(มีคลิป) พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ MOU เพื่อสนับสนุนงบประมาณดำเนินการควบคุมไฟป่าและฝุ่นควัน

วันจันทร์ที่ 1 มีนาคม 2564 เวลา 10.00 น.ที่ ห้องประชุมสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ชั้น 2 อาคารหอประชุมสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU)การสนับสนุนงบประมาณเพื่อดำเนินการควบคุมไฟป่าและฝุ่นควันระหว่างองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ กับมูลนิธิป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นควัน จังหวัดเชียงใหม่

นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่/ประธานกรรมการมูลนิธิป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นควัน จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า มูลนิธิป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นควัน จังหวัดเชียงใหม่ จัดตั้งโดยจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อการดำเนินภารกิจในด้านการป้องกันปัญหาไฟป่าและฝุ่นควันที่เกิดขึ้นทุกปี เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยมีวัตถุประสงค์ คือ เพื่อจัดหาทุนหรือระดมทุนจากทุกภาคส่วน เพื่อสนับสนุนภารกิจ ในด้านการป้องกันแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นควัน ตลอดจนภัยพิบัติที่เกิดจาก ธรรมชาติหรืออื่นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อจัดหาทุนหรือระดมทุนจากทุกภาคส่วน เพื่อสนับสนุนช่วยเหลือประชาชน เจ้าหน้าที่ของรัฐ ตลอดจนบุคคลทุกเชื้อชาติที่ได้รับบาดเจ็บจากการเข้าช่วยเหลือตลอดจนถูกผลกระทบจากภารกิจในด้านการป้องกันแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นควัน ตลอดจนภัยพิบัติที่เกิดจากธรรมชาติหรืออื่นๆ ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อดำเนินการเพื่อสาธารณประโยชน์ หรือร่วมมือกับองค์กรการกุศลอื่นๆ เพื่อสาธารณประโยชน์ ไม่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการเมืองแต่ประการใด โดยการดำเนินการในปีที่ผ่านมามูลนิธิฯ ได้ให้การช่วยเหลือผู้ที่เสียชีวิต ประสบอุบัติเหตุ และผู้ที่แจ้งเบาะแสซึ่งนำไปสู่การจับกุม ในเรื่องการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นควัน

 

 

ดังนี้ให้เงินช่วยเหลือรายเสียชีวิต จำนวน 4ราย ให้เงินช่วยเหลือรายละ 50,000 บาท รวมทั้งสิ้น 200,000บาทให้เงินช่วยเหลือรายได้รับบาดเจ็บ จำนวน 2 ราย ให้เงินช่วยเหลือรายละ 10,000 บาท รวมทั้งสิ้น 20,000บาทให้เงินช่วยเหลือรายแจ้งเบาะแส เพื่อนำไปสู่การจับกุม จำนวน 1ราย ให้เงิน สนับสนุนรายละ 5,000บาท รวมทั้งสิ้น 225,000บาท (สองแสนสองหมื่นห้าพันบาทถ้วน) มูลนิธิฯ ได้จัดสรรเงินให้แก่ 24 อำเภอ ดำเนินการจัดกิจกรรม Kick Off จำนวนเงินทั้งสิ้น 500,000บาท (ห้าแสนบาทถ้วน) ซึ่งในปี 2564นี้ มูลนิธิฯ ได้มุ่งหวังว่า การจะทำให้แก้ไขปัญหาไฟป่าและ ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ของจังหวัดเชียงใหม่ ให้เกิดผลสำเร็จนั้น ปัจจัยสำคัญที่ต้องคำนึงถึง คือการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งพวกเขาเหล่านี้ เป็นผู้ช่วยเหลือการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานราชการต่างๆให้ประสบผลสำเร็จในการแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นควัน ส่งผลให้เกิดประโยชน์ต่อ เศรษฐกิจสังคม สุขภาพอนามัย และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ของประชาชนส่วนรวมในจังหวัด ดังนั้นมูลนิธิฯจึงได้จัดทำ “โครการป้องกันแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ของมูลนิธิป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นควัน จังหวัดเชียงใหม่”

 

 

โดยขอรับการอุดหนุนงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ อันเป็นการบูรณาการความร่วมมือกันระหว่างองค์กรการกุศล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานราชการและองค์กรภาคประชาชน รวมไปถึงประชาชน ในการป้องกันแก้ไขไฟป่าและปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) เป็นเงินจำนวนทั้งทั้งสิ้น ๑๓,๖๗๐,๐๐๐ 13,670,000 บาท (สิบสามล้านหกแสนเจ็ดหมื่นบาทถ้วน) สนับสนุนไปยังที่ทำการปกครองอำเภอ 24 แห่ง และอาสาสมัครประจำหมู่บ้านของมูลธิป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นควันจังหวัดเชียงใหม่ในพื้นที่ 644 หมู่บ้านที่เป็นพื้นที่ติดป่าและมีความเสี่ยงในการเกิดไฟ แต่ยังไม่ได้รับการ สนับสนุนงบประมาณผ่านช่องทางต่างๆของทางราชการ

นายพิชัย เลิศพงษ์อดิศร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์ไฟป่าและฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เป็นปัญหาที่สำคัญในลำดับต้นซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ทำให้เป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ จากข้อมูลสถิติคุณภาพอากาศและสถานการณ์หมอกควันในจังหวัดเชียงใหม่ พบว่า ค่าเฉลี่ยรายวันฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ในปี พ.ศ.2563 ของจังหวัดเชียงใหม่ ช่วงระหว่างเดือนมกราคม ถึงเดือนมีนาคม พ.ศ.2563มีค่าเกินมาตรฐานของประเทศไทยที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ทำให้พบว่ามีจำนวนผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบด้านสุขภาพจากสถานการณ์ ฝุ่นละอองขนาดเล็กเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ประกอบกับจังหวัดเชียงใหม่เป็นจังหวัดใหญ่และมีประชาชนอยู่อาศัยหนาแน่น ทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน โดยเฉพาะโรคระบบทางเดินหายใจ และกระทบกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวซึ่งเป็นรายได้หลักของจังหวัดเชียงใหม่

 

จากปัญหาไฟป่าและฝุ่นละอองขนาดเล็ก(PM2.5)ดังกล่าว องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ และมีอำนาจหน้าที่ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย  ตามพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2540 และพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542เล็งเห็นว่าการแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5)ของจังหวัดเชียงใหม่ การจะส่งเกิดผลให้เกิดความสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพได้นั้น ต้องให้ความสำคัญกับการบูรณาการร่วมกันจากทุกภาคส่วน และการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ในระดับหมู่บ้านด้วย ดังนั้นเพื่อให้การแก้ไขปัญหาดังกล่าวส่งผลอย่างเป็นรูปธรรม และเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อการดำรงชีวิต เศรษฐกิจ สังคม สุขภาพอนามัย และที่สำคัญเป็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ จึงจัดสรรประมาณเป็นจำนวนเงิน 13,670,000 บาท (สิบสามล้านหกแสนเจ็ดหมื่นบาทถ้วน) ให้กับ มูลนิธิป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นควันจังหวัดเชียงใหม่

เพื่อนำไปบูรณาการในการแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นละอองขนาดเล็ก(PM2.5) ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ด้วยการสนับสนุนและเติมเต็มให้กับหมู่บ้านที่มีงบประมาณในการดำเนินการแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นละอองขนาดเล็ก(PM2.5)ไม่เพียงพอ หรือขาดงบประมาณในการดำเนินการดังกล่าว จำนวน 644 หมู่บ้าน รวมทั้งเป็นการสนับสนุนงบประมาณให้กับที่ทำการปกครองอำเภอในจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นการ กำกับ ดูแล และการประสานงาน หรือให้คำแนะนำ อีกทั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ยังให้การสนับสนุนบุคลากร อุปกรณ์การดับไฟป่า และสนับสนุนศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่ากับจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อร่วมบูรณาการในการแก้ไขปัญหาฯ ดังกล่าวต่อไป

องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ขอเป็นหนึ่งหน่วยงานหลักเพื่อร่วมบูรณาการกับทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นละอองขนาดเล็ก (Pm๒.๕) ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาล และตามยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๗๙) ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการปฏิรูประบบการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศที่เป็นปัญหาเฉพาะพื้นที่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ยินดีและพร้อมให้ความร่วมมือกับทุกภาคส่วนและพี่น้องประชาชน เพื่อให้ได้มาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดี รวมถึงสุขภาพอนามัยของพี่น้องประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่

ร่วมแสดงความคิดเห็น