ศูนย์ปฏิบัติการไฟป่าจังหวัดแม่ฮ่องสอน (War Room) จัดฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุ การป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ปี 2564

เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2561 เวลา 10.00 น.ที่บริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยฝายคอ หมู่ที่ 1 ตำบลปางหมู อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน นายสิธิชัย จินดาหลวง ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน พร้อมด้วยนายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายขจร ศรีชวโนทัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น พันเอกยอดชาย พวงวรินทร์ รองผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 7 แทนรองแม่ทัพภาคที่ 3 นายศิริวัฒน์ บุปผาเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดูการซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ การเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ประจำปี 2564 ของศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง จังหวัดแม่ฮ่องสอน

ทั้งนี้ในการซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ การเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ประจำปี 2564 ได้มีการจำลองสถานการณ์ หลังจากชาวบ้านในพื้นที่ตำบลปางหมู ได้พบเหตุเพลิงไหม้บริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยฝายคอ ก่อนที่จะมีการลุกลามขยายเป็นวงกว้าง นอกจากนั้นยังพบราษฎรได้รับบาดเจ็บจากเหตุไฟป่าและการจำลองการช่วยรักษาพยาบาล โดยในเบื้องต้นจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้มีการสั่งการจาก war room ไฟป่าจังหวัดแม่ฮ่องสอนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเข้าไปดับไฟป่าในพื้นที่สูงชัน ประกอบเกิดสถานการณ์ลมกระโชกแรงทำให้พื้นที่การเกิดไฟป่าขยายเป็นวงกว้าง ทั้งนี้ทาง ศูนย์ควบคุมไฟป่าจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้มีการร้องขอการสนับสนุนอากาศยานเข้าดับไฟป่าในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนจากกระทรวงทรัพยากรและธรรมชาติสิ่งแวดล้อม กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และหน่วยเฉพาะกิจ กรมมทหาราบที่ 7 โดยมีการจัดส่ง 3 ลำเข้าปฏิบัติการภารกิจดับไฟป่าและช่วยเหลือผู้บาดเจ็บนายสิธิชัย จินดาหลวง ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า สำหรับการฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุ การเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ปี 2564 ในครั้งนี้ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อเป็นการซักซ้อมการปฏิบัติการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก่อนนำไปสรุปปัญหาและอุปสรรค ตลอดจนผลการดำเนินงานด้านต่าง ๆในการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่อไป นอกจากนั้นศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองจังหวัดแม่ฮ่องสอน มุ่งหวังที่จะมีการซักซ้อมแผนเผชิญเหตุแบบเสมือนจริงเพื่อนำกลไกการแจ้งเหตุผ่านทาง LINE CHATBOT  ในระบบ FIREMAN THและ ระบบ ป.ภ. รับแจ้งเหตุ 1784 ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มาใช้ในการดำเนินการตามระบบบัญชาการเหตุการณ์ Incident Command system : ICS อย่างเข้มข้นเป็นแบบอย่างให้อำเภอนำไปปฏิบัติในพื้นที่

ทั้งนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า ปัญหาหมอกควันและไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือ จำเป็นที่จะต้องมี การทดสอบกระบวนการคิด วิเคราะห์ถึงสาเหตุ ปัญหา และวิธีป้องกัน การเกิดปัญหาหมอกควันและไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนืออย่างยั่งยืน ทดสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ดับเพลิงและอาสาสมัครในการแก้ไขปัญหาไฟป่า ทดสอบการประสานงานแลกเปลี่ยนข้อมูลทรัพยากร บุคลากร และหน่วยงานภายใน รวมถึงการประสานระดับประเทศ และแผนประชาสัมพันธ์ในภาวะวิกฤต เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงให้กับประชาชนทั้งภายในและภายนอกประเทศ และการจัดการข่าวลวง เพื่อลดความตื่นตระหนกและสร้างความเชื่อมั่นต่อภาคธุรกิจและภาคการท่องเที่ยวโดยเบื้องต้น จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้มีการซักซ้อมแผนการปฏิบัติทั้งใน รูปแบบการฝึก 2 ส่วนประกอบด้วย คือ การฝึกซ้อมแผนบนโต๊ะ (Tabletop exercise : TTX) และการฝึกซ้อมภาคสนาม (Field training exercise : FTX) และการร่วมฝึกซ้อมสถานการณ์ ในครั้งนี้แบ่งการจำลองเหตุการณ์ในสถานการณ์ต่าง ๆ ให้ผู้ร่วมงานได้ร่วมกันคิดวิเคราะห์ถึงสาเหตุของการเกิดปัญหา และการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะเมื่อสถานการณ์ของไฟป่าเกิดความรุนแรงขึ้น และมีการบิดเบือนข่าวสารต่าง ๆ ที่ทำให้ประชาชนเข้าใจผิด

สำหรับสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ในปี 2563 ที่ผ่านมา จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีจุดความร้อนสะสมในระบบเวียร์ จำนวน 16,607 จุด สูงเป็นลำดับที่ 2 ในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ มีจำนวนวันที่ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) เกินเกณฑ์มาตรฐาน จำนวน 75 วัน มีพื้นที่เสียหายจากการเกิดไฟป่า จำนวน 1.7 ล้านไร่ ซึ่งสถานการณ์ทั้งหมดที่กล่าวมา มีแนวโน้มที่สูงขึ้นจากปี 2562 และได้ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของราษฎรในพื้นที่ ทั้งด้านสุขภาพ ด้านเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพสิ่งแวดล้อม

ในปี 2564 จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้กำหนดให้การแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) เป็นวาระเร่งด่วนของจังหวัด และได้เริ่มเตรียมการรับมือสถานการณ์ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 โดยผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนได้ตั้ง ศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองจังหวัดแม่ฮ่องสอน ขึ้น โดยบูรณาการหน่วยงานและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเป็นคณะกรรมการชุดใหญ่ จำนวน 49 หน่วยงาน มีคณะทำงานภายใต้ศูนย์อำนวยการฯ จำนวน 9 ชุด ประกอบด้วย

คณะทำงานศูนย์ปฏิบัติการไฟป่าจังหวัดแม่ฮ่องสอน หรือ ศูนย์ Warroomจังหวัดคณะทำงานศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองระดับอำเภอ 7 อำเภอ และ คณะทำงานด้านการประชาสัมพันธ์ และสื่อสารมวลชน หรือ โฆษกศูนย์อำนวยการฯโดยทุกคณะทำงานบูรณาการการดำเนินงาน ภายใต้แผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองจังหวัดแม่ฮ่องสอน ประจำปี พ.ศ.2564 ซึ่งได้กำหนดเป้าหมายให้ทุกตัวชี้วัดลดลงร้อยละ 50 และต้องไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ โดยมีมาตรการหลักในการขับเคลื่อนให้บรรลุตามเป้าหมาย 10 มาตรการ ได้แก่ 1.มาตรการประชาสัมพันธ์ 2.มาตรการบริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่ 3.มาตรการห้ามเผาเด็ดขาด 4.มาตรการลาดตระเวน เฝ้าระวัง และดับไฟ 5.มาตรการเผชิญเหตุ ในสถานการณ์วิกฤติรุนแรง 6.มาตรการลดฝุ่นละอองในพื้นที่เขตเมือง 7.มาตรการดูแลสุขภาพของประชาชน 8.มาตรการควบคุมแหล่งกำหนดมลพิษอื่น ๆ 9.มาตรการบังคับใช้กฎหมาย และ10.มาตรการสร้างความยั่งยืน

สำหรับสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ในห้วง 2 เดือนที่ผ่านมา จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีจุดความร้อนสะสมทั้งหมด 3,437 จุด คิดเป็นร้อยละ 20.70 ของจุดความร้อนสะสมปี 2563 หรือ คิดเป็นร้อยละ 41.39 ของค่าเป้าหมายปี 2564 ในส่วนของค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 มีจำนวนวันที่เกินมาตรฐาน จำนวน 8 วัน โดยคาดการณ์แนวโน้มของสถานการณ์จะมีความรุนแรงเพิ่มมากยิ่งขึ้นในห้วงเดือนมีนาคม และเดือนเมษายน

การเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ในวันนี้ขึ้นซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการหลักของจังหวัด ที่ได้กำหนดให้ทุกหน่วยงานต้องมีการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองที่อาจมีความรุนแรงโดยมีการระดมสรรพกำลังจากทุกภาคส่วน ทั้งในระดับตำบล ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด รวมถึงระดับส่วนกลาง และมีผู้เข้าร่วมการฝึกซ้อม จำนวน 300 คน รูปแบบการฝึกได้กำหนดระดับการฝึกซ้อมจากสถานการณ์ที่มีความรุนแรงตั้งแต่เริ่มต้น ไปจนถึงระดับที่มีความรุนแรงสูง จำนวน 4 ระดับ ประกอบด้วย 1. ระดับเบื้องต้น 2.ระดับปานกลาง 3.ระดับรุนแรง และ4.ระดับรุนแรงสูง เพื่อเป็นการซักซ้อมระบบการบัญชาการ การประสานงาน การเข้าระงับเหตุภาคพื้นดิน รวมถึงการใช้อากาศยานในการเข้าระงับเหตุในกรณีที่มีสถานการณ์รุนแรงทั้งนี้  เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ อีกทั้งเพื่อเป็นสัญญาณให้ทุกหน่วยงานยกระดับการปฏิบัติงานให้มีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ศูนย์ปฏิบัติการไฟป่าจังหวัดแม่ฮ่องสอน มีการดำเนินงาน ทั้งในระดับตำบล ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด ที่ได้ร่วมบูรณการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ จาก สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัย กองทัพภาคที่ 3 ที่ได้ให้การสนับสนุนอากาศยานเข้าร่วมการฝึกซ้อมในครั้งนี้

ร่วมแสดงความคิดเห็น