ชาวบางกลอยประกาศยอมตาย ขอกลับไปทำไร่หมุนเวียนถิ่นฐานเดิม คณะเจรจาของทางการเหลวอีก คนเชียงใหม่ฮือยื่นหนังสือถึงนายกฯ หนุนชาวบ้าน

เวลา 09.40 น. วันที่ 25 ก.พ. 64 ที่ศาลาพอลละจี หมู่บ้านบางกลอยล่าง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี คณะเจรจาของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) นำโดย นายจงคล้าย วรพงศธร ผู้ตรวจการ ทส. นายณัฐวุฒิ เพ็ชรพรหมศร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี นายประกิต วงศ์ศรีวัฒนกุล รองอธิบดีกรมอุทยานฯ พร้อมเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ข้าราชการฝ่ายปกครอง และตำรวจ เดินทางโดยเฮลิคอปเตอร์มาร่วมเจรจากับชาวบ้านบางกลอย 4 คนซึ่งเดินเท้ามาจากหมู่บ้านบางกลอยบนในป่าใจแผ่นดิน โดยมีชาวบ้านทำหน้าที่ล่ามแปลภาษากะเหรี่ยง และมีผู้สื่อข่าวมากว่า 10 สำนักคอยติดตามทำข่าว

นายจงคล้าย ชี้แจงกับชาวบ้านว่า ยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชรได้ปิดปฏิบัติการไปแล้ว ทุกหน่วยงานที่ร่วมเดินทางมาพบชาวบ้านในวันนี้ พร้อมเปิดใจพูดคุยกันแบบพี่น้อง เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาของชาวบ้าน ซึ่งตลอด 3 วันที่ผ่านมา ทส.ส่งทีมลงเก็บข้อมูลในด้านต่างๆ ทำให้เห็นปัญหาว่าชาวบ้านเดือดร้องเรื่องที่ดินอยู่อาศัย ที่ดินทำกิน และแหล่งน้ำ รวมถึงความล้มเหลวของโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิต

“เราจะเข้ามาแก้ปัญหาที่ดิน เมื่อก่อนดินไม่ดี ไม่มีน้ำ เราเคยรับปากชาวบ้านว่าจะมาช่วยแก้ปัญหาหลายครั้งก็ทำไม่ได้ แต่วันนี้เรามีทั้งรองผู้ว่าฯ กรมทรัพยากรน้ำ หลายฝ่ายมาพร้อมกัน แม้ชาวบ้านอาจไม่เชื่อว่าแก้ปัญหาได้ แต่เราจะลงไปดูทีละแปลงว่ามีปัญหาอย่างไร ก็จะช่วยกันอย่างเต็มที่”นายจงคล้าย กล่าว

นายจงคล้าย กล่าวต่อว่า เป้าหมายตอนนี้อยากให้ชาวบ้านมีที่ดินทำกิน โดยเรื่องนี้นายกรัฐมนตรี รมต.ทส. มีความเป็นห่วง และสั่งการว่า อยากให้ชาวบ้านมีคุณภาพชีวิตที่ดีให้มีที่ดิน ตรงไหนมีปัญหาน้ำ กรมน้ำก็จะมาช่วยดูพร้อมกับผู้ใหญ่บ้าน ดินไม่ดีจะให้โครงการปิดทองหลังพระมาช่วยดู

ขณะที่ตัวแทนชาวบ้านได้อ่านข้อเสนอ 7 ข้อ ประกอบด้วย 1.ยืนยันอยู่ในที่เดิมบนที่ดินที่เคยอยู่ในบ้านบางกลอยบน 2.คนที่ไม่ประสงค์กลับขึ้นไปอยู่ข้างบนขอให้จัดสรรพื้นที่ทำกินให้ 3.ปฎิบัติการของเจ้าหน้าที่เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ทำให้สิ่งของบางอย่างของชาวบ้านเสียหาย เช่น แผงโซลาเซลล์ 4.ให้เจ้าหน้าที่หยุดปฎิบัติการต่างๆในขณะที่คณะทำงานถูกส่งมาจากกระทรวงโดยตรง 5.ให้สื่อหรือเจ้าหน้าที่หยุดชี้นำ และกล่าวหาชาวบ้าน 6.ให้มีพิสูจน์สิทธิไร่หมุนเวียนโดยมีหน่วยงานรัฐ และนักวิชาการเข้ามามีส่วนร่วม 7.เราจะรอจนกว่าคณะทำงานที่ถูกส่งมาจากกระทรวงฯจะหาข้อยุติได้

