ผวจ.แพร่นำทีมคณะศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จ.แพร่ลงพื้นที่อ.ลอง ติดตามการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ไฟป่าและหมอกควัน ประจำปี 2564

เมื่อบ่ายวันที่3 ก.พ.64เวลา 13.30 น. ที่ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอลอง จังหวัดแพร่ นายสมหวัง พ่วงบางโพ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ พร้อมด้วยรองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดแพร่ (ฝ่ายทหาร) ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดแพร่ ท้องถิ่นจังหวัดแพร่ หัวหน้าสำนักทรัพยากรป่าไม้ที่ 13 ประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่ ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดแพร่ ลงพื้นที่เพื่อตรวจติดตามการดำเนินงานการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งไฟป่าและหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5


นายจรินทร์ เก่งสงวนสิทธิ์ นายอำเภอลองได้บรรยายสรุปภาพรวมของการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งของอำเภอลองในปี 2564 พบว่าสถานการณ์ภัยแล้งดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา สืบเนื่องจากอำเภอลองมีแหล่งน้ำขนาดเล็กจำนวน 13 แห่ง สามารถบรรจุน้ำได้ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันมีน้ำสำรองไว้ใช้อุปโภค-บริโภค จำนวน 68 % ด้วยการกั้นลำน้ำยมและแม่น้ำสาขาในพื้นที่จำนวน 47 จุดเป็นแม่น้ำยม 11 จุด แม่น้ำสาขา 36 คาดว่าสามารถมีน้ำเพียงพอต่อการอุปโภค-บริโภค นอกจากนั้นยังมีแผนงานโครงการที่เสนอของบประมาณเร่งด่วนของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เพื่อสร้างฝายคอนกรีตเสริมเหล็ก หมู่ 1 ตำบลบ่อเหล็กลอง สร้างรางระบายน้ำหมู่ 8 ตำบลเวียงต้า ปัญหาที่พบในการดำเนินการตามแผนงานโครงการคือ ติดพื้นที่ป่าสงวนทำให้การดำเนินการชะลอ หรือยกเลิกโครงการไป


สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาวิกฤตของอำเภอลอง ได้มีแผนรองรับการแจกจ่ายน้ำไว้แล้ว มีรถบรรทุกน้ำทุกพื้นที่ แต่ยังมีหมู่บ้านที่เป็นพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งจำนวน 3 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านเหล่าศรีภูมิ ตำบลเวียงต้า บ้านแม่แขมหมู่ 5 ตำบลบ่อเหล็กลอง และบ้านค้างตะนะ หมู่ 6 ตำบลบ่อเหล็กลอง โดยได้จัดทำแผนงานโครงการเสนอของบประมาณจากทางจังหวัดแล้ว การแก้ไขปัญหาในเบื้องต้นได้แจ้งให้ อบจ.แพร่ มาสำรวจในการขุดสระหนองหลวง เพื่อเพิ่มความลึก และได้สำรวจเพื่อเจาะบ่อบาดาล ขนาดลึก 150 เมตร เพื่อแก้ไขปัญหาในระยะยาว


ด้านการแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 อำเภอลองมีแนวทางตามมาตรการของจังหวัด จำนวน 5 มาตรการ ได้แก่ มาตรการศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ระดับอำเภอ มีการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาตรการที่ 2 ลดปริมาณเชื้อเพลิง ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและชุมชนจัดทำธนาคารใบไม้ มาตรการที่ 3 การบังคับใช้กฎหมาย ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเข้มข้น มาตรการที่ 4 สร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชน อบรมกลุ่มเสี่ยง และประชาสัมพันธ์ผ่านเสียงตามสาย หอกระจายข่าวหมู่บ้าน มาตรการที่ 5 จิตอาสาประชารัฐ สร้างเครือข่ายความร่วมมือในการป้องกันจาก 24 เครือข่ายเป็น 42 เครือข่าย เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยภาพรวมของการเกิดจุดความร้อนห้วงเดือนมกราคม 2563 จำนวน345ครั้งปี 2564 จำนวน 40 ครั้ง นับเป็นความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและประชาชนในพื้นที่มากขึ้น

ร่วมแสดงความคิดเห็น