กะเหรี่ยงวังชิ้น เมืองลอง จ.แพร่ สืบสานวัฒนธรรมประเพณีบรรพบุรุษ ไว้อย่างเหนียวแน่น

กลุ่มชาติพันธุ์ใน จ.แพร่ ที่ถือได้ว่าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์อีกกลุ่มหนึ่ง ที่เป็นจุดเด่นและจุดขายในการส่งเสริมการท่องเที่ยวในเชิงวัฒนธรรม คือ กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง อ.วังชิ้น และอ.ลอง มีคนถามมาว่าพี้น้องกะเหรี่ยงวังชิ้น เมืองลอง มาจากไหนมีความเป็นมาอย่างไร

เพจชมรมคนวังชิ้น กล่าวว่าได้ศึกษาเรื่องนี้จากเรื่องเล่า เอกสารตำนาน สอบถามผู้เฒ่าผู้แก่พี่น้องกะเหรี่ยงมาหลายปีสรุปได้ว่า ชาวกะเหรี่ยงเป็นชนเผ่าหนึ่งในพม่ามาแต่โบราณ มีแผ่นดิน (อาณาแว่นแคว้นของตนเอง เขตปกครอง ปัจจุบันเรียกรัฐ (state) เป็นของตนเอง)

ปัจจุบันมีรัฐกะเหรี่ยงทางตอนใต้ของพม่า ติดกับเขตแดนทางตะวันตกประเทศไทย มีสองเผ่าใหญ่คือกะเหรี่ยงแดง หรือกะเหรี่ยงคะยา เป็นกะเหรี่ยงนักรบมีจิตใจกล้าหาญ ตัวอย่างบุคคลที่เป็นที่รู้จัก เช่น พะวอที่รักษาด่านไป อ.แม่สอดในปัจจุบัน และเจ้าหมื่นด้งนคร เป็นโอรสนอกราชบัลลังค์เจ้าแสนเมืองมา อันมีถิ่นฐานที่แม่วาง เชียงใหม่ ได้รับมอบหมายจากพระเจ้าติโลกราช ให้ไปรักษาหัวเมืองชายแดนระหว่างล้านนา และศรีอยุธยาคือบริเวณบ้านตึก (ศรีสัชฯ สรอย)

อีกเผ่าหนึ่งกะเหรี่ยงขาวหรือกะเหรี่ยงโป จากแคว้นกะเหรี่ยงอันมีเมืองพะนายเป็นศูนย์กลาง มีอาณาเขตติดกับเมืองกาญจนบุรี ราชบุรี บริเวณเทือกเขาตะนาวศรี เผ่ากะเหรี่ยงที่อพยพมาอยู่ใน อ.ลอง อ.วังชิ้น อ.ศรีสัชนาลัย คือกะเหรี่ยงขาวอันเป็นชนเผ่าที่รักสงบ อพยพมาทางตอนใต้ของพม่า มาแต่สมัยอาณาจักรล้านนาไทยโบราณ และอพยพเข้าสู่เมืองแพร่ ในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรี อพยพมาครั้งแรกมาลงหลักปักฐานที่ดอยหลวง (ดอยสูงเหนือบ้านแม่จอกวังชิ้น) มีหัวหน้าชื่ออ้ายหลวง ต่อมาเกิดโรคระบาดอ้ายหลวงเสียชีวิต

จึงมีการอพยพไปอยู่ทางตะวันตกบนภูเขาบ้านแม่รัง อ.ลอง (ปัจจุบันยังมีร่องรอย) คันดินเป็นแนวยาวกั๋นผีกลิ้งหล้อง บางส่วนอพยพแยกย้ายมาอยู่แถวแม่แฮด แม่ตื้ด ค้างปินใจ แม่จองไฟ แช่ฟ้า นาฮ่าง (บริเวณที่มีป่าไม้ต้นน้ำ แหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์ (น้ำดิบน้ำจำ) ขาวกะเหรี่ยงจะเป็นชนเผ่าที่อยู่กับธรรมชาติ รักป่า รักภูเขา รักน้ำ อาศัยบริเวณเขาสูง หากอยู่พื้นราบจะทำให้เจ็บป่วยไม่สุขสบาย นับถือผีป่าเจ้าเขา ปัจจุบันหันมานับถือพุทธศาสนา และบางส่วนนับถือศาสนาคริสต์ แต่ยังรักษาประเพณีดั้งเดิมไว้

ที่มา…เพจชมรมคนวังชิ้น
สมฤทธิ์ ชัยพลังฤทธิ์/แพร่

ร่วมแสดงความคิดเห็น