ปลอดภัยแล้ว ช้าง 5 เชือกถูกสารเคมีที่อมก๋อย ล่าสุด รพ.ช้างลำปาง สถาบันคชบาลแห่งชาติ เปิดแถลงชี้แจงผลการรักษา คาดอีก 2 สัปดาห์สามารถกลับบ้านได้ พร้อมชี้ผลกระทบของการใช้สารเคมีทางเกษตร วอนใช้ให้ถูกต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม

เมื่อเวลา 11.00 น. วันนี้ (7 มี.ค.64) รายงานข่าวแจ้งว่า ที่บริเวณ โรงพยาบาลช้างลำปาง สถาบันคชบาลแห่งชาติ อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง นายสุรัตน์ชัย อินทร์วิเศษ ผู้อํานวยการสํานักสถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ จ.ลําปาง พร้อมด้วย รศ.น.สพ.ดร.ฉัตรโชติ ทิตาราม หัวหน้าศูนย์วิจัยช้างและสัตว์ป่า คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ , นายธีรภัทร ตรังปราการ นายกสมาคมสหพันธ์ช้างไทย , น.สพ. ดร. ทวีโภค อังควานิช หัวหน้าฝ่ายอนุรักษ์ช้าง สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ จ.ลําปาง และ น.สพ.ขจรพัฒน์ บุญประเสริฐ นายสัตวแพทย์ประจำศูนย์วิจัยช้างและสัตว์ป่า คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ร่วมกันแถลงข่าวความคืบหน้ากรณีการรักษาและบริบาลช้างเลี้ยง ที่ประสบเหตุสัมผัสสารเคมีทางการเกษตรในเขตพื้นที่ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ จนส่งผลให้เกิดผลเสียต่อร่างกายและสุขภาพของช้าง และได้การเคลื่อนย้ายช้างมาเข้ารับการรักษาในพื้นที่ เมื่อวันที่ 4 มี.ค.64 ที่ผ่านมา จนกระทั่งถึงวันนี้

โดยทาง นายสุรัตน์ชัย อินทร์วิเศษ ผู้อำนวยการสํานักสถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ จ.ลําปาง เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากกรณีที่ช่วงวันที่ 4-5 มี.ค.64 ที่ผ่านมานั้น ได้เกิดเหตุการณ์ช้างเลี้ยงกลุ่มหนึ่งในเขตพื้นที่ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ได้ประสบเหตุสัมผัสสารเคมีทางการเกษตร ถูกส่งเข้ามารักษาตัวที่โรงพยาบาลช้างลำปาง สถาบันคชบาลแห่งชาติ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องถึงลำดับเหตุการณ์ แนวทางการรักษาและ บริบาลช้าง ตลอดจนสถานะของช้างที่ข้องเกี่ยวกับเหตุการณ์ครั้งนี้ในปัจจุบัน จึงได้มีการเปิดแถลงข่าวขึ้นโดยในวันนี้ทาง ศูนย์วิจัยช้างและสัตว์ป่า คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สมาคมสหพันธ์ช้างไทย และทีมหมอของโรงพยาบาลช้างไทย สถาบันคชบาลแห่งชาติ จึงขอรายงานลำดับเหตุการณ์ตั้งแต่การได้รับรายงานและการร้องขอความช่วยเหลือช้างที่ต้องสงสัยได้รับการสัมผัส กับสารเคมีทางการเกษตร ก่อนที่จะเข้ารับการรักษายังโรงพยาบาลช้างลาปาง สถาบันคชบาลแห่งชาติจนถึงขณะนี้

