“วราวุธ” สั่งเร่งสืบกรณี ปะการัง เกาะทะลุ เสียหาย คาดเกิดจากการตัด หักกิ่ง “กรมทะเล” ตั้งทีมสอบสวนข้อเท็จจริง เตรียมใช้กฎหมายจัดการหนัก

กรณีมีการโพสภาพปะการังน้ำตื้น บริเวณเกาะทะลุ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นแปลงปลูกปะการัง แต่มีสภาพเสียหาย ปะการังแตก กิ่งหัก ผ่าน Facebook ของนายประจักษ์ ทองรัตน์ กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรใต้น้ำ ชุมชนบ้านปากคลอง อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สั่งควานหาผู้กระทำความผิดให้ดำเนินการถึงที่สุด โทษหนักสุดจำคุก 10 ปี ปรับไม่เกิน 1,000,000บาท ตามมาตรา 89 วรรค1 แห่ง พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ด้านกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ยกทีมนักวิชาการดำน้ำสำรวจพื้นที่ทันที พร้อมตั้งทีมสอบสวนข้อเท็จจริง ยืนยันพร้อมดำเนินคดีหากพบผู้กระทำความผิดจริง

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ตนได้รับทราบการรายงาน กรณี ปะการังได้รับความเสียหายซึ่งคาดว่าเกิดจากการตัด หักกิ่งปะการัง ตนรู้สึกกังวลอย่างยิ่งและได้สั่งการให้นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้เร่งกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามหาสาเหตุของความเสียหายดังกล่าวอย่างเร่งด่วน และรายงานให้ตนทราบทันที ทั้งนี้ เบื้องต้นคาดว่าเกิดจากการตัด หักกิ่ง เกิดจากฝีมือมนุษย์ ซึ่งสาเหตุที่แท้จริงเป็นอย่างไรคงต้องรอการสืบข้อเท็จจริงก่อน ไม่ว่าจะเป็นการกระทำความผิดโดยตั้งใจ ของผู้รับจ้างที่เป็นคู่สัญญาหรือเป็นการกลั่นแกล้งกันจากผู้เสียผลประโยชน์ ก็จะให้ดำเนินการทางกฎหมายอย่างถึงที่สุด ซึ่งตนอยากจะขอย้ำว่า “ปะการังนับเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามกฎกระทรวง กำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ศ. 2546 ไม่ว่าจะกระทำการใด จะโดยตั้งใจหรือประมาทเลินเล่อต่อสัตว์ป่าคุ้มครอง จะต้องชดใช้ค่าเสียหาย อีกทั้งจะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” ในฐานะ รมว.ทส.ตนอยากจะฝากถึงพี่น้องประชาชนว่า โปรดช่วยกันเป็นหูเป็นตา ดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม “อย่าเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนหรืออย่าเอาชนะกันด้วยการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ เพราะจะไม่มีผู้ชนะ จะมีแต่ผู้สูญเสีย มนุษย์สูญเสียธรรมชาติ ส่วนธรรมชาติสูญเสียสมดุล” ซึ่งเรื่องนี้ตนจะติดตามอย่างใกล้ชิด อีกทั้งจะได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการตรวจสอบให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด ต่อไป

ด้านนายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ว่าพื้นที่เกิดเหตุจะอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติอ่าวสยาม (เตรียมการ)ของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ก็ตามตนได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 3 ดำเนินการแจ้งความ
ณ สถานีตำรวจภูธรบางสะพานน้อย เกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2564 ไว้ก่อน อีกทั้ง ได้สั่งการให้ทีมนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านปะการังลงดำน้ำเพื่อสำรวจความเสียหายและประเมินสภาพแปลงปลูกปะการังดังกล่าว ผลการสำรวจพบว่า ปะการังส่วนใหญ่ที่ได้รับความเสียหายเป็นปะการังเขากวาง ทั้งนี้ มีการพบรอยแผลของปะการัง และการสมานของเนื้อเยื่อ รวมทั้ง การเติบโตของโครงสร้างหินปูน ซึ่งทางกรมฯ ได้สอบสวนบริษัทรับปลูกเสริมปะการัง ที่กรมฯ ได้ว่าจ้างดำเนินการปลูกเสริมปะการัง ในปี 2564 จำนวน 25 ไร่ รวมถึง พื้นที่เกาะทะลุด้วย เบื้องต้น ทางบริษัทยืนยันว่าไม่ได้มีการตัดหรือหักปะการังจากแปลงดังกล่าวแต่อย่างใด ซึ่งตามสัญญาทางบริษัทที่เข้าดำเนินการจะต้องเก็บกิ่งพันธุ์ ที่หักและหล่นอยู่ตามธรรมชาติเท่านั้น จะไม่ให้ตัดหรือหักกิ่งพันธุ์แต่อย่างใด และกรณีที่ในพื้นที่ มีกิ่งแตกหักในธรรมชาติไม่เพียงพอ และมีความจำเป็นต้องตัดกิ่งพันธุ์ในแปลงที่เคยปลูกฟื้นฟูไว้ ก็จะต้องทำหนังสือขออนุญาตจากกรมฯ ก่อน อย่างไรก็ตาม ตนได้กำชับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเร่งติดตามหาสาเหตุที่เกิดขึ้นและรายงานให้ทราบโดยด่วน หากทราบผู้กระทำผิด จะต้องดำเนินการทางกฎหมายขั้นเด็ดขาด ต่อไป นายโสภณ ทองดี กล่าว

นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

ร่วมแสดงความคิดเห็น