ประตูเมืองเชียงใหม่: ประวัติศาสตร์ ความเชื่อ เเละการท่องเที่ยว EP.3  ประตูเมืองเชียงใหม่กับความสัมพันธ์ของการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม

ประตูเมืองเชียงใหม่กับความสัมพันธ์ของการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม

          ในปัจจุบันการท่องเที่ยวถือได้ว่าเป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งที่สำคัญของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวเพื่อการพักผ่อน การท่องเที่ยวเพื่อเรียนรู้วัฒนธรรมต่าง ๆ ของแต่ละท้องถิ่น หรือท่องเที่ยวเพื่อหาประสบการณ์ใหม่ ๆ ในช่วงระยะหลายสิบปีที่ผ่านมาการเติบโตของการท่องเที่ยวส่งผลให้การอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวยังเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยเติบโตทางด้านเศรษฐกิจในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศจำนวนมากเดินทางเข้ามาในประเทศไทย เพื่อชื่นชมความสวยงามของธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรม และวิถีชีวิตของไทย เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน มีเอกลักษณ์ของตนเองตามภูมิภาคต่าง ๆ เช่น ภาษา การแต่งกาย อาหาร ฯลฯ

          จังหวัดเชียงใหม่ เป็นแหล่งท่องเที่ยวในประเทศไทย ที่ติดอันดับต้น ๆ จังหวัดน่าเที่ยวทุกปี เนื่องจากเชียงใหม่เป็นเมืองศูนย์กลางการท่องเที่ยวของภาคเหนือตอนบน เห็นได้จากสถิติการเข้ามาเยี่ยมเยือนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา คือ พ.ศ.2562 ทั้งหมด 11,165,860 คน, พ.ศ.2563 ทั้งหมด 6,007,763 คน (ข้อมูลจาก เว็บไซต์ ททท.) ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีจำนวนผู้มาเยี่ยมเยือนมากที่สุดของภาคเหนือ

          การท่องเที่ยวที่มีลักษณะโดดเด่นในด้านศิลปะ วัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ และคงความงามไว้แต่เดิมของเชียงใหม่นั้น จะเห็นได้จากคูเมืองหรือในเวียง (คำเมือง) ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะมีความหลากหลายของสถานที่ให้เยี่ยมชมทั้งวัด ตลาดหรือกาด พิพิธภัณฑ์ หรือสถานที่สำคัญในประวัติศาสตร์ นอกจากนี้ยังมีประตูเมืองเชียงใหม่ทั้ง 5 ประตู ที่แสดง เป็นเชิงสัญลักษณ์ของการท่องเที่ยวว่าว่าได้เดินทางมาถึงยังเวียงเก่าของเมืองเชียงใหม่แล้ว ซึ่งประกอบไปด้วย ประตูช้างเผือก ประตูท่าแพ ประตูสวนดอก ประตูเชียงใหม่ และประตูแสนปุง ซึ่งแต่ละประตูต่างมีสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก เช่นประตูช้างเผือก มีสถานที่สำคัญและแหล่งท่องเที่ยวมากมายไม่ว่าจะเป็น อนุสาวรีย์สามกษัตริย์  หอประวัติศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ล้านนา วัดหัวข่วง วัดโลกโมฬี วัดอินทขิล วัดป่าเป้า วัดเชียงมั่น กาดโต้รุ่งประตูช้างเผือก ร้านข้าวหมูกรอบสามกษัตริย์ ข้าวขาหมูช้างเผือก สุกี้ช้างเผือก

กาดเช้าเจียงใหม่

ในส่วนของประตูท่าแพ ที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวมากที่สุด ก็ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่หลากหลายทั้งด้านวัฒนธรรม กิจกรรมที่ให้นักท่องเที่ยวได้เข้าไปมีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็น ถนนคนเดินท่าแพ ไนท์บาซาร์เชียงใหม่ หรือสถานที่เรียนรู้ประวัติศาสตร์อย่างกำแพงประตูท่าแพ วัดเจดีย์หลวง วัดพระสิงห์ วัดทรายมูลเมือง วัดพันเตา คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ และร้านอาหารอย่าง ขนมจีน 100 ปีท่าแพ ขนมเส้นลุงพงษ์ หรือขนมหวานช้างม่อยที่ได้รับความนิยมในหมู่วัยรุ่นอย่างมาก

