การเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และชุมชน

วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2564 กองทัพภาคที่ 3 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 แถลงข่าวประชาสัมพันธ์ ประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 119 ณ ศูนย์ประชาสัมพันธ์ กองทัพภาคที่ 3 ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก โดยมี พันเอก รุ่งคุณ มหาปัญญาวงศ์ โฆษกกองทัพภาคที่ 3 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 พร้อมด้วย พันเอก นายแพทย์ วิโรจน์ ชนม์สูงเนิน รองโฆษกฯ, พันโท วรปรัชญ์ กาศสกุล และ พันโท หญิง บุณฑริกา ฑีฆวาณิช ผู้ช่วยโฆษกฯ เป็นผู้แถลงข่าวฯ มีสาระสำคัญดังนี้

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงก่อตั้งโครงการหลวง ขึ้น ในปี พ.ศ. 2512 ด้วยพระราชปณิธาน “ช่วยชาวเขา ช่วยชาวเรา ช่วยชาวโลก” โดยการแก้ที่เหตุแห่งปัญหา คือความยากจน ด้วยหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อที่จะแก้ไขความยากจนและทุกข์ยากของประชาชนบนพื้นที่สูง เนื่องจากความห่างไกลและยากลำบากของพื้นที่ จึงขาดทางเลือกในการประกอบอาชีพ ซึ่งเป็นต้นเหตุของการปลูกฝิ่น และการทำไร่เลื่อนลอย สร้างปัญหาสำคัญแก่ประเทศ คือ ยาเสพติด การเสื่อมโทรมของป่าต้นน้ำลำธาร และยังส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ อีกทั้งข้อจำกัดในการเข้าถึงการพัฒนาของภาครัฐ การขาดวิธีการ และองค์ความรู้ในการแก้ปัญหา จึงเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบ ทั้งต่อประชาชนและความมั่นคงของประเทศ ซึ่งการดำเนินงานยาวนานกว่า 50 ปี ก่อให้เกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชน การแก้ไขปัญหาของประเทศ รวมทั้งได้การยอมรับจากองค์การสหประชาชาติ ว่าเป็นรูปแบบการพัฒนาที่ยั่งยืน และส่งเสริมให้นานาประเทศได้เรียนรู้และนำไปใช้ประโยชน์
อย่างไรก็ตามพื้นที่สูงของประเทศไทยนั้น มีมากกว่า 4,000 หมู่บ้าน ประกอบกับการเพิ่มขึ้นของประชากรและค่าใช่จ่ายในครัวเรือน ปัญหาความยากจน และการขยายทำการเกษตร เพื่อดำรงชีวิตจึงยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกล และทุรกันดารมากๆ ทำให้เกิดปัญหาต่อเนื่อง คือสูญเสียพื้นที่ป่า หมอกควัน และผลกระทบจากสารเคมีทางการเกษตร เมื่อปี พ.ศ. 2548 คณะรัฐมนตรีฯ จึงได้มีมติจัดตั้ง “สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน)” ขึ้น เพื่อขยายผลสำเร็จของโครงการหลวงไปสู่การแก้ไขปัญหาของประเทศ โดยเฉพาะความยากจนและการเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้วยหลักและวิธีการพัฒนาที่ยั่งยืนแบบโครงการหลวง ซึ่งเป็นต้นแบบของการพัฒนาด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง คือ ศรีคีรีรักษ์

หลักการพัฒนาแบบโครงการหลวง คือ การพัฒนาเชิงพื้นที่ ยึดปัญหา ความต้องการ และภูมิสังคมของชุมชน เป็นเป้าหมายและขับเคลื่อนการพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต และการประกอบอาชีพ โดยใช้ข้อมูลและองค์ความรู้ ในการวิเคราะห์ วางแผน และดำเนินการ ภายใต้การพัฒนาแบบบูรณาการของหน่วยงานต่างๆ และการมีส่วนร่วมของประชาชน

วิธีการการพัฒนาสำคัญ เริ่มจากการแบ่งแยกพื้นที่เกษตรและพื้นที่ป่า เพื่อป้องกันการบุกรุกด้วยการจัดทำแผนที่การใช้ประโยชน์ที่ดิน และแผนที่ดินรายแปลงของเกษตรกร จากนั้น ปรับระบบการทำการเกษตรให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีรายได้พอเพียง ด้วยพืชพรรณที่ให้ผลตอบแทนสูงในพื้นที่จำกัด วิธีการผลิตอย่างประณีต มีมาตรฐานอาหารปลอดภัย และการจัดการด้านตลาดด้วยสถาบันเกษตรกร ภายใต้การสนับสนุนของหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะด้านการพัฒนาปัจจัยพื้นฐานต่างๆ จากนั้น สร้างความเข้มแข็งและส่งเสริมชุมชนในการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่า ดิน และน้ำ เพื่อให้อุดมสมบูรณ์ และใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน

ปัจจุบัน ชุมชนบนพื้นที่สูง 44 พื้นที่ จำนวน 616 แห่ง ในพื้นที่ 8 จังหวัด (จังหวัดกำแพงเพชร, จังหวัดเชียงใหม่, จังหวัดกาญจนบุรี, จังหวัดเพชรบูรณ์, จังหวัดเชียงราย, จัดหวัดน่าน, จังหวัดตาก และจังหวัดแม่ฮ่องสอน) สำหรับในพื้นที่ภาคเหนือนั้น สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ได้ร่วมกับทุกภาคส่วน ดำเนินการพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จากการประกอบอาชีพเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และชุมชน มีความเข้มแข็งและมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ และมีหลากหลายชุมชุนที่เป็นต้นแบบ และแหล่งเรียนรู้การพัฒนาอย่างยั่งยืนแบบโครงการหลวง จนประสบความสำเร็จ ได้แก่

1) จังหวัดตาก โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงผาผึ้ง – ศรีคีรีรักษ์ รางวัลเลิศรัฐสาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทสัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วม ระดับดี เรื่อง “คนสร้างป่า” ต้นแบบการพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่ โดยกระบวนการมีส่วนร่วม

2) จังหวัดแม่ฮ่องสอน โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงสบเมย รางวัลเลิศรัฐสาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทสัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วม ระดับดีเด่น เรื่อง “คู่วิถีคนอยู่ร่วมกับป่า ลดพื้นที่ทำไร่หมุนเวียน”

3) จังหวัดน่าน โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่จริม รางวัลเลิศรัฐสาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทสัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วม ระดับดี เรื่อง แม่จริม : ชุมชนลดการเผาด้วยวิถีเกษตรตามแนวทางโครงการหลวง

4) จังหวัดเชียงใหม่ โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่มะลอ รางวัลเลิศรัฐสาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทสัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วม ระดับดี เรื่อง “บ่อน้ำร่วมแบ่งปัน : ระบบน้ำเพื่อการเกษตร”และโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงปางแดงใน รางวัลสาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทสัมฤทธิ์ผลประชาชนมีส่วนร่วม ระดับดี เรื่อง “ปางแดงใน จากภูเขาสีทองสู่ภูเขาสีเขียว”

ในการนี้ พลโท อภิเชษฐ์ ซื่อสัตย์ แม่ทัพภาคที่ 3/ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 ขอเชิญชวน พี่น้องประชาชนทั้ง 17 จังหวัดภาคเหนือ ร่วมกันให้การสนับสนุนกิจกรรมของสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ในกิจกรรมดังกล่าว โดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 และทุกส่วนราชการ พร้อมเป็นแนวร่วมสำคัญในการบูรณาการ เพื่อที่จะทำให้การเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และชุมชน ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน และร่วมสืบสานพระราชปณิธานสืบไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น