อธิการบดี ม.แม่โจ้ ส่งมอบอีกล็อตดอกกัญชาแห้งบด 161 กิโลกรัม พร้อมรากแห้ง และต้นแห้ง ตรงถึง รพ.อุดรธานีเพื่อผลิตยา และใช้ประโยชน์ทางการแพทย์

วันนี้(4 มี.ค.64) โรงปลูกกัญชาอินทรีย์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพล ทองมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ พร้อมด้วยผู้แทนจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่,สถานีตำรวจภูธรสันทราย และสถานีตำรวจภูธรแม่โจ้ ร่วมเป็นสักขีพยาน พิธีส่งมอบดอกกัญชาแห้งบดจำนวน 161 กิโลกรัม,รากกัญชาแห้งจำนวน 50กิโลกรัม และลำต้นแห้งจำนวน 150 กิโลกรัม มูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 8 ล้านบาท ให้กับโรงพยาบาลอุดรธานีและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี เพื่อผลิตยาและใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ตามโครงการปลูกกัญชาทางการแพทย์สายพันธุ์ไทยในระดับอุตสาหกรรมแห่งแรกของอาเซียน ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่าง กรมการแพทย์ องค์การเภสัชกรรม (อภ.) และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์กัญชาเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ตามมาตรฐานเกรดทางการแพทย์แบบครบวงจร ที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2562 ด้วยการปลูกระบบเกษตรอินทรีย์ มีความปลอดภัย มีมาตรฐาน ไม่มีสารเคมี และสารปรุงแต่งใดๆ

ทั้งนี้อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เปิดเผยว่า ตลอดช่วงที่ผ่านมามหาวิทยาลัยแม่โจ้ ซึ่งร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขตามโครงการปลูกกัญชาทางการแพทย์ ได้ทำการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์กัญชาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้สายพันธุ์กัญชาที่มีสาร THC และ CBD ในทิศทางที่ทางการแพทย์ต้องการ เริ่มจากเมล็ดพันธ์กัญชาอิสระ 01 ที่ได้รับมอบจากกรมการแพทย์ 16,700 เมล็ด นำมาปลูก พร้อมวิจัยและตรวจสอบปริมาณสารสำคัญ ซึ่ง่พบว่าจากการสุ่มตัวอย่างต้นกัญชา 133 ต้น จากที่ปลูก12,000ต้นในโรงเรือนเพื่อติดตามการเจริญเติบโตตลอดวงรอบการเพาะปลูกและตรวจDNA พบว่ามีความแตกต่างทางพันธุกรรม 9 กลุ่ม และแต่ละกลุ่มยังมีปริมาณสารสำคัญไม่เท่ากัน โดยเฉพาะสาร THC และ CBD ดังนั้นจึงมีความเห็นว่าเวลานี้ยังไม่สมควรจดทะเบียนสายพันธุ์ อิสระ01 แต่ต้องปรับปรุงพันธุ์ให้ได้มาตรฐานเสียก่อนที่จะทำการขึ้นทะเบียน เพื่อเป็นการสร้างมาตรฐานสายพันธุ์กัญชาไทย โดยมีข้อมูลระดับพันธุกรรมยืนยันความนิ่งของสายพันธุ์

สำหรับการคัดแยกและปรับปรุงพันธุ์จากสายพันธุ์อิสระ 01 นั้น รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพล ระบุว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ทำการทดลองปลูกมา 3 วงรอบการปลูกแล้ว พบว่ามี 1 สายพันธุ์ ที่มีระดับพันธุกรรมที่ค่อนข้างนิ่ง ซึ่งมหาวิทยาลัยตั้งชื่อพันธุ์ว่า กัญชาสายพันธุ์แม่โจ้ 03 ซึ่งอยู่ระหว่างการทดสอบพันธุ์ให้ครบ5วงรอบการปลูก ขณะเดียวกันพบด้วยว่ามี 1 สายพันธุ์ ที่มีระดับ THCต่ำมาก ซึ่งจัดอยู่ในประเภทพืชกัญชง โดยทางมหาวิทยาลัยตั้งชื่อพันธุ์ว่า กัญชงสายพันธุ์แม่โจ้ 10 กำลังอยู่ระหว่างการทดสอบพันธุ์เช่นกัน ทั้งนี้มีแนวโน้มอย่างสูงที่ประสบความสำเร็จได้สายพันธุ์กัญชาและกัญชงที่มาตรฐานทั้งในด้านผลผลิต และปริมาณสารสำคัญ เพื่อทำการขึ้นทะเบียนต่อไป ซึ่งจะเกิดประโยชน์อย่างสูงสุดต่อประเทศไทย ทั้งด้านการแพทย์และด้านเศรษฐกิจ
ส่วนกรณีที่บริษัทหรือผู้ประกอบการบางรายการอ้างชื่อมหาวิทยาลัยแม่โจ้ในการดำเนินธุรกิจลักษณะแฟรนไชส์จำหน่ายจ่ายแจกหรือขาย เมล็ดพันธุ์กัญชา เมล็ดพันธุ์กัญชง รวมทั้งชิ้นส่วนต่างๆ ของกัญชาทั้งใบ ลำต้นและรากนั้น อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ยืนยันว่า มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ไม่มีการจำหน่ายจ่ายแจกหรือขาย เมล็ดพันธุ์กัญชา เมล็ดพันธุ์กัญชง โดยไม่มีการจัดตั้งหรือร่วมงานกับบริษัทหรือผู้ประกอบการต่างๆ ตามที่กล่าวอ้างตามสื่อต่างๆ แต่อย่างใดทั้งสิ้น จึงขอให้ประชาชนทั่วไปอย่าได้หลงเชื่อคำกล่าวอ้างใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งนี้หากมีข้อสงสัยใดๆ สามารถสอบถามได้โดยตรงที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ หมายเลขโทรศัพท์ 053-873730

ร่วมแสดงความคิดเห็น