(มีคลิป) เชียงใหม่แจงผลการดำเนินการ Kicked off ฉีดวัคซีน COVID-19 ยันมีแผนชัดเจนจากการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อ คาดใช้ทั้งหมด 2.5 ล้านโด๊ส ฉีดครอบคลุมทุกคน

วันที่ 2 มีนาคม 2564 นายแพทย์วรเชษฐ เต๋ชะรัก ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครพิงค์ แถลงถึงการบริหารจัดการวัคซินโควิด-19​ ของจังหวัดเชียงใหม่​ ว่า จังหวัดเชียงใหม่ได้รับวัคซีนในเดือนมีนาคมจำนวน 3,500 โดส เป็นล็อตแรก ซึ่งวัคซีนจะทยอยมาในทุกเดือนโดยในเดือนเมษายนจะได้รับมาอีก 32,000 โดส เดือนพฤษภาคมจะได้รับอีก 48,000 โดส เพราะฉะนั้นการบริหารจัดการของวัคซีน 3,500 โดสนั้น จำนวน 1,750 คน จะได้รับการฉีดวัคซีนในเดือนมีนาคมนี้ ทางคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ได้มีมติเห็นชอบที่จะจัดสรรวัคซีนตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งยึดในเรื่องของวัตถุประสงค์ในการปกป้องระบบสุขภาพ เรื่องของการควบเศรษฐกิจ และลดอัตราการป่วยตาย จึงมีการบริหารจัดการโดยมองเรื่องของความเสี่ยงของบุคลากร ประชาชน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยในเดือนแรกจาก 1,750 คน ที่จะได้รับ ได้จัดสรรให้บุคลากรทางการแพทย์ทั้งจังหวัดเชียงใหม่ทั้งภาครัฐ และเอกชน จำนวน 1,450 คน

ซึ่งจะกระจายไปตามสถานบริการต่าง ๆ โดยมองถึงพื้นที่เสี่ยงทั้งในเมืองและในเขตรอบ ๆ เมืองจะได้มากกว่าในเขตพื้นที่ที่อยู่รอบนอกซึ่งมีความเสี่ยงต่ำกว่า เนื่องจากสถานการณ์การระบาดที่ผ่าน ๆ มานั้นมักจะมีการระบาดเกิดขึ้นในเขตอำเภอเมืองและเขตอำเภอรอบ ๆ เพราะฉะนั้นในแต่ละโรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนจะได้รับการจัดสรรวัคซีนแตกต่างกันไปตามสัดส่วนของบุคลากรและภาระหน้าที่ต่าง ๆ ที่แต่ละที่ต้องรับผิดชอบ ซึ่งวานนี้ (1 มี.ค. 64) ได้จัดสรรวัคซีนทั้งหมด ในส่วนของบุคลากรทางการแพทย์ทั้งสิ้น จำนวน 1,450 คน ให้กับโรงพยาบาลที่เป็นหน่วยฉีดต่าง ๆ ซึ่งโรงพยาบาลที่จะทำหน้าที่ในการฉีดจะไม่ได้มีแค่โรงพยาบาลนครพิงค์เท่านั้น จะมีทั้งโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่อยู่ตามพื้นที่ต่าง ๆ เช่น รพ.สันทราย รพ.จอมทอง รพ.ฝาง จะรับหน้าที่ในการฉีดให้กับบุคลากรในกลุ่มเสี่ยง รวมถึงโรงพยาบาลเอกชนบางส่วนที่ช่วยในเรื่องของการตรวจหาเชื้อ และการดูแลรักษาคนไข้โควิด 19 ในช่วงที่ผ่านมาก็จะได้รับวัคซีน แต่ละโรงพยาบาลที่ได้รับวัคซีนก็จะไปดำเนินการในเรื่องของการฉีดให้กับบุคลากรของตนเองต่อไป เพราะว่าบุคลากรไม่สามารถให้เข้าไปฉีดพร้อมกันทั้งหมด เพราะส่วนหนึ่งยังคงต้องทำงาน และส่วนหนึ่งต้องจัดหาคิวเพื่อเข้ามาฉีด

“สำหรับการฉีดวัคซีนวันแรก (1 มี.ค. 64) เนื่องจากการฉีดวัคซีนวันแรกนั้น ทางคณะกรรมการโดยเฉพาะทีมงานเรื่องของการบริหารจัดการกระจายวัคซีนได้คำนึงถึงการต้องการสร้างความเชื่อมั่นให้กับพี่น้องประชาชนและบุคลากร ดังนั้นก็จะมีการฉีดวัคซีนให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ทั้งบุคลากรทางการแพทย์ แล้วอีกส่วนหนึ่งก็ได้มีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐทางด้านความมั่นคง ทางด้านแรงงาน ทางด้านปกครอง ซึ่งหน่วยงานความมั่นคงได้เข้าไปช่วยดูแลเรื่องของสถานประกอบการต่าง ๆ การคัดกรองผู้ที่เดินทางเข้ามาจากต่างจังหวัด เช่น สนามบิน การท่าอากาศยาน เป็นต้น ซึ่งช่วยในการดำเนินการในส่วนนี้มาตลอด บุคคลกลุ่มนี้จะมีชื่ออยู่ในรายการกลุ่มที่มีความเสี่ยงและเข้าร่วมในการฉีดวัคซีน รวมถึงบุคคลสำคัญอีกส่วนหนึ่งก็คือ อสม. ก็ได้ฉีดด้วยเช่นกัน รวมทั้งอีกส่วนหนึ่งก็จะเป็นไปตามนโยบายที่อยากจะสร้างความเชื่อมั่นในภาคของการท่องเที่ยวก็จะมีอีกส่วนหนึ่ง แต่จะเป็นส่วนที่ไม่มากนัก จังหวัดเชียงใหม่ได้จัดสรรบุคลากรในส่วนนี้ที่เป็นบุคลากรจริง ๆ ที่มีความเกี่ยวข้องจำนวน 300 กว่ารายในเดือนมีนาคมนี้ ซึ่งผลการฉีดวัคซีนดำเนินการไปได้จำนวน 140 คน เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 73 คน ส่วนอีก 67 คนจะกระจายไปตามหน่วยงานต่าง ๆ เช่น ส่วนหน่วยงานการปกครอง ทหาร ตำรวจ อสม. ผู้นำทางภาคการท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครพิงค์ กล่าว