นายณัฐวุฒิ รองผู้ว่าฯ เพชรบุรี ถามตัวแทนชาวบ้าน ว่าที่บางกลอยล่างกับใจแผ่นดินอยู่ที่ไหนดีกว่ากัน ชาวบ้านตอบว่า ข้างบนดีกว่า ข้าวไม่ต้องซื้อกิน ผักไม่ต้องซื้อ อยู่สบายกว่า ไม่มีไฟฟ้าก็อยู่ได้ เราสามารถใช้ชีวิตตามวิถีของเราได้ รองผู้ว่าฯกล่าวว่า วันนี้เราจะย้อยกลับไปไม่ได้แล้ว เพราะเราตั้งชุมชนที่นี่แล้ว

ขณะที่ชาวบ้านที่นั่งฟังได้ลุกขึ้นชี้แจงว่า วิถีเราอยู่มานาน อยากให้เจ้าหน้าที่เข้าใจเหตุผลของเราที่อยากกลับไปอยู่ใจแผ่นดิน เพราะอยู่ที่นี่ลำบาก ต่อให้เป็นตายอย่างไรเราจะขอกลับไป เรายอมตายที่บ้านเกิดดีกว่า และคนที่ต้องการขึ้นไปก็ไม่ใช่ทุกคน มีบางคนอยากอยู่ที่นี่ อยากให้แบ่งการแก้ปัญหาเป็นสองกลุ่ม

ทั้งนี้ระหว่างการเจรจาปรากฏว่าตัวแทนขาวบ้านทั้ง 4 คน ได้ลุกออกจากวงเจรจาไป ทั้งที่ยังไม่ได้ข้อสรุปร่วมกัน เนื่องจากเห็นว่าไม่มีการพูดถึงประเด็นสำคัญคือเรื่องที่ชาวบ้านจะทำไร่หมุนเวียนและอยู่ในพื้นที่ใจแผ่นดินได้หรือไม่

อย่างไรก็ตามก่อนวงเจรจาจะยุตินายสุชาติ ต้นน้ำเพชร ชาวบ้านบางกลอยที่ทำหน้าที่ล่าม ได้ขอเล่าข้อมูลประวัติชุมชนบางกลอย-ใจแผ่นดินให้ทุกคนฟัง แต่ปรากฏว่าผู้แทน ทส.พยายามไม่ให้อธิบายใดๆ ต่อ จนผู้สื่อข่าวต้องแจ้งว่าต้องการรับฟังข้อมูลจากชาวบ้าน ระหว่างนั้นมีเจ้าหน้าที่พยายามถามนายสุชาติว่า ชื่ออะไรอายุเท่าไร เกิดที่ไหน โดยนายสุชาติได้ตอบไปตามข้อเท็จจริงและได้เล่าข้อมูลหมู่บ้านจนจบ

นายจงคล้ายให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่าวันนี้มารับฟังมีปัญหาจากตัวแทนทั้ง 4 คน ที่กลับออกมาจากใจแผ่นดิน ทส.ได้ตั้ง คณะกรรมการร่วมทุกฝ่ายเพื่อสำรวจข้อมูล แล้วจะนำฐานข้อมูลมาเทียบกับข้อมูลเก่า เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ตรงกัน ทั้งกลุ่มชาวบ้าน 57 ครอบครัว ที่ลงมาปี 2539 ต่อมาขยายเป็น 61 ครอบครัว ต่อมาเพิ่มเป็น 116 ครอบครัว ซึ่งบางคนได้รับการจัดสรรที่ดินแล้วแต่มีปัญหาการทำกิน ทส.จะเข้าไปดูแลแก้ปัญหาให้ ส่วนที่เหลือที่ยังไม่มีที่ดินต้องรอผลสรุปจากคณะกรรมการที่กำลังเก็บข้อมูล

