หนุ่ม “สตรีทอาร์ต” โชว์ผลงานสุดเก๋ ลวดลายหลากสีสัน บนตู้โหลดไฟถนนสายท่าแพเชียงใหม่ เผยได้รับอนุญาตอย่างถูกต้อง หวังให้เป็นศิลปะอยู่คู่ชุมชน

ภายในตัวเมืองเชียงใหม่ ที่บริเวณถนนสายท่าแพ อ.เมืองเชียงใหม่ ได้พบว่าตู้โหลดของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นศิลปะที่เรียกว่า “สตรีทอาร์ต” ซึ่งเป็นศิลปะร่วมสมัยสะดุดตาบนตู้ไฟ ที่ตั้งตามจุดต่างๆ บนถนนสายดังกล่าว จนกลายเป็นผลงานที่ได้รับความสนใจ มีประชาชนและนักท่องเที่ยวจำนวนมาก เดินทางมาถ่ายรูป แต่ก็มีหลายคนที่สงสัยอยู่ว่า ผลงานดังกล่าวเกิดมาจากใคร และมีวัตถุประสงค์เพื่ออะไร รวมไปถึงการกระทำของงานศิลปะที่เกิดขึ้นนี้ ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องให้มีการดำเนินการหรือไม่ โดยในเวลาต่อมาทางผู้สื่อข่าวจึงได้ลงพื้นที่ตรวจสอบ ซึ่งพบว่าตู้ไฟหลายตู้ตามจุดต่างๆ ที่บริเวณถนนสายท่าแพ ตลอดจนบริเวณลานประตูท่าแพนั้น พบว่าตู้ไฟเหล่านี้ถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นงานศิลปะ “สตรีทอาร์ต” หลากสีสันสวยงาม และเป็นที่สะดุดตาของคนที่พบเห็น โดยแต่ละจุด แต่ละตู้ก็จะมีลวดลายที่แตกต่างกันออกไป และจากการตรวจสอบข้อมูลจึงทำให้ทราบว่า ผลงานเหล่านี้เป็นของ นายณัทฎ์ เด่นดวง อายุ 36 ปี ศิลปิน “สตรีทอาร์ต” ที่อาศัยอยู่ใน จ.เชียงใหม่ มากว่า 15 ปี ที่ร่วมกับกลุ่มเพื่อนช่วยกันทำ โดยถ่ายทอดจินตนาการลงบนตู้ไฟ ที่เจ้าตัวได้ดำเนินการยื่นเรื่องขออนุญาตในการทำผลงานมากว่า 3 ปี จนกระทั่งได้รับอนุญาตจากทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ให้สามารถดำเนินการได้ และกลายมาเป็นศิลปะให้ได้เห็นกันในขณะนี้

ทั้งนี้ต่อมา ทางผู้สื่อข่าวได้ติดต่อสอบถามไปทางด้าน นายณัทฎ์ เด่นดวง อายุ 36 ปี เจ้าของโปรเจ็คโครงการเปลี่ยนสีพื้นผิว ตู้โหลดของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซึ่งทางเจ้าตัวได้เล่าว่า ศิลปะดังกล่าวมีที่มาที่ไปจากการที่ตนเป็นคนที่ทำงานเกี่ยวกับ กราฟฟิตี้สตรีทอาร์ท อยู่แล้ว จึงเข้าใจวัฒนธรรมประมาณหนึ่งว่า หากมีโอกาสได้ไปเที่ยวเมืองไหน หรือสถานที่ต่างถิ่น คนที่เป็นกราฟฟิตี้ ก็จะมีการลงลายเซ็นไว้ตามตู้ไฟ ตู้โทรศัพท์ หรืออะไรก็ตามที่เป็นสาธารณะสมบัติ ที่บางทีคนในเมืองไม่ได้เข้าใจหรือมีความชื่นชอบในแบบเดียวกัน และเมื่อเวลาผ่านไปนานก็อาจทำให้ดูทรุดโทรม หรือดูสกปรกตามความรู้สึกของบางคน ดังนั้นในฐานะที่ตนทำงานประเภทเดียวกัน จึงอยากทำให้งานมันปรากฏออกมาเป็นงานที่สวยงาม โดยการไปปิดทับงานเก่าไว้อีกรอบ แม้ว่าวันหนึ่งมันจะผ่านกาลเวลาแล้วทรุดโทรมก็ค่อยทำใหม่ ตนจึงมีแนวคิดเริ่มต้นโครงการดังกล่าว และได้ดำเนินการเข้าพูดคุยกับทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