ด้าน นายวีระพันธ์ ดีอ่อน รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อ มีการนำเสนอประเด็นต่างๆ ในคณะกรรมการฯ ก็มีการพิจารณาร่วมกัน ซึ่งการบริหารจัดการวัคซีนกับพี่น้องประชาชนทุกกลุ่มได้มีการบริหารจัดการตามแนวทางสาธารณสุข และของรัฐบาล ซึ่งก็ได้ให้อำนาจกับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด มีการประชุมพิจารณาร่วมกัน โดยมีการบริหารจัดการเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกแบ่งเป็น 4 กลุ่ม

“กลุ่มแรก เรื่องของความเสี่ยงของบุคคล ซึ่งก็คือบุคลากรทางการแพทย์ ที่มีหน้าที่ต้องดูแลรักษาผู้ป่วย กลุ่มที่ 2 สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะสัมผัสกับผู้ป่วยหรือผู้โรค กลุ่มที่ 3 กลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวต่างๆ และผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปี นอกเหนือจากนั้นก็เป็นกลุ่มของบุคคลทั่วไปและกลุ่มผู้ใช้แรงงาน” รอง ผวจ.เชียงใหม่ กล่าว

นายวีระพันธ์ฯ กล่าวต่อว่า ส่วนที่สอง คือกลุ่มคนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง ซึ่งทางคณะกรรมการโรคติดต่อก็มีความเห็นร่วมกันว่าจะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.พื้นที่อำเภอเมืองเชียงใหม่ และพื้นที่อำเภอชั้นในของจังหวัดเชียงใหม่ ประกอบด้วย แม่ริม, สันกำแพง, หางดง, สารภี และสันทราย รวม 6 อำเภอ 2.กลุ่มแนวชายแดน ประกอบด้วย 5 อำเภอ คือ เชียงดาว, ฝาง, ไชยปราการ แม่อาย และเวียงแหง และที่เหลืออีกเหลือก็เป็นการบริหารจัดการอีกกลุ่มหนึ่ง

“ตั้งแต่มีการให้วัคซีนเมื่อวันที่ 1 มี.ค. 64 เป็นการทดสอบและคลิกออฟการให้วัคซีนกับพี่น้องประชาชนทุกกลุ่มที่โรงพยาบาลนครพิงค์ จะเห็นว่า ประการแรกเป็นการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ประการที่สองทำให้เห็นว่าขั้นตอนของการให้วัคซีนกลุ่มเป้าหมายมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง และมีตัวแทนของหน่วยงานราชการต่างๆ ทั้งรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5, รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และที่เหลือก็เป็นบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งนับตั้งแต่วันนี้ พรุ่งนี้และต่อเนื่องไปจนหมดวัคซีนในล็อตที่ 1 ที่มีจำนวน 3,500 โด๊ส และคนหนึ่งใช้ 2 โด๊ส รวมคนที่จะได้รับวัคซีนในล็อตแรก จำนวน 1,750 คน ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ฉีดวัคซีน ทั้งโรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลเอกชน ที่มีกลุ่มเป้าหมายกำหนดไว้แล้ว

ซึ่งล็อตแรกวัคซีนที่ฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ก็จะมีการฉีดเป็นห้วงเวลา คงยังไม่ได้ฉีดให้ทั้งหมดเพราะวัคซีนมีไม่พอ แต่เมื่อฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ครบหมดแล้ว จากนั้นก็จะไปสู่กลุ่มเป้าหมายที่เป็นบุคคล และกลุ่มเสี่ยงต่างๆ ในพื้นที่ ก็จะดำเนินการฉีดวัคซีนให้ครบทุกคน ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่มีประชากรทั้งหมด 1.6 ล้านกว่าคน เมื่อหักจำนวนผู้ตั้งครรภ์ และเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีแล้ว ก็จะเหลือประมาณ 1.2 ล้านกว่าคน ก็คาดว่าจะใช้วัคซีนถึง 2.5 ล้านโด๊ส เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายให้ครอบคลุมของจังหวัดเชียงใหม่ โดยจะใช้เวลา 180 วันในการดำเนินการ ทางรัฐบาล และจังหวัดเชียงใหม่ จะดำเนินการให้ไปไปตามกรอบแนวทางทุกประการ ขอให้สบายใจได้” นายวีระพันธ์ ดีอ่อน รอง ผวจ.เชียงใหม่ กล่าว

ร่วมแสดงความคิดเห็น