วัดพระสิงห์

ประตูสวนดอก เป็นส่วนประตูที่มีความเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ศาสนาของล้านนา คือ วัดสวนดอก วัดสำคัญของเมืองเชียงใหม่ เป็นสถานที่เก็บพระอัฐิของเจ้านายฝ่ายเหนือหลายพระองค์ หรือที่เรียกว่า “กู่เจ้านายฝ่ายเหนือ”

วัดสวนดอก

 ประตูเชียงใหม่ มีสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญที่เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวอย่าง ถนนคนเดินวัวลาย วัดศรีสุพรรณ ตลาดประตูเชียงใหม่ วัดเจ็ดลิน และวัดช่างแต้ม  หรือจะเป็นประตูแสนปุง ที่มีร้านขนมหวานชื่อดังอย่างบัวลอยกำแพงดิน

วัดเจ็ดลิน

จากแหล่งท่องเที่ยวใน 5 ประตูเมืองเชียงใหม่ที่ได้ยกตัวอย่างไปนั้น จะเห็นได้ว่าเชียงใหม่ถูกทำให้เป็นศูนย์รวมของการท่องเที่ยว ซึ่งภายในกำแพงเมืองเชียงใหม่ถูกสร้างขึ้นบนพื้นที่ของการเป็นเมืองเก่า หรือเมืองที่มีมาตั้งแต่อดีตของการยังคงอยู่ของเมืองเชียงใหม่ เป็นพื้นที่เก่าทั้งพื้นที่ทางภูมิศาสตร์และพื้นที่ทางความทรงจำทำให้เกิดการถ่ายทอดทางวัฒนธรรมของเชียงใหม่ที่เป็นเอกลักษณ์และมีความโดดเด่น

          “วัฒนธรรม” ถูกสร้างขึ้นมาจากการหล่อหลอมของสังคม ทั้งจากรูปแบบวิถีชีวิตในแต่ละพื้นที่และในแต่ละช่วงเวลา สะท้อนออกมาเป็นวัฒนธรรมที่มีลักษณะเฉพาะในสังคมที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ทั้งมีการเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตและกิจกรรมในชุมชน มีวัฒนธรรมที่หลากหลายและทับซ้อนกันอยู่ตามบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปในทุกช่วงเวลา ซึ่งวัฒนธรรมเองก็ได้ถูกกระทำให้กลายมาเป็นสินค้าเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของสังคมและผู้คน ดังจะเห็นได้ว่าวัฒนธรรมกับการท่องเที่ยวมีความสัมพันธ์กัน กล่าวคือ วัฒนธรรมเป็นปัจจัยดึงดูดที่ทำให้เกิดกิจกรรมการท่องเที่ยว เป็นเครื่องมือสื่อสารทำให้คนจดจำและมีความรู้สึกร่วมในเรื่องราวที่เกิดขึ้นของสถานที่นั้น ๆ ซึ่งวัฒนธรรมกับการท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่ มีความแตกต่างจากแหล่งท่องเที่ยวอื่น เนื่องจากเมืองเชียงใหม่มีวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนานและมีความโดดเด่น ทำให้การท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่มี “ต้นทุน” เหนือกว่าแหล่งอื่น ที่จะสามารถส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยว ซึ่งการมีต้นทุนทางวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์จะช่วยส่งเสริมให้เกิดภาพจำสำหรับนักท่องเที่ยวให้มีความรู้สึกถึงการเข้าถึงวัฒนธรรมใน จ.เชียงใหม่ วัฒนธรรมที่มีความโดดเด่นและมีความแตกต่าง พร้อมทั้งได้รับการส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวจากภาครัฐ ช่วยส่งผลให้การท่องเที่ยวในเขตกำแพงเมืองได้รับความนิยม และเกิดเป็นกระแสการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในกำแพงเมืองเชียงใหม่

