กรมอนามัยลงพื้นที่ เสริมพลังความมั่นใจ และสร้างขวัญกำลังใจสถานศึกษาในพื้นที่ควบคุม พร้อมคุมเข้มตามมาตรการของกระทรวงสาธาณสุข สร้างความมั่นใจการเปิดเรียนใหม่

วันนี้ (25 กุมภาพันธ์ 2564) นายแพทย์สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลัง เป็นประธานประชุมขับเคลื่อนการพัฒนาด้านสุขภาพนักเรียนตามแนววิถีชีวิตใหม่(New Normal)แบบบูรณาการ ณ โรงเรียนบ้านบางจาก อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ว่า จากสถานการณ์การระบาดระลอกใหม่ของโรคโควิด – 19 ในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ พบผู้ป่วยสะสมทั้งหมด 365 ราย เป็นผู้ป่วยยืนยันรายล่าสุดพบเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นนักเรียนมัธยมโรงเรียนแห่งหนึ่ง เดินทางข้ามจังหวัดมาเรียน ทำให้สถานศึกษาต้องปิดการเรียนการสอน และเปิดในวันที่ 1 มีนาคม 2564 นี้

สำหรับมาตรการผ่อนคลาย ในสถานศึกษาตามประกาศศบค.เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา กำหนดให้พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สมุทรสาคร) เรียนออนไลน์เท่านั้น ส่วนพื้นที่ควบคุม 8 จังหวัด พื้นที่เฝ้าระวังสูง 14 จังหวัด และพื้นที่เฝ้าระวัง 54 จังหวัด ใช้วิธีการเรียนแบบปกติ/ผสมผสาน ซึ่งรูปแบบการเรียนการสอนผสมผสาน อาทิ on site online on air on demand หรือ on hand พิจารณาตามความเหมาะสมตามความพร้อมตามบริบทพื้นที่ ทั้งนี้กรณีตรวจพบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อโควิด – 19 ในสถานศึกษา ควรถือปฏิบัติตามแนวทางกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด กล่าวคือ เมื่อตรวจพบนักเรียนหรือผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อโควิด – 19 จำนวน 1 รายขึ้นไป หรือมากกว่า 1ห้องเรียน ให้ปิดห้องเรียนหรือชั้นเรียน เป็นเวลา 3 วัน เพื่อทำความความสะอาด หากจำเป็นต้อง ปิดสถานศึกษา ต้องขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด


“ทั้งนี้ โรงเรียนในพื้นที่ควบคุม สมุทรปราการ การเปิดเรียนใหม่ สถานศึกษาต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ประเมินตนเองด้วยแพลตฟอร์ม Thai Stop COVID จากข้อมูลรายงานการประเมินตนเองของสถานศึกษาในการเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียนในจังหวัดสมุทรปราการ พบว่า เรื่องที่ต้องเน้นย้ำเป็นพิเศษกับสถานศึกษา ได้แก่ มาตรการบริหารจัดการความสะอาดบนรถรับ – ส่งนักเรียน เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล จัดที่นั่งบนรถ หรือมีสัญลักษณ์จุดตำแหน่งชัดเจนกรณีที่เป็นรถรับ – ส่งนักเรียน มีการจัดหาบุคลากรในการดูแลนักเรียนและการจัดการสิ่งแวดล้อมในสถานศึกษา รวมถึงการยกระดับมาตรการปลอดภัย มั่นใจสุขอนามัยไร้โควิด – 19 และกำกับติดตามและประเมินผล นอกจากนี้ เมื่อเปิดเรียนใหม่ตามปกติแล้ว ครูต้องบันทึกการเจ็บป่วยของเด็กทุกวัน โดยจะเน้นย้ำกลุ่มอาการเสี่ยง เช่น ไข้ ไอ จาม อาการใกล้เคียงกลุ่มโรคเกี่ยวกับโควิด-19 เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะรับทราบ ถ้ามีเด็กเจ็บป่วยพร้อมกัน ไอ จาม มีไข้พร้อมกัน 5 รายขึ้นไป ครูจะรายงานไปยังหน่วยงานสาธารณสุขที่ดูแลโรงเรียนทันที เพื่อตรวจเยี่ยมดูแลเด็ก ควบคุมโรคโดยเร็ว ลดความเสี่ยงที่จะป่วยจากโควิด หรือหากเจ็บป่วยจะไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดในโรงเรียน รวมถึงแนะนำให้นักเรียนเขียน Timeline ของตนเอง บันทึกประจำวันหลังเลิกเรียน การเดินทางไปในสถานที่ต่างๆ สำหรับใช้ประโยชน์ตามแนววิถีชีวิตใหม่ (New normal)” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ร่วมแสดงความคิดเห็น