(มีคลิป) โครงการพัฒนาศักยภาพผู้บริหารระดับสูง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม” จัดแถลงข่าว “วิกฤตฝุ่น จะแก้ก็แก้ได้”

วันเสาร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 16.10 – 16.40 น. ที่โรงแรมแคนทารี่ฮิลล์ จังหวัดเชียงใหม่ โครงการพัฒนาศักยภาพผู้บริหารระดับสูง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หลักสูตร WiNs ครั้งที่ 3 แถลงข่าวโครงการพัฒนาศักยภาพผู้บริหารระดับสูงฯ และ วิกฤตฝุ่น จะแก้ก็แก้ได้ โดย ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ผศ.ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการรัฐมนตรี กระทรวงฯ ศ.ดร.สุขัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้อำนวยการ หลักสูตร WiNS และ นายกสภาวิศกรแห่งประเทศไทย

ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงฯ กล่าวว่า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดศึกษาดูงานโครงการพัฒนาเครือข่าย และศักยภาพผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงฯ (หลักสูตร WINS) จัดทั้งหมด 5 ครั้ง ครั้งแรกจัดที่กรุงเทพฯ ครั้งที่ 2 ที่เกาะสมุย ครั้งที่ 3 จังหวัดเชียงใหม่ ครั้งที่ 4 จังหวัดนครราชสีมา และครั้งที่ 5 ที่กรุงเทพฯ เพื่อสรุปปัญหา

ครั้งนี้มาที่เชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 26-28 กุมภาพันธ์ 2564 นำโดย ศ.พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ศาสตราจารย์ ทุกที่ๆโครงการ เราจะไปดูเรื่องของประเด็นปัญหา ทั้งในระดับของจังหวัด และที่สำคัญที่สุดที่เกี่ยวข้องกับระดับประเทศ ที่ได้สัญจรมาที่เชียงใหม่ หลังที่มีประเด็นปัญหาเกี่ยวกับฝุ่น ภัยร้ายในอากาศ โจทย์ปัญหาที่ต้องแก้ในปัจจุบัน และอนาคต ถกข้อคิดเพื่อที่จะมาช่วยในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่

เพราะโครงการนี้ มีทั้งอธิการบดี จากหลายๆมหาวิทยาลัยทุกมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ รวมไปถึงผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัย และนวัตกรรม และยังมีภาคส่วนของเอกชน มาเข้าร่วมในงานด้วย เพราะฉะนั้นตรงนี้ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการ ที่เป้าหมายสูงสุดก็คือ เพื่อแก้ปัญหาในระดับชาติต่อไป

ผศ.ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการรัฐมนตรี กระทรวงฯ กล่าวว่า สำหรับโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล หัวใจหลักต้องการที่จะเข้าไปร่วมมือ และสร้างงานสร้างรายได้ให้เพิ่มมากขึ้น ให้ยั่งยืนกับพี่น้องในชุมชนในพื้นที่ ผู้บริหารกระทรวงหวังว่า ลงไป 15,000 ล้านบาท จะได้มูลค่ากลับมาเกินกว่า 15,000 ล้านบาท อาจจะถึง 20,000 กว่าล้านบาท

จากที่ลงพื้นที่ดูการทำงานของอาจารย์ นักศึกษา และนักศึกษาจบใหม่ วันนี้เราได้ไปดูการทำงานในพื้นที่ แต่ละพื้นที่ แต่ละตำบลมีเสน่ห์ไม่เหมือนกัน บางที่เรามีผลิตภัณฑ์ที่ทรงคุณค่า บางที่เราก็มีทัศนียภาพ มีความสวยงามเพราะฉะนั้นเราทำได้หมด ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวหรือว่าผลิตภัณฑ์

วันนี้ไปลงพื้นที่ที่ถนนวัวลาย วัดศรีสุพรรณ ชมภูมิปัญญาการทำเครื่องเงิน รากเหง้าของภูมิปัญญาแห่งชุมชน ซึ่งมีเสนห์มากๆ ตอนนี้อยู่ระหว่างการสร้างแพลตฟอร์มต่างๆที่จะมาส่งเสริมการขาย ที่จะขยายการขายให้เพิ่มมากขึ้น สร้างมนต์เสน่ห์ สร้างมูลค่าให้กับสิ่งของมากขึ้น งานนี้นอกจากไปสร้างมูลค่าให้กับชุมชน แล้วยังไปเพิ่มความสุขให้กับชุมชนสร้างเศรษฐกิจที่เข้มแข็งอีกด้วย

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสด์ ผู้อำนวยการ หลักสูตร WINs และนายกสภาวิศวกรแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มหาวิทยาลัยไทยภายใต้กระทรวง อว. เรามีความตั้งใจจริงที่จะใช้ศักยภาพของมหาวิทยาลัยประเทศไทย ในการแก้ปัญหาที่มีความซ้ำซ้อน ซ้ำซาก ไม่เช่นนั้นแล้วโครงการนี้ที่กำเนิดขึ้นมานอกเหนือจากการสร้างเครือข่ายให้อธิการบดีทั่วประเทศไทย เพราะว่าวันนี้อธิการกว่า 200 มหาวิทยาลัยนั้น ได้ดูแลนิสิต นักศึกษา มากกว่า 2 ล้านคน เท่านั้นยังไม่พอยังมีศิษย์เก่าอีกนับล้านคน พลังในจุดนี้เป็นพลังของจุดเปลี่ยนในการเปลี่ยนแปลงประเทศ