ใส่ขันดอกอินทขิล

          ภายในกำแพงเมืองเชียงใหม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ยังหลงเหลือและดูเหมือนว่ายังมีชีวิตอยู่จนถึงปัจจุบัน นั่นก็คือศิลปะที่ถูกสร้างสรรค์ไว้ภายในวัดต่าง ๆ ที่อยู่ภายในกำแพงเมือง ด้วยวัดในเมืองเชียงใหม่เป็นวัดที่ได้รับการบูรณะหรือการดูแลตลอดมา ทำให้วัดในกำแพงเมืองเชียงใหม่ยังคงรักษาศิลปะของความเป็นล้านนาไว้ได้เป็นอย่างมาก อีกทั้งวัดต่าง ๆ เหล่านั้นยังมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน และมีความสำคัญต่อเมืองเชียงใหม่

          สถาปัตยกรรมหรือสิ่งก่อสร้างที่เป็นศิลปะของล้านนาและยังคงอยู่มาจนถึง เช่น เจดีย์วัดเชียงมั่น วิหารลายคำวัดพระสิงห์ หอไตรวัดพระสิงห์ วิหารหลวง และเจดีย์หลวง วัดเจดีย์หลวง อุโบสถวัดพันเตา เจดีย์วัดเจ็ดลิน เจดีย์วัดโลกโมฬี  และเจดีย์วัดสวนดอก เป็นต้น

วัดอินทขิล

          รวมไปถึงพุทธศิลป์ของพระพุทธรูปล้านนาก็เป็นศิลปะที่มีความแตกต่างและมีความเฉพาะของตัวเอง เช่น พระพุทธสิหิงค์ วัดพระสิงห์ เป็นต้น นอกจากนี้วัดในกำแพงเมืองเชียงใหม่ยังนิยมสร้างพระประธานขนาดใหญ่ที่สะท้อนให้เห็นถึงความมีศรัทธาที่แรงกล้าของคนเชียงใหม่ เช่น พระอัฏฐารส วัดเจดีย์หลวง หลวงพ่อโต วัดพระสิงห์ พระเจ้าปันเต้า วัดพันเตา เป็นต้น ซึ่งล้วนแล้วแต่มีขนาดใหญ่ และมักสร้างวิหารขนาดใหญ่ครอบพระประธานเหล่านั้นไว้อีกทีหนึ่ง จึงทำให้เห็นถึงความมีศรัทธาที่มีต่อพระศาสนา

      พระพุทธสิหิงค์  วัดพระสิงห์, พระอัฏฐารส วัดเจดีย์หลวง

          ถึงแม้ว่าสถาปัตยกรรมของล้านนาภายในกำแพงเมืองเชียงใหม่อาจจะได้รับอิทธิพลจากภายนอกโดยเฉพาะจากกรุงเทพฯ แต่ก็ถือได้ว่าเป็นการรับและนำมาปรับใช้ให้เข้ากับศิลปะล้านนาได้อย่างลงตัว จนทำให้วัดวาอารามภายในกำแพงเมืองเชียงใหม่มีความโดดเด่นทางด้านศิลปะที่มีเอกลักษณ์เป็นอย่างมาก

          ดังที่ทราบแล้วว่าเมืองที่ตั้งอยู่ภายในกำแพงเมืองเชียงใหม่ในปัจจุบันเป็นพื้นที่เดียวกับเมืองเชียงใหม่ที่ถูกสร้างขึ้นเมื่อ 700 กว่าปีที่แล้ว ทำให้การคงอยู่ของวิถีชีวิตบางส่วนยังคงมีมาจนถึงปัจจุบันนี้ นอกจากการท่องเที่ยวเพื่อชื่นชมสุนทรียภาพของโบราณสถานแล้วนั้น ภายในกำแพงเมืองเชียงใหม่ยังมีการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่สะท้อนความเป็นอยู่และวิถีชีวิตของผู้คนที่ถูกนำมารวบรวมไว้บนถนนสายวัฒนธรรมอย่าง “ถนนคนเดินวัวลาย” และ “ถนนคนเดินท่าแพ” ซึ่งถนนคนเดินทั้งสองสายเป็นหนึ่งในแนวคิดการพัฒนาเมืองและการกำหนดใช้พื้นที่เมืองให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชน และได้กลายเป็นที่รู้จักในฐานะแหล่งรวมงานศิลปะ วรรณศิลป์ จิตรกรรม ฯลฯ ตลอดจนเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สร้างรายได้มหาศาลทั้งระดับชุมชนและระดับประเทศ

