เชียงใหม่หมอกควันหนา ปริมาณฝุ่นละออง อยู่ในเกณฑ์เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ด้านพ่อเมือง เร่งรณรงค์พร้อมออกมาตรการควบคุมพื้นที่ ไม่ให้เกิดไฟป่า

วันที่ 27 ม.ค. 64 รายงานข่าวแจ้งว่า สถานการณ์หมอกควันไฟป่าของ จ.เชียงใหม่ ล่าสุดพบว่า ช่วงสายวันนี้ ได้มีหมอกควันหน้าเริ่มปกคลุมตัวเมืองเชียงใหม่ ส่งผลทำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในเมืองไม่สามารถมองเห็นดอยสุเทพที่อยู่ทางด้านทิศตะวันตกของเมืองได้ ซึ่งลักษณะดังกล่าวเป็นดัชนีชี้วัดคุณภาพอากาศของเมืองเชียงใหม่ ว่ามลพิษหมอกควันเริ่มเข้าสู่ช่วงวิกฤตเป็นช่วงแรกของปีแล้ว โดยพบว่าในเช้าวันนี้การจัดอันดับเมืองที่มีมลพิษ จากเว็บไซต์ AirVisual.com พบว่าค่าUS AQI ของจังหวัดเชียงใหม่ อยู่ที่ 159 เป็นสีแดง อยู่ในอันดับที่ 15 ของโลก

ทั้งนี้จากการตรวจสอบการตรวจวัดคุณภาพอากาศ จากกรมควบคุมมลพิษ จำนวน 4 จุดช่วงเวลา 10.00 น. จุดศาลากลาง จ.เชียงใหม่ ต.ช้างเผือก อ.เมือง พบปริมาณฝุ่นละออง ขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) มีค่า 51 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร อยู่ในเกณฑ์เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ จุดกลางเมือง โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย ต.ศรีภูมิ อ.เมือง พบปริมาณฝุ่นละออง ขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) มีค่า 43 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร อยู่ในเกณฑ์คุณภาพปานกลาง จุดบนดอยสุเทพ ต.สุเทพ อ.เมือง พบปริมาณฝุ่นละออง ขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) มีค่า 47 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร อยู่ในเกณฑ์คุณภาพปานกลาง และต.ช่างเคิ่ง อ.แม่แจ่ม  พบปริมาณฝุ่นละออง ขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) มีค่า 84 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร อยู่ในเกณฑ์เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ นอกจากนี้ ยังพบปริมาณฝุ่นละออง ขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) มีค่า 132 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร อยู่ในเกณฑ์เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ

ขณะที่ทางด้านศูนย์บัญชาการป้องกันแก้ไขไฟป่า และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จ.เชียงใหม่ รายงานจุดความร้อน hotspot เช้าวันนี้ประจำวันที่ 27 มกราคม 2564 (รอบเวลา 01.54) จ.เชียงใหม่ พบจุดความร้อน จำนวน 21 จุด พบที่ อ.แม่แจ่ม จำนวน 7 จุด อ.ดอยเต่า จำนวน 6 จุด อ.ดอยหล่อ จำนวน 4 จุด อ.เชียงดาว และ อ.แม่แตง อำเภอละจำนวน 2 จุด ซึ่งพบว่าอำเภอทางใต้ มีไฟป่าหมอกควันมากขึ้น ซึ่งกระแสลมทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ และทิศใต้จะพัดเข้ามาในเมือง ซึ่งจะทำให้เกิดหมอกควันพิษปกคลุมในตัวเมือง เพราะเป็นแอ่งกระทะ

โดยทางด้าน นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการ จ.เชียงใหม่ ได้มีการดำเนินงานและความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการบริหารจัดการไฟป่า โดยได้มีการให้ความสำคัญกับพื้นที่ตำบล หมู่บ้าน ได้เข้ามามีส่วนร่วมกับฝ่ายปกครองท้องที่ ทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์กรปกครองท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในพื้นที่ เพื่อควบคุมพื้นที่ไม่ให้เกิดไฟ โดยได้มีการจัดทำแผนการบริหารจัดการเชื้อเพลิง การจัดทำแนวกันไฟ รวมถึงการจัดกองกำลังลาดตะเวนในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อให้สามารถลดจุดความร้อน (Hotspot) รวมถึงพื้นที่เสียหายจากการเผาไหม้ลง 25% จากปีที่ผ่านมาตามเป้าหมายที่ได้วางไว้ อย่างไรก็ตาม จะต้องมีการติดตามสถานการณ์ทุกระยะอย่างใกล้ชิด ซึ่งสิ่งที่เป็นห่วงในขณะนี้คือสภาพภูมิอากาศ อันเป็นปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ จนส่งผลให้คุณภาพของอากาศไม่ดีเท่าที่ควร หรือส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งกรณีนี้ ก็ได้มีการนำข้อมูลเรื่องของภูมิอากาศ มาบริหารจัดการในบริเวณแต่ละพื้นที่ให้ดียิ่งขึ้นด้วย

ร่วมแสดงความคิดเห็น