น.สพ.ขจรพัฒน์ บุญประเสริฐ นายสัตวแพทย์ประจําศูนย์วิจัยช้างและสัตว์ป่า คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ข้อมูลว่า ช่วงสายของวันที่ 4 มี.ค.64 ทางศูนย์วิจัยช้างและสัตว์ป่า คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับแจ้งและร้องขอความช่วยเหลือจากเจ้าของช้างในพื้นที่ บ้านทุ่งต้นงิ้ว ต.แม่ตื่น อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ว่ามีช้างที่เลี้ยงอยู่จำนวน 8 เชือก ที่เลี้ยงอยู่ร่วมกัน เป็นรูปแบบโขลงช้าง ประสบเหตุสัมผัสกับสารเคมีทางการเกษตรไม่ทราบชนิดพร้อมกัน จากการที่พบวัตถุบรรจุภัณฑ์ในที่ใกล้เคียงที่กลุ่มช้างอยู่ ซึ่งคาดว่าลูกช้างหรือช้างบางเชือกในกลุ่มพบเจอและนำมาเล่นจนเป็น เหตุให้ช้างในกลุ่มสัมผัสกับสารเคมีเกษตรดังกล่าว โดยที่ช้างเหล่านั้นบางส่วนปรากฏอาการซึม ไม่กินอาหาร ดังนั้นทางนายสัตวแพทย์ประจำศูนย์วิจัยช้างและสัตว์ป่า จึงได้เร่งเข้าช่วยเหลือและเข้าถึงช้างกลุ่มนี้อย่างเร่งด่วน ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าช้างที่มีอาการและบาดแผลจากการสัมผัสสารเคมีเกษตรข้างต้นนั้นมีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 5 เชือก จาก 8 เชือก คือปรากฏอาการซึม แผลถลอกในช่องปาก ลิ้นบวมอักเสบ จึงได้ให้การรักษา เบื้องต้นด้วยการใช้น้ำสะอาดชะล้างแผลและเจือจางพิษที่อาจจะหลงเหลืออยู่ที่ช่องปาก พร้อมกับให้ยาลดการ อักเสบและลดปวด พร้อมกับประเมินความเสี่ยงและเรียงลำดับความสำคัญในการเข้ารับการรักษาต่อยัง โรงพยาบาลช้าง

จากนั้นในเวลา 22.00 น. วันดังกล่าว จึงได้นำช้างกลุ่มแรก จำนวน 3 เชือก ที่พิจารณาแล้วว่าต้องออกจากพื้นที่ไปเข้า รับการรักษาก่อนด้วยการเคลื่อนย้ายช้างด้วยรถบรรทุกของเอกชนเพื่อนำช้างลงมายังพื้นที่ด้านล่าง ถ่ายโอนต่อให้ทางรถขนย้ายช้างของทางสมาคมสหพันธ์ช้างไทยที่จอดรออยู่ แต่ด้วยสภาพของพื้นที่ในป่าและภูเขาสูงชัน ทำให้ยากต่อการนำรถใหญ่ขึ้นไปรับช้างโดยตรงได้ จนในเวลาประมาณ 00.00 น. ของวันที่ 5 มี.ค.64 จึงสามารถเดินทางต่อไปยังโรงพยาบาลช้าง และถึงยังโรงพยาบาลช้างในช่วงเช้า เวลาประมาณ 08.00 น. สำหรับช้างอีก 2 เชือกที่เหลือได้รับการขนย้ายออกจากพื้นที่ได้ในเวลา ต่อมาด้วยรถบรรทุกเอกชนเดิมและถึงยังโรงพยาบาลช้างในเวลา 20.00 น. เพื่อเข้ารับการรักษา