โดยผลงานทั้งหมดที่ทำไปนั้น อาจจะไม่ได้มีความจำเป็นที่จะต้องเป็นเอกลักษณ์ของเชียงใหม่โดยสิ้นเชิง ซึ่งตนรู้สึกว่าคนเชียงใหม่ อาจจะไม่ได้ต้องการความเป็นเชียงใหม่ไปเสียทั้งหมด ซึ่งบางชิ้นงานที่ทำไว้ก็มีการนำลวดลายล้านนามาใช้ และทำเพียงให้รู้สึกว่าเป็นตัวงานที่มีความสวยงาม และสามารถอยู่กับชุมชนได้ โดยที่คนที่อยู่ในชุมชนรู้สึกดีกับมัน และอยากรักษามันไว้ โดยงานของตนก็จะมีงานแนว ป๊อปอาร์ท หรือสิ่งที่คุ้นตาแต่ไม่ได้สนใจนำมาใส่ลงในพื้นที่ตรงนั้น อย่างเช่น โซนที่เป็นลายผ้าลีซอ หรือเป็นลายหมอนขิด เนื่องจากบริเวณดังกล่าว ก็เป็นถนนที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติผ่านไปมาเยอะ และมีการขายผ้าพื้นเมือง ตนจึงหยิบตรงจุดนี้มาเพื่อให้เป็นจุดสังเกตเห็นว่า บริเวณโซนดังกล่าวมีจุดเด่นอะไร และอย่างเช่นโซนที่เป็นงาน ป๊อปอาร์ท ก็อาจเป็นงานที่ต้องการให้รู้สึกว่ามีความสดใสเป็นสีสัน และเป็นการประชาสัมพันธ์องค์กรไปในตัวด้วย

สำหรับผลงานที่ดำเนินการทำไปแล้วนั้น ประกอบด้วย ตู้โหลดใหญ่ตรงบริเวณประตูท่าแพ 2 ตู้ ที่อยู่ฝั่งซ้ายและขวาของประตู ส่วนตู้เล็กมีทั้งหมด 19 ตู้ ตั้งแต่บริเวณลงสะพานนวรัฐมาจนถึงข่วงประตูท่าแพ โดยในส่วนของโปรเจ็คที่จะทำต่อหลังจากนี้ ก็จะเป็นไปตามไตรมาสของปีงบประมาณ และตามความเหมาะสมที่ทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องทำ โดยหากมีโปรเจ็คเข้ามา ทางตนและทีมงานก็จะมาออกแบบว่า แต่ละจุดควรจะเป็นแบบไหน เนื่องจากแต่ละงานต้องดูบริบทของสถานที่นั้นๆ ด้วย ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่จะต้องพูดคุยกันกับทางเจ้าหน้าที่ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคตลอด ซึ่งแต่ละตู้นั้นก็จะใช้เวลาไม่เท่ากัน ประกอบกับเสน่ห์ของการเป็น “สตรีทอาร์ต” นั้นอยู่ที่ความรวดเร็ว ซึ่งอาจจะทำเสร็จภายในเวลา 2 วัน หากเป็นตู้โหลดใหญ่ ส่วนตู้โหลดเล็กก็จะนับเป็นชั่วโมง แต่โดยส่วนตัวตนก็ไม่ได้อยากให้งานรีบเร่ง และอยากให้งานออกมาดี จึงต้องให้เวลากับแต่ละชิ้นงาน

นายณัทฎ์ บอกอีกว่า อย่างไรก็ตาม ในส่วนของฟีดแบค เกี่ยวกับผลงานของตนที่ทำไปนั้น หากเกี่ยวกับการทำงานหรือการพูดคุยทั่วไป ตนก็ได้รับฟีดแบคกลับมาในแง่ที่ดีโดยส่วนใหญ่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นตนก็เชื่อว่าทุกอย่างมักมี 2 ด้าน ทั้งคนที่ชอบและไม่ชอบ ซึ่งบางคนอาจจะมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้มันใหม่ไป หรือบางคนอาจจะได้ตัวงานเก่าๆ แต่ตนก็แค่อยากให้ลองเปิดใจดู ซึ่งสิ่งที่ตนทำก็พยายามทำให้เข้ากับบริบทของสิ่งแวดล้อม ซึ่งหากวันหนึ่งมันยังอยู่ได้ก็แปลว่า ผลตอบรับก็น่าจะมาในด้านบวกมากกว่าสำหรับตน

ร่วมแสดงความคิดเห็น