(มีคลิป) อธิบดี ปภ. เยี่ยมศูนย์บัญชาการแก้ไขไฟป่าฯ เชียงใหม่ ชี้การนำเทคโนโลยีมาช่วยบริหารจัดการเป็นระเบียบระบบ รับเป็นต้นแบบที่ดีควรให้ทุกพื้นที่นำไปปรับใช้

วันที่ 21 ก.พ. 64 ที่ศูนย์บัญชาการป้องกัน และแก้ไขปัญหาไฟป่า และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 จังหวัดเชียงใหม่ นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัย พร้อมคณะ เดินทางตรวจเยี่ยม และให้กำลังใจคณะทำงานในศูนย์บัญชาการฯ โดยมี นายรัฐพล นราดิศร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมคณะทำงานศูนย์บัญชาการฯ ให้การต้อนรับ และบรรยายสรุปถึงกรอบการทำงาน แนวทางการบริหารจัดการไฟป่า และฝุ่นละอองของจังหวัดเชียงใหม่ ประจำปี 2564

นายรัฐพล นราดิศร รอง ผวจ.เชียงใหม่ กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาไฟป่าฝุ่นควันของจังหวัดเชียงใหม่ในปีนี้ได้มีการออกประกาศห้ามเผาโดยเด็ดขาดตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 64 เป็นต้นมา และศูนย์บัญชาการฯ นี้ได้จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 7 ม.ค. และมีการประชุมกันทุกวันเพื่อพิจารณารับทราบการบริหารจัดการเชื้อเพลิงในแต่ละพื้นที่ ซึ่งเป็นไปตามประกาศจังหวัดเชียงใหม่ในการกำหนดให้บางพื้นที่ที่จำเป็นต้องการบริหารจัดการเชื้อเพลิงก็ให้แจ้เข้ามายังศูนย์บัญชาการฯ การบริหารจัดการจะแบ่งเป็น 2 ห้วงเวลา โดยในช่วงวันที่ 1 ม.ค. 64 ถึงวันที่ 28 ก.พ. 64 จะเป็นการบริหารจัดการในพื้นที่โซนใต้ หลังจากนั้นก็จะเป็นพื้นที่โซนเหนือ เนื่องจากเชื้อเพลิงที่ต้องบริหารจะแห้ง และพร้อมในการบริหารจัดการเริ่มจากโซนใต้ของเชียงใหม่ขึ้นไปทางเหนือ

“การบริหารจัดการเชื้อเพลิงก็จะให้สิทธิทางโซนใต้ก่อน จากนั้นวันที่ 1 มี.ค. 64 เป็นต้นไป ก็จะมีการบริหารจัดการทางโซนเหนือ โดยมีระบบแอพพลิเคชั่นรับจองเข้ามาล่วงหน้า 3 วัน ให้ศูนย์บัญชาการได้พิจารณาเปรียบเทียบกับสภาพของอากาศในห้วงเวลานั้น เหมาะสมกับการที่จะมีการบริหารจัดการเชื้อเพลิงหรือไม่มากน้อยเพียงใด จากนั้นก็จะเป็นการรับทราบการบริหารจัดการเชื้อเพลิงในแต่ละพื้นที่ที่ร้องขอ” รอง ผวจ.เชียงใหม่ กล่าว

นายรัฐพลฯ กล่าวต่อว่า สำหรับระดับพื้นที่ได้ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่เป็นหลักในการทำงาน โดยมีปลัดอำเภอประจำตำบลเป็นหัวหน้าคณะทำงาน โดยคณะทำงานประกอบด้วย นายก อปท. ปลัด อปท. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หน่วยป่าไม้ และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง บูรณาการเป็นคณะทำงาน เพื่อจัดทำแผนในระดับพื้นที่เพื่อให้รู้ว่าในพื้นที่ใดบ้างที่มีความต้องการในการบริหารจัดการเชื้อเพลิง การจะร้องขอบริหารจัดการมายังศูนย์บัญชาการฯ ก็ต้องร้องขอผ่านคณะทำงานระดับพื้นที่ชุดนี้ โดยให้เจ้าหน้าที่งานป้องกันของ อปท. นั้นๆ เป็นผู้คีย์ข้อมูลการร้องขอเข้ามายังระบบแอพพลิเคชั่นเพื่อให้คณะทำงานศูนย์บัญชาการฯ ได้พิจารณา

“การดำเนินการที่ผ่านมาเริ่มตั้งแต่วันเปิดศูนย์บัญชาการฯ วันที่ 7 ม.ค. 64 ได้มีการบริหารจัดการเชื้อเพลิงไปแล้ว 130,250.8 ไร่ ส่วนคำขอนี้มีเข้ามา 3 แสนกว่าไร่ ซึ่งทางศูนย์บัญชาการฯ รับทราบให้มีการบริหารจัดการ 1 แสนกว่าไร่ จากการตรวจสอบการปฏิบัติพบว่าจำนวนจุดความร้อนพบว่าในห้วงเวลาที่ผ่านมาจุดความร้อนลดลง เมื่อ 2 วันที่ผ่านมาได้มีการสั่งงดการบริหารจัดการเชื้อเพลิงเนื่องจากสภาพอากาศ และกระแสลมไม่ดี พบว่าจุดความร้อนลดลงและค่าคุณภาพอากาศดีขึ้น เบื้องต้นการบริหารจัดการเชื้อเพลิงโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม และใช้นวัตกรรมมาช่วยในการบริหารจัดการเบื้องต้นพบว่ามีประสิทธิภาพพอสมควร แต่ยังคงต้องมีการประเมินต่อไปอีกเนื่องจากปัจจัยที่เข้ามาเกี่ยวข้องมีมาก อาทิ การเกิดฝนในพื้นที่ ความชื้นแต่ละพื้นที่ที่แตกต่างกัน” รอง ผวจ.เชียงใหม่ กล่าว

ด้าน นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัย (อธิบดี ปภ.) กล่าวว่า ก่อนอื่นต้องชื่นชมกับการเตรียมข้อมูลเพื่อการแก้ไขปัญหาไฟป่าฝุ่นควันของจังหวัดเชียงใหม่ โดยนำนวัตกรรมมาใช้ประกอบการบริหารจัดการ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจ และน่าจะเป็นต้นแบบให้กับพื้นที่อื่นๆ ในนำไปปรับใช้ โดยอาศัยหลักการร่วมกันระหว่างวิถีชีวิต ป่า และการบริหารจัดการ การที่ทำเทคโนโลยีมาใช้จึงเหมือนเป็นตัวกลางในการเชื่อมวิถีชีวิตความจำเป็นกับภัยที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะการพยากรณ์ระบบระบายอากาศล่วงหน้าเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยการตัดสินใจได้ว่า ควรจะทำอะไรในช่วงเวลาไหน สำหรับพี่น้องประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

rbt
rbt
rbt

rbt

ร่วมแสดงความคิดเห็น