ม.สงขลาฯ วิจัยพบว่า การใช้พืชกระท่อมเป็นประจำไม่ส่งผลต่อการทำงานของสมอง และระบบประสาท

นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการ ป.ป.ส. ได้เปิดเผยข้อมูลว่า สำนักงาน ป.ป.ส. ได้สนับสนุนงบประมาณให้แก่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อศึกษาวิจัยเรื่องความสัมพันธ์ระดับ มิตราไกนีน (Mitragynine) ในเลือดกับผลกระทบต่อสมรรถภาพสมองของผู้ใช้พืชกระท่อมเป็นประจำ ไม่มีผลต่อการทำงานของสมองที่เกี่ยวข้องกับการประมวลผลด้านความคิดและการรับรู้ ความจำ รวมไปถึงทักษะด้านความคิดเชิงบริหาร การทำงานของสมอง และระบบประสาทอัตโนมัติ

จากการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยพิเศษว่าด้วยปัญหายาเสพติดของโลก ค.ศ. ๒๐๑๖ (UNGASS 2016) ที่ประชุมได้กล่าวถึงการนำสารเสพติดและพืชเสพติดมาใช้ประโยชน์ในการศึกษาวิจัยและการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ โดยประเทศไทยในฐานะประเทศสมาชิกสหประชาชาติ และในฐานะสมาชิกคณะกรรมาธิการยาเสพติด ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าท่าทีของที่ประชุม UNGASS 2016 สอดคล้องกับสถานการณ์ยาเสพติดโลกและสภาพสังคม ที่เปลี่ยนแปลงไป ประกอบกับแนวคิดการสาธารณสุขนำและการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ดังนั้น นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตีว่าการกระทรวงยุติธรรม จึงได้สั่งการให้สำนักงาน ป.ป.ส. ศึกษาหาแนวทางแก้ไขพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 โดยยกเลิกพืชกระท่อมออกจากยาเสพติดประเภท 5 และให้ศึกษาถึงผลกระทบของการใช้พืชกระท่อม สำนักงาน ป.ป.ส. จึงได้สนับสนุนงบประมาณให้แก่ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดย ผศ.ดร.สมชาย ศรีวิริยะจันทร์ และคณะ ดำเนินการศึกษาความสัมพันธ์ระดับสารมิตราไกนีน (ซึ่งเป็นสารที่มีอยู่ในพืชกระท่อม) ในเลือดกับผลกระทบต่อสมรรถภาพสมองของผู้ใช้พืชกระท่อมเป็นประจำ โดยวิธีการศึกษาได้ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลและตัวอย่างเลือดจากกลุ่มเป้าหมาย 2 กลุ่ม คือ ผู้ที่ไม่เคยใช้พืชกระท่อม จำนวน 99 ราย และผู้ใช้พืชกระท่อมแบบวิถีชุมชนดั้งเดิม เป็นประจำระยะเวลานานกว่า 1 ปี จำนวน 192 ราย ทำการทดสอบความสามารถในการรู้คิด บันทึกสัญญาณคลื่นไฟฟ้าสมอง ประเมินการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติด้วยการวิเคราะห์ความแปรปรวนของอัตราการเต้นหัวใจ โดยดำเนินการศึกษาในพื้นที่ ต.น้ำพุ อ.บ้านนาสาร จ.สุราษฎร์ธานี

ผลการศึกษาวิจัย สรุปได้ว่า การใช้พืชกระท่อมแบบวิถีชุมชนดั้งเดิม คือ การเคี้ยวใบสดหรือต้มชงใบกระท่อมแห้งเป็นประจำ ไม่ส่งผลต่อสมรรถภาพด้านความคิดและการรับรู้ การทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ และการทำงานของสมอง ดังนี้
1. ความเข้มข้นของมิตราไกนีนในเลือดของผู้ใช้พืชกระท่อมเป็นประจำ จะมีความสัมพันธ์เชิงเส้นกับจำนวนใบพืชกระท่อมที่ใช้และระยะเวลาในการเสพพืชกระท่อม
2. การใช้พืชกระท่อมเป็นประจำไม่ส่งผลต่อสมรรถภาพด้านความคิดและการรับรู้ จากการประเมินด้วยการทดสอบ ต่อไปนี้ (1) ความตั้งใจและจดจ่อ จากการทดสอบ Ericsen Flanker Test (2) ความจำระยะสั้น (Short-term Memory) (3) การประเมินความสนใจ ความใส่ใจ และการกะระยะ จากการทดสอบ Trial Making Test และ (4) ความสามารถในการตัดสินใจ จากการทดสอบไอโอวา Lowa Gambling Test ผลการวิเคราะห์ทางสถิติ ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติระหว่างกลุ่มผู้ใช้พืชกระท่อมเป็นประจำ กับผู้ไม่ใช้พืชกระท่อม ดังนั้น การศึกษานี้บ่งชี้ว่า การเคี้ยวใบพืชกระท่อม แม้ในขนาดที่สูงเป็นเวลานานไม่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของสมองที่เกี่ยวข้องกับการประมวลผลด้านความคิดและการรับรู้ ความจำ รวมไปถึงทักษะด้านความคิดเชิงบริหาร
3. ความแปรปรวนของอัตราการเต้นของหัวใจ (Heart Rate Variability, HRV) จากค่าพลังงานในช่วงความถี่ต่ำ (Low Frequency Power, LF Power) พลังงานในช่วงความถี่สูง (High Frequency Power, HF Power) และอัตราส่วน LF/HF ในผู้ใช้พืชกระท่อมเป็นประจำ กับผู้ไม่ใช้พืชกระท่อม ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติระหว่างกลุ่ม แสดงให้เห็นว่า การใช้พืชกระท่อมเป็นประจำไม่ส่งผลต่อการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ
4. การวิเคราะห์สัญญาณคลื่นไฟฟ้าสมองในช่วงความถี่ Delta (1-4 Hz) Theta (4-8 Hz) Alpha (7.5-13 Hz) Beta (13-30 Hz) และ Gamma (30-40 Hz) จากบริเวณสมองเหนือหน้าผากซ้าย (AF7) และขวา (AF8) ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติระหว่างกลุ่มผู้ใช้พืชกระท่อมเป็นประจำ กับผู้ไม่ใช้พืชกระท่อม แสดงให้เห็นว่า การใช้พืชกระท่อมเป็นประจำไม่ส่งต่อการทำงานของสมอง

ร่วมแสดงความคิดเห็น