กองทัพภาค 3 ขอให้โรงพยาบาลทหารทั้ง 10 แห่ง ในพื้นที่ภาคเหนือ ได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์ เพื่อเฝ้าระวังโรคกามโรคของต่อมและท่อน้ำเหลือง ให้ประชาชนและทหารในกองทัพได้ทราบถึงโรคดังกล่าว

เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 กองทัพภาคที่ 3/กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 แถลงข่าวประชาสัมพันธ์ ประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 122 ณ ศูนย์ประชาสัมพันธ์ กองทัพภาคที่ 3 ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก โดยมี พันเอก รุ่งคุณ มหาปัญญาวงศ์ โฆษกกองทัพภาคที่ 3/กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 พร้อมด้วย พันเอก นายแพทย์ วิโรจน์ ชนม์สูงเนิน รองโฆษกฯ, พันโท วรปรัชญ์ กาศสกุล และ พันโท หญิง บุณฑริกา ฑีฆวาณิช ผู้ช่วยโฆษกฯ เป็นผู้แถลงข่าวฯ มีสาระสำคัญดังนี้.-

กามโรคของต่อมและท่อน้ำเหลือง เกิดจากการติดเชื้อ Chlamydia Trachomatis เข้าสู่ร่างกายทางแผลถลอก หรือเยื่อเมือกของอวัยวะเพศ แล้วแพร่ผ่านท่อน้ำเหลืองไปยังต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบ ต่อมาเกิดเป็นฝีหลายอันล้อมรอบต่อมน้ำเหลืองนั้น หากไม่รักษาฝีจะแตกออกเป็นแผลมีหนอง และจะลุกลามทำให้ท่อ และต่อมน้ำเหลืองอุดตันเกิดเป็นแผลเรื้อรัง หรือลุกลามไปยังอวัยวะข้างเคียง เช่น อวัยวะเพศบวม มีหนองปนเลือดไหลออกทางทวารหนัก เป็นต้น เชื้อมีระยะฟักตัวประมาณ 3 – 30 วัน (เฉลี่ย 1 – 2 สัปดาห์)

การวินิจฉัยโรคจากประวัติเคยมีเพศสัมผัส หรือเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วยที่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และลักษณะอาการ และอาการแสดงทางคลินิกดังกล่าวข้างต้น จากการตรวจบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ เพื่อหารอยโรคหรือภาวะแทรกซ้อน และจากการตรวจทางห้องปฏิบัติการ โดยการส่องตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์เพื่อดูลักษณะหนองจากท่อปัสสาวะ มีตกขาว มีหนองจากฝี มีน้ำเหลืองจากแผล หรือจากตำแหน่งอื่นที่สงสัยว่ามีการติดเชื้อ โดยนำสารคัดหลั่งจากรอยโรคมาย้อมสี ซึ่งจะพบสิ่งผิดปกติของเซลล์ หรือพบเม็ดเลือดขาวหรือติดสีต่าง ๆ ที่บ่งบอกถึงการติดเชื้อ และนำมาเพาะแยกเชื้อ โดยเพาะในอาหารเลี้ยงเชื้อหรือเซลล์เพาะเลี้ยงสำหรับเชื้อชนิดต่าง ๆ และตรวจทางน้ำเหลือง ซึ่งเป็นการทดสอบแอนติเจนและแอนติบอดีของเชื้อ นอกจากนี้ผู้ป่วยทุกรายควรได้รับการตรวจกรองสำหรับเชื้อซิฟิลิสด้วย


อาการผู้ป่วยจะมีแผลขนาดเล็กที่อวัยวะเพศ (ผู้ป่วยชายมักเป็นบริเวณหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ ผู้หญิงมักเป็นที่ผนังช่องคลอดด้านใน) แผลจะหายเองได้อย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่เกิน 1 สัปดาห์ ต่อมามีการอักเสบบวมโตเป็นก้อนของต่อมน้ำเหลือบริเวณขาหนีบ เป็นฝีหนอง ซึ่งอาจแตกมีหนองไหลออกมาและมีอาการทั่วไปร่วมด้วย เช่น มีไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ วิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน ปวดข้อ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด

การรักษาให้ยาต้านจุลชีพ เช่น Doxycycline รับประทาน 100 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง นาน 21 วัน หรือให้ Erythromycin หรือ Tetracycline รับประทานในขนาด 500 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง นาน 21 วัน เจาะดูดหนองออกจากฝีหรือต่อมน้ำเหลืองที่บวม และนัดผู้ป่วยมาติดตามผลการรักษา 6 เดือน หลังจากการรักษาเสร็จ

ในการนี้ พลโท อภิเชษฐ์ ซื่อสัตย์ แม่ทัพภาคที่ 3/ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 มีความห่วงใยต่อข้าราชการทหาร ในสังกัดกองทัพภาคที่ 3 และพี่น้องประชาชน ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ จึงได้มอบหมายให้โรงพยาบาลทหารทั้ง 10 แห่ง ในพื้นที่ภาคเหนือ ได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์ เพื่อเฝ้าระวังโรคดังกล่าว ซึ่งหากพบว่าตนเองหรือคนรอบข้างมีอาการบ่งชี้ หรือสงสัยว่าป่วยดังอากการตามขั้นต้น ขอให้ได้ไปพบแพทย์ ณ โรงพยาบาลทหารทั้ง 10 แห่งในพื้นที่ภาคเหนือ หรือโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขใกล้บ้าน เพื่อคัดกรอง วินิจฉัย และบำบัดรักษาต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น