สธ. เปิดศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข ยกระดับปฏิบัติการแก้ปัญหาฝุ่นจิ๋ว

กระทรวงสาธารณสุข เปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก เพื่อยกระดับการปฏิบัติการและบูรณาการการจัดการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ พร้อมยกระดับมาตรการด้านการแพทย์และสาธารณสุข

วันที่ 9 มีนาคม 2564 นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังการประชุมทางไกล  ศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีฝุ่นละอองขนาดเล็กและหมอกควัน ณ ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข ว่า สถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ในประเทศพบเกินค่ามาตรฐานในพื้นที่ภาคเหนือและมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะ 6 จังหวัดที่อยู่ในขั้นวิกฤติ (สีแดง) อยู่ในระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพ คือ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง พะเยาและตาก ซึ่งสาเหตุมาจากการเผาพื้นที่เกษตร ไฟป่าในประเทศ สภาพอากาศ และหมอกควันข้ามแดน โดยเฉพาะในวันที่ 8 มีนาคม    ที่ผ่านมา พบค่า PM2.5 สูงสุดถึง 325 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ณ ตำบลจองคำ อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน และส่งผลกระทบ ต่อประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มเด็ก ผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัว โดยการเฝ้าระวังตนเองของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่นละออง (อนามัยโพล) ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 1 – 8 มีนาคม 2564 ซึ่งเป็นช่วงที่สถานการณ์ PM2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ในภาพรวมมีอาการถึงร้อยละ 39.49 ส่วนใหญ่มีอาการแสบจมูกร้อยละ 19.32 คัดจมูก มีน้ำมูกร้อยละ 18.90 และอาการระคายเคืองตา ร้อยละ 15.54  และกลุ่มอายุ 45 – 54 ปี เป็นกลุ่มที่มีอาการมากที่สุด ดังนั้น ก่อนออกนอกบ้านทุกครั้ง ขอให้ติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง ทางเว็บไซต์กรมควบคุมมลพิษ และแอปพลิเคชัน Air4thai หรือติดตามข่าวสารด้านสุขภาพและมลพิษทางอากาศ ทางเพจ “คนรักอนามัย ใส่ใจอากาศ PM2.5” และควรสวมหน้ากากป้องกันทุกครั้ง

“ทั้งนี้ จากสถานการณ์ความรุนแรงข้างต้น กระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีฝุ่นละอองขนาดเล็กและหมอกควันระดับกระทรวงขึ้น โดยได้จัดการประชุมทางไกล (Web conference) ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อยกระดับมาตรการด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยมีข้อสั่งการ ดังนี้ 1) เปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขในระดับจังหวัดและเขตสุขภาพ เพื่อยกระดับการปฏิบัติการและบูรณาการการจัดการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ 2) เฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์ และสื่อสาร แจ้งเตือนความเสี่ยงและวิธีการปฏิบัติตน  การดูแลสุขภาพแก่ประชาชน 3) เฝ้าระวังการเจ็บป่วยใน 4 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือด     ระบบผิวหนัง และระบบตา รวมทั้งให้รายงานผู้ป่วยที่มารับการรักษาในสถานพยาบาลทุกวัน หรือหากมีผู้ป่วยโรคหัวใจและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) เข้ารับการรักษาในห้องฉุกเฉินมากกว่าปกติให้รายงานทันที 4) การดูแลและป้องกันความเสี่ยงต่อสุขภาพ โดยให้ทีมหมอประจำตัว (3 หมอ) ได้แก่ 1) หมอประจำบ้าน คือ อสม. 2) หมอสาธารณสุข คือ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขพยาบาลระดับตำบล และ3) หมอครอบครัว ลงพื้นที่ ออกเยี่ยมบ้าน ให้การดูแลสุขภาพประชาชน โดยเฉพาะ 4 กลุ่มเสี่ยงสำคัญ ได้แก่ ผู้ป่วยโรคหอบหืด ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียงและเด็กเล็ก เตรียมความพร้อมของสถานพยาบาล เตรียมสำรองยา เวชภัณฑ์และเครื่องมือทางการแพทย์ให้มีความพร้อม เปิดคลินิกมลพิษในสถานบริการสาธารณสุข และสนับสนุนหน้ากากอนามัยให้แก่ประชาชน และ5) ประสานงานการปฏิบัติการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุขในพื้นที่อย่างจริงจังและต่อเนื่อง ทั้งการลดแหล่งกำเนิดมลพิษ การสื่อสารและการปกป้อง ดูแลประชาชน จนกว่าสถานการณ์หมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก จะกลับสู่ภาวะปกติ” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ร่วมแสดงความคิดเห็น