(มีคลิป) ค่าฝุ่น PM 2.5 จังหวัดแม่ฮ่องสอน พุ่งสูงต่อเนื่อง ควันไฟป่าหนาทึบ เป็นอันตรายต่อสุขภาพประชาชนและส่งผลกระทบต่อการบินเป็นวันที่ 2

ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก 2.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ของแม่ฮ่องสอน ยังคงพุ่งทะยานอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเช้าวันนี้ ( 8 มี .ค.64) เวลา 09.00 น. พุ่งสูงถึง 329 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ทั้งเมืองถูกปกคลุมด้วยควันไฟป่าหนาทึบจนมองเห็นพระอาทิตย์ด้วยตาเปล่า ทัศนวิสัยต่ำไม่เกิน 1 กม. คาดส่งผลกระทบต่อการบินเป็นวันที่ 2

เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2564 เวลา 09.00 น.กรมควบคุมมลพิษ ได้รายงานผลการตรวจวัดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรของจังหวัดแม่ฮ่องสอน วัดค่าได้ 329 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร อยู่ในระดับเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน

ค่าปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กดังกล่าว ที่พุ่งทะยานสูงขึ้นอย่างน่าตกใจและส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน มาจากการลอบเผาป่าอย่างหนักในหลายพื้นที่รอบตัวเมืองแม่ฮ่องสอน ประกอบกับสภาพอากาศที่หนาวเย็น โดยช่วงเช้าวันนี้ อุณหภูมิต่ำสุดในตัวเมืองแม่ฮ่องสอนวัดได้ 12 องศาเซลเซียส อากาศที่หนาวเย็นมาจากความกดอากาศ ซึ่งเป็นตัวแปร ทำให้ฝุ่นพิษถูกกดให้ลอยปกคลุมตัวเมืองแม่ฮ่องสอนที่ตั้งอยู่ในหุบเขา ลักษณะคล้ายแอ่งกระทะ ทำให้ค่าฝุ่นมีความหนาแน่นเพิ่มมากขึ้น

สถานการณ์ดังกล่าว พบว่าในตัวเมืองแม่ฮ่องสอน สภาพเหมือนฤดูหนาวที่มีหมอกปกคลุมหนาแน่นจนทำให้สามารถมองเห็นพระอาทิตย์ด้วยตาเปล่า และประชาชนที่เดินทางออกนอกบ้านรู้สึกหายใจไม่สะดวกและแสบจมูก โดยเฉพาะผู้ที่ป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจและเป็นโรคภูมิแพ้ จะได้รับผลกระทบอย่างหนัก

ทางด้านสถานีอุตุนิยมวิทยาจังหวัดแม่ฮ่องสอน รายงานค่าการตรวจวัด ทัศนวิสัยในการมองเห็น ตั้งแต่วันที่ 7 – 8 มีนาคม 2564 ค่าทัศนวิสัยวัดได้ 1,000 เมตร ซึ่งส่งผลกระทบต่อการบินของอากาศยานทุกชนิด ส่งผลให้สายการบินพาณิชย์ ต้องยกเลิกเที่ยวบินไปแล้ว 2 เที่ยวบินและในวันนี้ ค่าทัศนวิสัยคงต่ำเหมือนเมื่อวานที่ผ่านมา คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการบินต่อเนื่องไปอีก

อย่างไรก็ตาม ไฟป่าแต่ละจุดที่เกิดขึ้น เจ้าหน้าที่ดับไฟป่าและส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินการออกไปทำการดับไฟป่าอย่างต่อเนื่อง แต่มีไฟป่าหลายแห่งที่เกิดขึ้นบนเขาสูงชัน ทำให้ไม่สามารถทำการดับได้ จึงทำให้ควันหนาทึบต่อเนื่อง สำหรับจุดไฟป่าของแม่ฮ่องสอน เมื่อวันที่7 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา พบจุดไฟป่า ( ฮอทสปอต ) จำนวน 215 จุด แบ่งเป็นพื้นที่อนุรักษ์ ( อุทยาน ) จำนวน150 จุด ป่าสงวน 62 จุด และในเขตชุมชน 3 จุด สูงที่สุดในภาคเหนือ

ร่วมแสดงความคิดเห็น