(มีคลิป) วิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่ เปิดโครงการประกวดผลงานศิลปนิพนธ์ ของนักศึกษา ประจําปี 2564

วันอาทิตย์ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2564 นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดโครงการประกวด ผลงานศิลปนิพนธ์ของนักศึกษา ประจําปี 2564 โดยมีนายกเหล่ากาชาดจังหวัดเชียงใหม่,ดร.เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่, เจ้านายฝ่ายเหนือ, คณะกรรมการสถานศึกษาวิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่, หัวหน้าส่วนราชการ, คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ, คณาจารย์ และแขกผู้มีเกียรติ ร่วมงาน ณ เวทีกลางแจ้ง ลานลีลาวดี วิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่

นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า“การศึกษาต้องมุ่งสร้างพื้นฐานให้แก่นักเรียน 4 ด้าน คือ (1) มีทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง (2) มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง-มีคุณธรรม (3) มีงานทำ-มีอาชีพ (4) เป็นพลเมืองดี”พระบรมราโชบายด้านการศึกษาในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามมินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ล้นเกล้าในรัชกาลที่ 10 ถือเป็นแนวทางสำคัญ ในการจัดการศึกษาที่มุ่งหวังให้นักเรียน นักศึกษา มีความรู้ควบคู่กับคุณธรรม รู้จักบทบาทหน้าที่ ของตนเอง รู้จักคิด ตัดสินใจ และแก้ปัญหาอย่างมีเหตุผล มีค่านิยมที่ดีงาม มีจิตสาธารณะ เอื้อเฟื้อต่อผู้อื่น สามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข

การจัดงานในวันนี้ ทำให้ทุกท่านประจักษ์เห็นชัดถึงความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ ความมุ่งมั่นตั้งใจของนักศึกษาที่ค้นคว้าหาข้อมูลในเชิงรุกเพื่อพัฒนาวิทยาการความรู้ความสามารถที่ได้ร่ำเรียนมา บวกกับประสบการณ์ที่ได้รับการถ่ายทอดศิลปวิทยาจารย์จากพ่อครูแม่ครู บ่มเพาะ สั่งสมจนได้ผลิตผลงานศิลปนิพนธ์ที่มีคุณค่า อย่างน่าภาคภูมิใจ สะท้อนให้เห็นถึงความตระหนัก และความรับผิดชอบในการพัฒนาชาติให้มีความมั่นคงเจริญรุ่งเรืองด้วยการแสดงออกทางศิลปวัฒนธรรม อันเป็นมรดกของชาติ ที่เกิดในจิตสำนึกของนักศึกษาทุกคน

การส่งเสริมมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ ในด้านศิลปะการแสดงนาฏศิลป์ ขับร้องและดนตรี ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ วัฒนธรรม สังคมจังหวัดเชียงใหม่เป็นเมืองที่มีบรรยากาศความเป็นเสน่ห์เมืองท่องเที่ยว เมืองแห่งวัฒนธรรม และความอบอุ่นของชาวเชียงใหม่ เป็นเมืองที่ได้รับรางวัลที่ 1 “เมืองน่ารัก ผู้คนเป็นมิตร”, รางวัลที่ 3 “เมืองท่องเที่ยวและพักผ่อนที่ดีที่สุดในโลก”และล่าสุดได้รับรางวัล “เมืองที่เป็นมิตรกับนักท่องเที่ยวมากที่สุดในโลก” สิ่งที่นักท่องเที่ยวนิยมคือการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ดังนั้น การส่งเสริม อนุรักษ์ พัฒนา และต่อยอดงานทางด้านศิลปวัฒนธรรม จึงมิได้เป็นเพียงการสร้างตำราเพื่อการศึกษาเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นการผสมผสานต่อยอดทางการคิด การวิเคราะห์และการสังเคราะห์ ให้เกิดการพัฒนาศิลปวัฒนธรรมให้กับชุมชน วิถีชีวิต ทั้งยังสร้างอัตลักษณ์ จากมรดกภูมิปัญญาของบรรพชนไทย ให้เกิดงานสร้างสรรค์ที่ผสมผสาน บูรณาการสอดคล้องกับความต้องการด้านการท่องเที่ยว การอนุรักษ์และส่งเสริมวัฒนธรรม เพื่อสร้างคน สร้างชาติ และสร้างเศรษฐกิจให้กับชุมชนมีอาชีพ มีงานทำอย่างยั่งยืนต่อไป