ด้าน รศ.น.สพ.ดร.ฉัตรโชติ ทิตาราม หัวหน้าศูนย์วิจัยช้างและสัตว์ป่า คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ช้างกลุ่มนี้เป็นช้างที่ได้พักงานและ เดินทางกลับไปพักยังภูมิลาเนาเดิมจากผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา ซึ่งแต่เดิมช้างกลุ่มนี้ได้ถูกเลี้ยงดูและทำงานในสถานประกอบการการท่องเที่ยวในเขต อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ โดยจากสอบข้อมูลในพื้นที่ของเหตุการณ์ในครั้งนี้ อาจสันนิษฐานได้ว่าช้างกลุ่มนี้ที่มีรูปแบบการเลี้ยง แบบปล่อยเลี้ยงเป็นกลุ่มได้มาพบเจอกับบรรจุภัณฑ์ของสารเคมีทางการเกษตรนี้ ประกอบกับช้างในกลุ่มนี้มี ลูกช้างและช้างรุ่นที่อาจจะสงสัยและนำเอาบรรจุภัณฑ์นี้มาเล่น กัดหรือใส่ในปาก เพื่อสำรวจ และก่อให้เกิดการสัมผัสกับสารเคมีที่บรรจุอยู่ภายใน เมื่อทางเจ้าของช้างเมื่อทราบถึงเหตุผิดปกติที่เกิดขึ้นจึงรีบนำช้างออกจากบริเวณที่เกิดเหตุและเร่งประสานมายังหน่วยงานข้างต้น และจากรูปแบบการเกิดบาดแผลและอาการของช้างจากที่สัมผัสกับสารเคมีทางการเกษตรที่ต้องสงสัยนั้น ที่สอดคล้องกับช้างที่เคยได้รับการบ่งชี้ว่าสัมผัสกับ สารเคมีกลุ่มยากำจัดวัชพืช ในเหตุก่อนหน้าที่มีรายงานการรักษามา

สำหรับแนวทางการรักษาและบริบาลช้างที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลช้างจำนวน 5 เชือก ที่ประกอบไปด้วยแม่ลูก 2 คู่ คือ พังคามูล (15 ปี) , พลายวิลเลี่ยม (1 ปี) และ พังมึมึ (18 ปี) , พลายชาลี (2 ปี) อีกเชือกที่เหลือเป็นช้างรุ่น คือ พังโมพอนะ (10 ปี) ทั้งหมดพบว่ามีบาดแผลถลอกและอักเสบ บวม ในช่องปากและลิ้น และพบบางจุดที่ปลายงวงในบางเชือก ช้างทุกเชือกมีการตอบสนองที่ดี มีความอยากอาหาร สามารถกินอาหารและน้ำได้เอง

อย่างไรก็ตามในช่วงแรกที่มาถึงโรงพยาบาล ช้างพังโมพอนะ มีอาการซึมอย่างเห็นได้ชัดและไม่กินอาหาร ทั้งนี้ทางนายสัตวแพทย์ประจำโรงพยาบาลช้างลำปางและศูนย์การวิจัยช้างและ สัตว์ป่า ได้ทำการรักษาช้างโดยการให้สารน้ำเพื่อขับสารพิษ พร้อมทั้งให้ยาลดการอักเสบ ยากดภูมิคุ้มกันและยาต้านอนุมูลอิสระในช้างทุกเชือก ตามแนวทางการรักษาช้างที่สัมผัสสารเคมีทางการเกษตรในกรณีที่แล้วมา ภายหลังจากทำการรักษา พบว่า ช้างทุกเชือกมีการตอบสนองต่อการรักษาดี สามารถกินน้ำและอาหารได้ ขับถ่ายปกติ โดยเฉพาะพังโมพอนะที่มีอาการซึมลดลงจนสู่ภาวะปกติ อย่างไรก็ตามสัตวแพทย์ได้วางแผนการรักษาอย่างต่อเนื่อง พร้อมทำการติดตามผลการรักษาโดยการตรวจเลือดซ้ำ เพื่อประเมินผลการรักษาและเพื่อประเมินผลกระทบของสารเคมีทางการเกษตรข้างต้นที่อาจจะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายและส่งผลต่ออวัยวะต่างๆ ของช้างเป็นระยะๆ ถ้าหากผลเลือดอยู่ในเกณฑ์ปกติและไม่มีผลกระทบของสารเคมีต่อร่างกายช้าง คาดว่าช้าง จะสามารถเดินทางกลับบ้านได้ภายในระยะเวลา 2 สัปดาห์