ถนนคนเดินวัวลาย

          “ถนนคนเดินท่าแพ” ในระยะแรก กิจกรรมถูกกำหนดให้จัดทุก ๆ วันอาทิตย์ โดยเริ่มตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 3 กุมภาพันธ์ – วันอาทิตย์ที่ 7 เมษายน 2545 รวมทั้งสิ้น 10 ครั้ง โดยใช้ชื่อว่า “10 มหัศจรรย์ล้านนาที่ท่าแพ” หลังจากเสร็จสิ้นกิจกรรมนี้ จังหวัดเชียงใหม่ได้มอบหมายให้เทศบาลนครเชียงใหม่ เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการจัดกิจกรรมถนนคนเดินต่อเนื่องทุกสัปดาห์ โดยจัดกิจกรรมนี้ทุกวันอาทิตย์ ระยะทางประมาณ 1.50 กิโลเมตร และจัดกิจกรรมการแสดง บริเวณลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ในการส่งเสริมให้มีการจัดกิจกรรมบนถนนสายวัฒนธรรมนี้เพื่อให้ชาวบ้านนำสินค้าหัตถกรรมมาวางขายกันบนถนน ทั้งสินค้าทางวัฒนธรรม เช่น สินค้าพื้นเมือง จำพวกเครื่องประดับตกแต่ง เสื้อผ้า ของที่ระลึก กระเป๋า ผ้าพันคอ โคมไฟ ฯลฯ รวมถึงอาหารพื้นเมืองของเชียงใหม่ เช่น ขนมจีนน้ำเงี้ยว ไส้อั่ว ไข่ป่าม ฯลฯ  ซึ่งการผลิตสินค้าทางวัฒนธรรมออกสู่สังคมนี้ก็เพื่อให้เกิดรายได้แก่ชุมชน และทำให้ผู้คนได้ตระหนักรู้ถึงคุณค่าของศิลปะและวัฒนธรรมท้องถิ่นของเชียงใหม่ ผ่านวิถีชีวิต สินค้า และวัดวาอารามที่อยู่รอบบริเวณถนนคนเดินท่าแพ สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้ถนนคนเดินท่าแพมีเอกลักษณ์และเป็นที่จดจำของนักท่องเที่ยว และกลายเป็นภาพจำของเมืองเชียงใหม่มาจนถึงปัจจุบัน

ถนนคนเดินท่าแพ

นอกเหนือจากความสำเร็จของ “ถนนคนเดินวันอาทิตย์” แล้ว เทศบาลนครเชียงใหม่ยังได้ปลุกปั้นถนนสายอื่น ๆ ในเขตตัวเมืองเชียงใหม่ให้กลายเป็นถนนคนเดินขึ้นมาอีกเส้นหนึ่ง คือ “ถนนคนเดินวัวลาย” ที่เปิดทุกบ่าย – ค่ำของทุกวันเสาร์ เพื่อต้องการพลิกฟื้นประวัติศาสตร์ของแหล่งชุมชนผลิตเครื่องเงินที่มีชื่อเสียงของเชียงใหม่ และเพื่อสร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่ที่หลากหลายให้แก่นักท่องเที่ยว โดยได้เริ่มทดลองตั้งแต่วันที่ 6 พฤศจิกายน 2547 และได้ประกาศทำโครงการต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน เพื่อพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่แบบยั่งยืนของเชียงใหม่ควบคู่กับถนนคนเดินวันอาทิตย์ เสน่ห์ของถนนคนเดินวัวลายอยู่ที่ถนนมีเอกลักษณ์ทางด้านเครื่องเงิน การตีเงิน และเป็นที่ตั้งของชุมชนดั้งเดิมที่ผลิตเครื่องเงินที่มีชื่อเสียงของเชียงใหม่ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวได้เข้าไปเรียนรู้วิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวบ้านใน  “วัดศรีสุพรรณ” ภายในวัดมีอุโบสถเงินแห่งแรกของโลก ที่ชาวชุมชนร่วมแรงร่วมใจสืบสานเครื่องเงินชุมชนวัวลายมีการจัดตั้งศูนย์ศึกษาศิลปะไทยโบราณ สล่าสิบหมู่ล้านนาวัดศรีสุพรรณ ดึงดูดให้ทั้งพุทธศาสนิกชนและนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศมาเยี่ยมชมความงดงามของศิลปะ วัฒนธรรมของชาวล้านนา