“ตอนนี้รอคณะกรรมการทำงานก่อน แก้ปัญหาที่ดิน แก้ปัญหาน้ำให้ชาวบ้าน คิดว่าบางสิ่งชาวบ้านยังไม่เชื่อมั่น แต่รับรองจะนำปัญหาไปคุยใน คณะกรรมการให้เกิดการดำเนินการเร็วที่สุด”นายจงคล้ายกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าสังคมกำลังจับตายุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชรว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ ทส.จะอธิบายอย่างไร นายจงคล้าย กล่าวว่า ไม่อยากให้พูดว่าเป็นการละเมิดสิทธิชาวบ้าน แต่จะแก้ปัญหาให้ดีที่สุด จากปัญหาที่คาราคาชัง 25 ปี สังเกตได้เรามีโรงเรียน เด็กๆ หลายคนจบก็ไปทำงานกับโครงการปิดทองหลังพระ อุทยานก็มีลูกชาวบ้านหลายที่ไปทำงานด้วย

ชาวบ้านบางกลอย 1 ใน 4 ที่เดินเท้ามาจากบางกลอยบนร่วมเจรจาครั้งนี้ สัมภาษณ์ว่า การตัดสินใจเดินออกมาจากวงเจรจาเพราะ เจ้าหน้าที่ไม่ได้มาพูดถึงถึงปัญหาหลักในการเจรจาครั้งนี้ ที่ชาวบ้านยืนยันว่าจะกลับไปอยู่ที่ใจแผ่นดินซึ่งเป็นชุมชนดั้งเดิม กลับพูดแต่เรื่องอื่น ไม่ได้คุยเรื่องนี้ที่รับปากว่าจะเจรจา มาถึงก็พูดแต่เรื่องขาดน้ำ ดินไม่ดี ไม่ได้สนใจข้อเรียกร้อง จึงตัดสินใจออกจากห้องเวทีเจรจา

“ตอนนี้มี 36 ครอบครัวที่ยังอยู่ข้างบน ถ้าตกลงอุทยานยอมให้เราอยู่ใจแผ่นดิน จะมีขึ้นไปมากกว่านี้ คิดไม่ออกเหมือนกันว่าทำไมเขาถึงใช้ยุทธการ เพราะตรงนั้นคือบ้านของเรา ผมกลัวแต่อยากอยู่ เราให้กำลังใจกัน ถ้าโดนจับก็โดนหมด มีเด็กด้วย ยืนยันถ้าโดนยิงทิ้งก็คงจะยอมโดนยิงกันหมด พ่อแม่พวกเราอยู่กันมาตั้งนาน ป่าก็ยังอยู่ แม่น้ำก็ยังดี ถ้าพวกเราอยู่ไม่รักษาป่าคงหมดไปนานแล้ว”ชาวบ้านบางกลอย กล่าว

วันเดียวกันที่ จ.เชียงใหม่ เมื่อเวลา 13.00 น. ประชาชนในนามกลุ่ม saveบางกลอย และเครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์จำนวนกว่า 100 คน ได้รวมตัวกันเดินขบวนแสดงพลังต่อต้านการคุกคามจากภาครัฐต่อพี่น้องชาวบ้านบางกลอย หลังจากที่กลุ่มกะเหรี่ยงในพื้นที่บ้านบางกลอยถูกคุกคามและปิดกั้นไม่ให้ภาคประชาชนเข้าไปมอบปลาและข้าวสาร โดยกลุ่มผู้ชุมนุมได้รวมตัวกันที่บริเวณสวนหลวง ร. 9 จากนั้นได้เดินทางเท้ามายังศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้อง ต่อนายกรัฐมนตรี โดยผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ให้เจ้าหน้าที่หยุดคุกคามชาวบ้าน และนำกำลังออกจากพื้นที่หมด รวมทั้งอนุญาตให้นำอาหารพร้อมทั้งเปิดทางให้ชาวบ้านกลับเข้าไปใช้ชีวิตดังเดิม นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้ทางการยินยอมให้ชาวบ้านกลับขึ้นไปทำไร่หมุนเวียน

ร่วมแสดงความคิดเห็น