุตรหลานที่มีความเสี่ยง ไปผับบาร์ บ่อน งานปาร์ตี้ และพื้นที่ระบาด ควรหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัว ขอให้เข้มการสวมหน้ากาก ล้างมือ และเว้นระยะห่างจะลดความเสี่ยงลงได้

“ภาพรวมการติดเชื้อในประเทศในช่วงไม่กี่วันจำนวนผู้ป่วยยังไม่คงที่ บางจังหวัดยังสูง พบเฉพาะภาคกลาง กทม. และปริมณฑล ซึ่งสัปดาห์นี้พบการติดเชื้อใน 7 จังหวัด โดย จ.สมุทรสาคร มีผู้ติดเชื้อมากที่สุด 70-90% ของจำนวนผู้ป่วยทั้งประเทศ เร่งปูพรมตรวจเชิงรุกในโรงงานกว่าหมื่นแห่ง คาดว่าสัปดาห์หน้าอาจพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่จะช่วยควบคุมไม่ให้การติดเชื้อกระจายออกไป ขอให้จังหวัดอื่นๆที่ไม่พบผู้ติดเชื้อคงมาตรการด้านการแพทย์และสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง การค้นหาผู้ป่วยอย่างรวดเร็วและการลดกิจกรรมเสี่ยงให้มากที่สุด ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด ส่วนมาตรการ ศบค.ที่จะสิ้นสุดวันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้ จะพิจารณาอีกครั้งหากควบคุมโรคได้ดีอาจผ่อนปรนได้มากขึ้น หรือเพิ่มมาตรการถ้ายังมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก” นพ.โอภาสกล่าว

นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า จากการสอบสวนโรค เคส ดีเจมะตูม พบจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์เริ่มจากมีชายติดเชื้อไม่มีอาการหลังจากไปเที่ยวสถานบันเทิง จ.เชียงใหม่ และไปร่วมงานปาร์ตี้วันเกิดของดีเจมะตูม ซึ่งมีผู้ร่วมงานจำนวนมาก ส่วนผู้ประกาศข่าวช่อง NBT ที่ติดเชื้อมาจากการเข้าร่วมงานปาร์ตี้อีกงานที่มีเพื่อนบางคนที่ติดเชื้อเชื่อมโยงกัน ทำให้เกิดการติดเชื้อใน 3 กลุ่มที่เกี่ยวข้องกันผ่านงานเลี้ยงปาร์ตี้ ทำให้มีผู้ติดเชื้อในขณะนี้แล้ว 19 ราย ดังนั้น จุดเสี่ยงที่ขอย้ำ คือ สถานที่แออัด อากาศถ่ายเทไม่สะดวก คนร่วมกิจกรรมไม่สวมหน้ากาก โดยเฉพาะช่วงรับประทานอาหาร งานเลี้ยงวันเกิดที่มีการเป่าเค้กวันเกิด สังสรรค์ ร้องเพลง ตะโกนหรือพูดเสียงดัง ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสูบบุหรี่ ในขณะที่คนติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่มีอาการ จึงคิดว่าไม่เป็นอะไร ทำให้เป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดการติดเชื้อในหลายครั้ง ขอให้ผู้ไปงานปาร์ตี้วันเกิดที่พบผู้ป่วยโควิด-19 ครั้งนี้ เฝ้าระวังสังเกตอาการเป็นเวลา 14 วัน นับจากวันที่ไปปาร์ตี้

“เมื่อมีผู้ติดเชื้อ 1 คน คนในครอบครัวจะมีความเสี่ยงมากที่สุด เนื่องจากใช้เวลาด้วยกันในบ้าน และไม่มีการป้องกันที่เคร่งครัด ส่วนอีกกลุ่มคือ สถานที่ทำงานที่มีการพบปะ ประชุม รับประทานอาหารร่วมกัน หรือการเลี้ยงสังสรรค์กัน ถือเป็นจุดเสี่ยง วิธีป้องกันที่ดีที่สุด คือ การเว้นระยะห่าง สวมหน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ เช็กชื่อด้วยไทยชนะ และดาวน์โหลดหมอชนะ ซึ่งจะช่วยแจ้งเตือนเมื่อมีความเสี่ยงหรือมีโอกาสไปสัมผัสผู้ติดเชื้อโดยไม่รู้ตัวได้ ช่วยให้ติดตามควบคุมโรคได้อย่างรวดเร็ว โดยวันที่ 24 มกราคม มีผู้ลงทะเบียนใช้งานแล้ว 6.8 ล้านกว่าคน ยอดแจ้งเตือนสะสม 5,927 ราย ขอย้ำการป้องกันส่วนบุคคลมีความสำคัญช่วยควบคุมสถานการณ์ระลอกใหม่ได้ดีขึ้น” นพ.โอภาสกล่าว

ขอบคุณข้อมูล และภาพจาก : สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข

ร่วมแสดงความคิดเห็น