จังหวัดเชียงใหม่ ติดตามความก้าวหน้าการขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

จังหวัดเชียงใหม่ ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินการขับเคลื่อนและขยายผลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและเกิดผลสัมฤทธิ์ ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่เป็นพื้นที่ที่มีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมากที่สุดในประเทศไทย มากกว่า 600 โครงการ

วันนี้ (1 มี.ค. 64) ที่ห้องประชุม 3 ชั้น 3 อาคารอำนวยการ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นายสำเริง ไชยเสน รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการประสานงานการขับเคลื่อนและขยายผลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จังหวัดเชียงใหม่ ครั้งที่ 1/2564 เพื่อสนับสนุนและกำกับติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานในพื้นที่ พร้อมพิจารณากลั่นกรองโครงการพัฒนาพื้นที่ตามแนวพระราชดำริและหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ทั้งนี้เพื่อเป็นการสืบสาน รักษา ต่อยอด ของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริให้เกิดความต่อเนื่องและเกิดผลสัมฤทธิ์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ได้เมตตาพระราชทานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริให้จังหวัดเชียงใหม่มากที่สุดในประเทศไทย จำนวน 630 โครงการ (ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) ณ เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2563)

สำหรับการดำเนินโครงการตามแผนปฏิบัติราชการของจังหวัดเชียงใหม่ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 (งบพัฒนาจังหวัด) ได้รับการจัดสรรงบประมาณในโครงการขับเคลื่อนและขยายผลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริจังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 1 โครงการ 5 กิจกรรมหลัก ภายใต้งบประมาณ 18,414,600 บาท ประกอบด้วยกิจกรรมการวางแผน บริหารจัดการ และตรวจติดตามการดำเนินงานฯ กิจกรรมการบูรณาการงานด้านการเกษตรเพื่อขับเคลื่อนโครงการเกษตรวิชญา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการขับเคลื่อนเตรียมความพร้อมให้แก่เกษตรกรเพื่อเข้าสู่เกษตรอินทรีย์ ผ่านหลักสูตรถ่ายทอดความรู้การพัฒนาเกษตรบนพื้นที่สูง รวมถึงการพัฒนาเกษตรด้านการจัดการศัตรูพืชด้วยชีววิธี และหลักสูตรการเรียนรู้ด้านการเกษตร คลินิกเกษตร คหกรรมเกษตร กิจกรรมการส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในโครงการเก็บรักษาพันธุกรรมพืชเพื่อการพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการอบรมให้ความรู้ โดยเน้นการเพาะเมล็ดพันธุ์พืช การขยายพันธุ์พืช และการปรับปรุงดิน กิจกรรมโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทั้งการศึกษาสายพันธุ์พืชในพื้นที่ปลูกรักษา อย่างน้อย 100 ชนิด การจัดนิทรรศการเพื่อประชาสัมพันธ์ผลผลิตทางการเกษตรและพืชที่ได้จากการสำรวจ เพื่อประชาสัมพันธ์โครงการให้หน่วยงานในพื้นที่เกิดการขับเคลื่อนมากชึ้น และการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนในการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เพื่อสร้างรายได้แก่ชุมชน และกิจกรรมสุดท้ายคือ การอนุรักษ์ ฟื้นฟู ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในกิจกรรมเพาะชำกล้าไม้ขนาดใหญ่ กล้าไม้ขนาดเล็ก และการเพาะชำกล้าหวาย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการขออนุมัติดำเนินโครงการ เพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น