การจัดโครงการประกวดศิลปนิพนธ์ของนักศึกษาในครั้งนี้ เป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์ต่อนักศึกษาทุกคน ฝึกให้รู้จักการทำงานเป็นทีม การกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ ทำให้ได้รังสรรค์ศิลปนิพนธ์ที่งดงาม ประทับใจ ขอชื่นชมและขอเป็นกำลังใจให้นักศึกษาทุกคนตั้งใจนำเสนอผลงานการประกวดครั้งนี้ให้ดีที่สุด

ดร.กษมา ประสงค์เจริญ ผู้อำนวยการวิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่ กล่าวว่า ขอกราบขอบพระคุณที่ท่านให้เกียรติสละเวลาอันมีค่า มาเป็นประธานเปิดโครงการประกวดผลงานศิลปนิพนธ์ของนักศึกษา ประจำปี 2564 การจัดโครงการในครั้งนี้   มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้นักศึกษาได้สร้างผลงานนวัตกรรมการเรียนการสอนหรืองานวิจัยด้านศิลปวัฒนธรรมในเชิงอนุรักษ์และสร้างสรรค์ โดยส่งเสริมให้นักศึกษา นำเสนอและเผยแพร่การวิจัยจากการศึกษาค้นคว้าตามกระบวนการและระเบียบวิธีวิจัยในรูปแบบของการแสดงเชิงวิชาการ เพื่อต่อยอดมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ ให้สอดคล้องกับค่านิยมองค์กรของสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ “มุ่งมั่นพัฒนา ก้าวหน้าวิชาการ สืบสาน งานศิลป์” และส่งเสริมให้นักศึกษาได้พัฒนาศักยภาพของตนเองในด้านวิชาการและวิชาชีพด้านดนตรีและนาฏศิลป์ รวมไปถึงการส่งเสริมให้นักศึกษามีความรู้ ประสบการณ์ มีทักษะในการทำงาน และส่งเสริมแรงจูงใจในการพัฒนาวิจัยศิลปนิพนธ์ของนักศึกษาสืบไป

สำหรับการนำเสนอศิลปนิพนธ์ของนักศึกษาระดับปริญญาตรีชั้นปีที่ 4 ประจําการศึกษาปี 2564 ประกอบด้วย
การแสดงชุดที่ 1.กลองตึ่งโนง
การแสดงชุดที่ 2. การบรรเลงมองแคง (ฆ้องแผง) จ้าดไต
การแสดงชุดที่ 3.ซอเก็บนก: กรณีศึกษา พ่อครูสายัณห์ คำทิพย์ โพธิ์ทอง
การแสดงชุดที่ 4.ฟ้อนเทวีศรีหริภุญชัย
การแสดงชุดที่ 5.ฟ้อนกลองมองเซิง
การแสดงชุดที่ 6.ฟ้อนน้ำต้นวิจิตรลิขิตสร้างสรรค์
การแสดงชุดที่ 7.ฟ้อนก่ำเบ้อ

ขอขอบคุณแขกผู้มีเกียรติทุกท่าน ที่กรุณาสละเวลาอันมีค่ามาร่วมเป็นผู้รับรอง เสนอแนะ ชื่นชม และแสดงความคิดเห็นที่มีคุณค่าเพื่อการพัฒนาปรับปรุงต่อยอดมรดกทางศิลปวัฒนธรรมชาติให้กับนักศึกษาต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น