วัดศรีสุพรรณ

อย่างไรก็ตาม นอกจากความโดดเด่น มีเอกลักษณ์อันเกิดจากการมีต้นทุนทางวัฒนธรรมแล้วนั้น ท่าแพยังคงได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐ รวมทั้งการร่วมมือของเอกชนที่เข้ามาส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการท่องเที่ยวภายในประตูท่าแพ ดังจะเห็นได้จากการดึงเอา “ประเพณี” เข้ามาเป็นตัวดึงดูดให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามามีส่วนร่วมกับกิจกรรมทางสังคมของชาวล้านนา ไม่ว่าจะเป็นประเพณีใส่ขันดอกอินทขิล วัดเจดีย์หลวง ประเพณียี่เป็ง และประเพณีสงกรานต์

การส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในเชียงใหม่ ได้ดึงเอา “ประเพณี” มาเป็นตัวดึงดูดนักเที่ยวและจัดให้เป็นการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่นักท่องเที่ยวได้เข้ามาส่วนร่วมกับกิจกรรม จนได้กลายมาเป็น “จุดขาย” ของเชียงใหม่ที่ทำให้เกิดการท่องเที่ยวที่เป็นนิยมมากที่สุด ดังจะเห็นว่าในทุก ๆ ปี จะมีการจัดงานประเพณีใส่ขันดอกอินทขิล ไหว้เสาหลักเมืองเชียงใหม่ ที่วัดเจดีย์หลวง เป็นประเพณีที่เชื่อว่าจะทำให้บ้านเมืองจะพ้นภัยพิบัติ เกิดความร่มเย็นเป็นสุข มีความเจริญรุ่งเรืองขึ้น และเป็นประเพณีสักการบูชามาตราบกระทั่งทุกวันนี้ รวมทั้งยังเป็นการส่งเสริมอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นให้คงอยู่สืบไป นอกจากจะมีความสำคัญกับคนท้องถิ่นแล้วนั้น ยังเป็นการดึงดูดชาวพุทธศาสนิกชนให้มากราบไหว้ขอพร พร้อมมีการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านล้านนา สมโภชเสาอินทขีลตลอดทั้ง 7 วัน โดยชาวเชียงใหม่จะทำพิธีบูชาอินทขิลในตอนปลายเดือน 8 ต่อเดือน 9 หรือระหว่างเดือนพฤษภาคมต่อเดือนมิถุนายน จึงเรียกว่า เดือน 8 เข้า เดือน 9 ออก ถือว่าเป็นประเพณีที่งดงามสืบทอดมาแต่โบราณกาลและเป็นอีกหนึ่งประเพณีที่นักท่องเที่ยวต่างให้ความสนใจ