ปัญหาที่ซ้ำซ้อน ซ้ำซากที่เกิดขึ้นในประเทศไทยนั้น เกิดขึ้นมานานหนักหนาจนคนไทยเชื่อว่าแก้ปัญหาไม่ได้ อย่างไรเราก็ต้องอยู่แบบนี้ พลังของกระทรวง อว. เป็นการรวมขุมพลังของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และปัญญาชนในทุกด้าน ไม่ใช่ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเท่านั้น แต่เกี่ยวกับนวัตกรรมทางด้านสังคมด้วย

วันนี้ที่เชียงใหม่ปัญหาที่ร้ายแรงที่สุดคือ ปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ที่สถิติการเกิด PM 2.5 มากขึ้นเป็นระดับโลก เมื่อปีที่แล้วมากกว่า 500 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ถือว่ามากที่สุดในโลก ซึ่งจริงๆแล้วระดับมาตรฐาน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เป็นมาตรฐานที่เรียกว่ามาตรฐานขั้นสุดท้าย ประเทศที่ดูแลพลเมืองที่ดีห้ามเกิน 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่เราเกินไป 10 กว่าเท่า

หมอที่เชียงใหม่พิสูจน์ชัดว่า PM 2.5 นั้น ทำให้อัตราการตายด้วยโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดมากสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ เด็กเล็กถ้าสูดฝุ่นพิษ PM 2.5 จะเป็นคน”โง่” สมองจะพัฒนาไม่เต็มที่ ปอดไม่สามารถขยายตัว ไม่สามารถที่จะเติบโต มีปอดที่สมบูรณ์ แต่ทำไมปัญหาแก้ไม่ได้ เพราะว่าเราไม่ได้กลัวจริงๆ ไม่เหมือนพวกเรากลัวโควิด แต่ค่า PM 2.5 น่ากลัวมากกว่าโควิดด้วยซ้ำ เพราะว่าโควิด วันนี้ประเทศไทยสามารถควบคุมได้ดีในระดับโลก เพราะนอกจากความพยายามของรัฐ ความพยายามของบุคลากรทางการแพทย์แล้ว ประชาชนตื่นกลัวให้ความร่วมมือ แต่ PM 2.5 ยังไม่ใช่ หมอเชียงใหม่และหมอจากทั่วประเทศ วันนี้การันตีว่าถ้าเกิดว่าเราไม่ทำอะไรเรื่องนี้ ลูก หลานเราเดือดร้อน และสุดท้ายกลายเป็นปัญหาที่แก้ไม่ได้ ไม่ว่าจะรุ่นไหน ถ้าเราปล่อยให้เกิดปัญหาซ้ำซาก

หลักสูตร WINs มารวมตัวโดยพละ กำลัง พลังพนานุภาพของความรู้ ความรู้เหล่านี้มาต่อสู้กับปัญหาที่เราเรียกว่า “ปัญหาซ้ำซาก ซ้ำซ้อน”จะเกิดขึ้นที่นี่ พวกเราทุกคนถือว่าปัญหาที่เกิดขึ้นที่นี่ เป็นปัญหาที่เราต้องรับผิดชอบร่วมกัน เราลงพื้นที่ ถ้าจินตนาการดูว่า อธิการบดีลงพื้นที่ด้วยตัวเอง รับรู้ รับฟังปัญหาและพยายามนำเสนอวิธีการแก้ปัญหาทั้งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพราะอะไรที่ซับซ้อนแก้ปัญหาแบบปกติคงแก้ไม่ได้ ต้องแก้ด้วยเทคโนโลยีเท่านั้น ขอความร่วมมือจากท้องถิ่น พวกเราอธิการบดี พร้อมเครือข่ายเอกชนและอุตสาหกรรมและกระทรวงอื่นๆที่เข้ามาร่วมโครงการ ตั้งใจขนาดนี้แล้ว พี่น้องชาวเชียงใหม่ พี่น้องทางภาคเหนือ ท่านจะไม่ช่วยกันเลยหรือ ท่านจะอยู่กันอย่างนี้หรือ

พร้อมกันนี้ เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน ได้ประสบปัญหา ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของนิสิต นักศึกษา รวมถึงประชนชนในพื้นที่อย่างกว้างขวาง จึงได้มอบอุปกรณ์ป้องกันฝุ่น PM 2.5 จำนวน 17,000 ชิ้น ให้กับผู้แทนมหาวิทยาลัยภาคเหนือ เครือข่าย ทปอ. ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยพะเยา และ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง เพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับประชาชน พร้อมกันนี้ กระทรวง อว. ได้ติดตั้งเครื่องวัดค่าฝุ่นให้กับพื้นที่ในจังหวัดภาคเหนือไม่ต่ำกว่า 1,000 เครื่อง

ร่วมแสดงความคิดเห็น