ขณะที่ทางด้าน นายธีรภัทร ตรังปราการ นายกสมาคมสหพันธ์ช้างไทย เปิดเผยว่า จากข้อมูลย้อนหลังของโรงพยาบาลช้างลำปาง สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในช่วง 10 ปีที่ ผ่านมา พบว่ามีช้างป่วยจากการสัมผัสสารเคมีทางการเกษตรจำนวน 25 เชือก ซึ่งรวมช้างจำนวน 5 เชือกล่าสุด โดยสารเคมี ดังกล่าวมีทั้งกลุ่มยากำจัดศัตรูพืช ยากำจัดวัชพืชและสารเร่งผลผลิตต่างๆ โดยมีช้างที่เสียชีวิตทั้งหมด 7 เชือก จาก 25 เชือก ซึ่งช้างที่เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นช้างที่สัมผัสกับสารเคมีในปริมาณมากและสารเคมีดังกล่าวเป็น กลุ่มที่มีพิษต่อร่างกายสูง เช่น ยากำจัดวัชพืชกลุ่มพาราควอต ยาเร่งผลผลิตที่มีเหล็กเป็นองค์ประกอบ เป็นต้น โดยจำนวนช้างที่ป่วยและตายข้างต้นกว่าครึ่งหนึ่งเป็นช้างที่ได้รับบ่งชี้ว่ามีการสัมผัสกับสารเคมีทางการเกษตร ในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีการยกเลิกหรือห้ามใช้สารเคมีทางการเกษตรบางกลุ่ม โดยเฉพาะสารที่ ส่งผลเสียต่อร่างกายมนุษย์ในระยะยาวแล้ว แต่สารเคมีบางส่วนอาจจะยังมีการตกค้างหรือหลงเหลืออยู่ในบางพื้นที่ และอาจจะส่งผลให้เกิดเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกันนี้แก่ผู้คน สัตว์เลี้ยงและสิ่งมีชีวิตในสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ใน ปัจจุบันการทางการเกษตรเป็นหนึ่งในอาชีพที่มีความสำคัญต่อชุมชน ภูมิภาคและประเทศชาติ ด้วยเชื่อมโยง เป็นแหล่งอาหารของมนุษย์และสัตว์ อย่างไรก็ตามการใช้สารเคมีในการทางการเกษตรเป็นสิ่งที่ควรระลึกไว้ว่ามี ทั้งผลดีและผลเสีย ดังนั้นควรจะต้องมีการจัดการที่เหมาะสมและรัดกุมเพื่อที่จะไม่เกิดผลเสียต่อผู้บริโภคทั้งคน สัตว์ตลอดจนสิ่งแวดล้อม ซึ่งเหตุการณ์เช่นนี้ไม่ควรจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต

โดยศูนย์วิจัยช้างและสัตว์ป่า คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดรับบริจาค เพื่อช้างทุกเชือก และผู้ดูแลช้างทุกท่านในจังหวัดเชียงใหม่ ให้ผ่านพ้นวิกฤติการณ์จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 และภาวะภัยแล้ง ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ร่วมสนับสนุนค่ายาและเวชภัณฑ์ได้ที่ ชื่อบัญชี ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการศึกษาและวิจัยช้าง ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เลขที่บัญชี 667-296-062-4 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.asianelephantresearch.com/ หรือ www.facebook.com/EREC.CMU/

และทางสมาคมสหพันธ์ช้างไทย เปิดรับบริจาคผ่าน “โครงการร่วมด้วยช่วยช้าง ฝ่าวิกฤต COVID-19” ช่องทางการบริจาค ธนาคารกสิกรไทย สาขาสี่แยกสนามบินเชียงใหม่ ชื่อบัญชี “สมาคมสหพันธ์ช้างไทย” เลขที่บัญชี 067-8-56914-3 หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/thaielephantalliance/

ร่วมแสดงความคิดเห็น