รพ.ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พัฒนาระบบการรายงาน และวิเคราะห์ผลตรวจร่างกายให้กับกำลังพลประจำปี ด้วยโปรแกรม NAH Smart Health ผลตรวจรวดเร็วและทันสมัย ประชาชนใช้บริการได้ด้วย

เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 กองทัพภาคที่ 3/กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 แถลงข่าวประชาสัมพันธ์ ประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 121 ณ ศูนย์ประชาสัมพันธ์ กองทัพภาคที่ 3 ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก โดยมี พันเอก รุ่งคุณ มหาปัญญาวงศ์ โฆษกกองทัพภาคที่ 3/กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 พร้อมด้วย พันเอก นายแพทย์ วิโรจน์ ชนม์สูงเนิน รองโฆษกฯ, พันโท วรปรัชญ์ กาศสกุล และ พันโท หญิง บุณฑริกา ฑีฆวาณิช ผู้ช่วยโฆษกฯ เป็นผู้แถลงข่าวฯ มีสาระสำคัญดังนี้

โรงพยาบาลค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นโรงพยาบาลในสังกัดกองทัพภาคที่ 3 ดูแลรับผิดชอบการตรวจสุขภาพให้กับกำลังพลกองทัพภาคที่ 3 ในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งประกอบไปด้วยกำลังพลภายในค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช, ค่ายสมเด็จพระเอกาทศรถ, ค่ายบรมไตรโลกนารถ และค่ายสฤษดิ์เสนา โดยแต่ละปีจะมีกำลังพลที่ต้องเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี ประมาณ 5,000 – 6,000 นาย

แต่จากการดำเนินงานที่ผ่านมา การตรวจร่างกายประจำปี และการส่งผลการตรวจร่างกายประจำปี พบว่ามีความล่าช้า ทั้งในการตรวจและการส่งผลการตรวจให้กับกำลังพล และหน่วยต้นสังกัด รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งใช้เวลาประมาณ 45 วันทำการ เนื่องจากการเข้าถึงระบบการคัดกรองที่ไม่ครอบคลุมอันเกิดจากหลายสาเหตุ ได้แก่ แต่ละหน่วยมีพื้นที่ห่างไกลจากโรงพยาบาล, กำลังพลที่ปฏิบัติราชการนอกพื้นที่ตั้งของหน่วย, ระบบการคัดกรองแบบเดิมที่มีจำนวนบุคลากรสุขภาพที่ไม่เพียงพอ และการใช้ระบบการลงบันทึกข้อมูลจากการคัดลอกลงสมุดประจำตัวของกำลังพล ทำให้เกิดการบันทึกข้อมูลที่ผิดพลาด

ดังนั้น โรงพยาบาลค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จึงได้พัฒนาระบบการรายงาน และวิเคราะห์ผลตรวจร่างกายให้กับกำลังพลด้วยการนำระบบสารสนเทศมาใช้ เพื่อให้การส่งผลตรวจร่างกายและการคัดกรองของกำลังพลมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเริ่มคิดค้นออกแบบพัฒนา โปรแกรม NAH Smart Health โปรแกรมการวิเคราะห์ผลตรวจร่างกาย โดยการนำข้อมูลการตรวจร่างกายที่บันทึกลงในโปรแกรมบริหารงานของโรงพยาบาล เข้าสู่กระบวนการการวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้น ผ่าน Web Application ที่ทางโรงพยาบาลได้พัฒนาขึ้นเอง พัฒนาต่อเนื่องให้สามารถดูข้อมูลในโทรศัพท์มือถือ NAH Mobile รวมถึงการให้ผู้บังคับหน่วยสามารถดูข้อมูลสุขภาพของผู้ใต้บังคับบัญชาผ่านระบบ Web Application อีกทั้งยังมีประโยชน์แก่ประชาชนและผู้ใช้บริการ ดังนี้

1. สามารถส่งข้อมูลผลตรวจร่างกายประจำปีของกำลังพล แบบ Real-Time ได้ ลดขั้นตอน ลดระยะเวลาในการเข้าถึงข้อมูลสุขภาพของกำลังพล เพื่อที่จะได้นำข้อมูลของตนเองมาเปรียบเทียบย้อนหลัง เพื่อให้เห็นแนวโน้มในการดูแลสุขภาพ เพื่อเป็นการลดความเสี่ยง ป้องกันการเกิดโรคของกำลังพล ได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
2. จากข้อมูลการวิเคราะห์ผลการตรวจร่างกาย สามารถแยกประเภทการดูแลรักษา โดยแบ่งเป็นกลุ่มเสี่ยง และกลุ่มป่วย เพื่อส่งข้อมูลต่อให้กับสหวิชาชีพในการดูแลกลุ่มที่เกี่ยวข้องในเชิงรุก
3. สามารถลดต้นทุนจากการจัดทำสมุดสุขภาพได้ปีละ 150,000 บาท เหลือปีละ 3,500 บาท เพื่อเป็นค่าปรับปรุง Mobile Application เท่านั้น

ซึ่งจากผลงานที่ได้ดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้รับได้รับรางวัลต่างๆ และการคัดเลือกไปนำเสนอผลงาน ดังนี้
1. รางวัล รองชนะเลิศอันดับ 1 จาก คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร, สถาบันการรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) ประจำปี 2560 การนำเสนอผลงานโปสเตอร์การพัฒนาคุณภาพโครงการประชุมวิชาการการพัฒนาคุณภาพระดับภาค ของสาธารณสุข เขต 2 และ3 (Regional Forum) เรื่อง โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการรายงานผลตรวจร่างกายประจำปีของกำลังพล ผ่านโปรแกรมแอปพลิเคชัน NAH Smart Health
2. รางวัล ผลงานระดับดีเด่น ประจำปี 2561 จากกองทัพภาคที่ 3 จากการประกวดกิจกรรมติดดาวผลงานการจัดการความรู้คุณภาพ ประจำปี 2561 เรื่อง โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการรายงานผลตรวจร่างกายประจำปีของกำลังพล ผ่านโปรแกรมแอปพลิเคชัน NAH Smart Health
3. รางวัล ผลงานระดับดีเด่น ประจำปี 2561 จากกองทัพบก กระบวนการการจัดการความรู้มาใช้เป็นเครื่องมือในการปรับปรุงพัฒนา และยกระดับประสิทธิภาพกระบวนการปฏิบัติงาน และได้สร้างสรรค์ผลงานการจัดการความรู้ ประจำปีงบประมาณ 2561 เรื่อง โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการรายงานผลตรวจร่างกายประจำปีของกำลังพล ผ่านโปรแกรมแอปพลิเคชัน NAH Smart Health
4. รางวัล ผลงานระดับดีเด่น ประจำปี 2562 จากกองทัพบก เป็นหน่วยที่นำกระบวนการจัดการความรู้ (Knowledge Management: KM) มาใช้เป็นเครื่องมือในการปรับปรุงพัฒนา และยกระดับประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน และได้สร้างสรรค์ผลงานการจัดการความรู้ ประจำปีงบประมาณ 2562 ระดับดีเลิศ เรื่อง โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการคัดกรองผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงโรคหัวใจ ด้วยระบบโปรแกรมแอปพลิเคชัน NAH Smart Health
5. ได้รับคัดเลือกนำเสนอผลงานและผลิตภัณฑ์ซึ่งเกิดจากการประดิษฐ์คิดค้นในงาน “วันนักประดิษฐ์” ประจำปี 2563 เรื่อง รายงานผลตรวจอัจฉริยะ NAH Smart Health

 

ร่วมแสดงความคิดเห็น