ประเพณีใส่ขันดอกอินทขิล

อีกหนึ่งประเพณีที่ทำให้การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมภายในกำแพงเมืองเชียงใหม่เป็นที่นิยมและที่รู้จักมากที่สุด คือ ประเพณีลอยกระทง และประเพณีสงกรานต์ ที่นับได้ว่าดึงดูดนักเที่ยวและสร้างรายได้มหาศาล ซึ่งในบางปีพบว่าเชียงใหม่เงินสะพัดมากถึง 3 หมื่นล้านบาท จากการประเมินนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาเที่ยวในประเทศไทยช่วงเทศกาลสงกรานต์ การได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวเกิดจากความเป็นเอกลักษณ์และการได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อสืบสานและอนุรักษ์ไว้ซึ่งวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของล้านนา โดยความสำเร็จนี้เกิดจากการส่งเสริมเศรษฐกิจและกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐร่วมกับจังหวัดเชียงใหม่ มีการจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม ทั้งการต๋ามผางประตี๊ดส่องฟ้า ฮักษาเมือง รอบคูเมืองเชียงใหม่ ลานโคมล้านนา ซุ้มสาธิตภูมิปัญญาท้องถิ่น การประกวดหนูน้อยยี่เป็ง และการประกวดเทพี-เทพบุตรยี่เป็ง การปล่อยกระทงสาย สืบสานล้านนา รวมถึงการประดับโคมไฟตกแต่งเมือง

ประเพณียี่เป็ง

ในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี เชียงใหม่ได้ต้อนรับนักเที่ยวทั้งจากในประเทศและต่างประเทศเป็นจำนวน เนื่องจากในช่วงวันที่ 12-16 เมษายน จะมีการสนับสนุนการจัดกิจกรรมเทศกาลสงกรานต์ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและให้นักเที่ยวได้มีส่วนร่วมกับประเพณีของชาวล้านนา ทั้งพิธีทำบุญตักบาตรเนื่องในวันขึ้นปีใหม่ ณ ข่วงอนุสาวรีย์สามกษัตริย์พิธีเปิดงานป๋าเวณีปี๋ใหม่เมืองเจียงใหม่ ในช่วงบ่ายมีขบวนแห่พระพุทธสิหิงค์ และพระพุทธรูปสำคัญของเมืองเชียงใหม่ ให้นักท่องเที่ยวได้เข้าไปกราบไหว้ สักการบูชา และมีการออกมาร่วมเล่นน้ำสงกรานต์ริเวรรอบคูเมือง โดยเฉพาะแถบถนนช้างคลาน และถนนท่าแพ บริเวณนี้จึงแออัดไปด้วยนักท่องเที่ยวมากมายทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ รวมทั้งยังมีเวทีประกวดนางสงกรานต์ และการแสดงอื่น ๆ ที่บริเวณประตูท่าแพ ความนิยมของประเพณีสงกรานต์เกี่ยวเนื่องด้วยความสามารถใน “ความเข้าถึงง่าย” และมีส่วนที่เกี่ยวข้องกันในหลายมิติ ทั้งในมิติมิติประวัติศาสตร์ ความเชื่อความเก่าแก่ และกิจกรรมความรื่นเริงสนุกสนาน ทำให้เกิดการสร้างมูลค่าเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและได้ผลประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจให้แก่ชุมชนและประเทศมาได้อย่างต่อเนื่องในทุก ๆ ปี

ประเพณีสงกรานต์บริเวณประตูท่าแพ

อาจกล่าวได้ว่า เชียงใหม่ได้ถูกทำให้กลายเป็น “สินค้าทางวัฒนธรรม” โดยเฉพาะในพื้นที่บริเวณ 5 ประตู 4 แจ่ง เมืองเชียงใหม่ ดังจะเห็นได้จากการเกิดสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย รวมถึงการเกิดขึ้นของร้านค้า โรงแรม และแหล่งเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวล้านนา เพื่อมาตอบสนองต่อความต้องการสังคม มุ่งหวังรายได้จากการเข้ามาของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ และท้ายที่สุดก็ได้ถูกนำเสนอผ่าน “การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม” ภายใต้การมีต้นทุนทางประวัติศาสตร์ผ่านเรื่องราว วิถีชีวิต วัฒนธรรมที่กระทำมานานนับร้อยปี ผสานกับความเข้มแข็งของชุมชนและความร่วมมือต่าง ๆ ภายใต้การเข้ามาจัดการและสนับสนุนของภาครัฐ ทำให้มีกิจกรรมมากมายที่สามารถดึงดูดและเป็น “จุดขาย” ให้แก่เชียงใหม่

ข้อมูลอ้างอิง

สัมภาษณ์ พรชัย จิตรนวลสเถียร, เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2564.

ร่วมแสดงความคิดเห็น