กรมอนามัย ผลักดันทุกกลุ่มวัยเข้าถึงบริการ และข้อมูลสุขภาพอย่างเท่าเทียม

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของทุกกลุ่มวัยและเข้าไม่ถึงบริการด้านสุขภาพ เร่งผลักดันการเข้าถึงบริการและข้อมูลความรอบรู้ เพื่อความเท่าเทียมด้านสุขภาพในสังคมไทย
​นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ตามที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดคำขวัญวันอนามัยโลก (World Health Day) ในปีนี้คือ “building a fairer , healthier world” หรือสร้างโลกที่เป็นธรรมและมีสุขภาพที่ดีขึ้น โดยชวนทุกคนมาสร้างสังคมที่มีความเท่าเทียม และมีสุขภาพที่ดีขึ้น เพื่อให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงการบริการสุขภาพ และการรักษาได้อย่างเท่าเทียม สำหรับ ประเทศไทยจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศที่ผ่านมา รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนยังคงต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง

โดยเฉพาะการป้องกันในกลุ่มเปราะบางการเข้าถึงบริการด้านต่าง ๆ ทำได้ยากภายใต้สถานการณ์โรคโควิด-19 ซึ่งพบว่ากลุ่มเด็กทารก เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ และผู้สูงอายุ นอกจากจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อแล้ว ยังได้รับผลกระทบต่อการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพและสาธารณสุข ตั้งแต่การเข้าถึงอาหาร โภชนาการ และการส่งเสริมพัฒนาการของเด็กที่กระทบจากการปิดสถานศึกษา ซึ่งพบว่าเด็กอายุ 0-5 ปี ไม่ได้มารับบริการในคลินิกสุขภาพเด็กดี หรือไม่ได้รับบริการต่อเนื่อง โดยพบว่าความครอบคลุมของการชั่งน้ำหนัก วัดความยาว ส่วนสูง ช่วงไตรมาส 3 ปี 2563 ในภาพรวมของประเทศพบเพียง ร้อยละ 67.9 ต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดคือ ร้อยละ 90 ทำให้เด็กไม่ได้รับการส่งเสริมด้านโภชนาการ และพัฒนาการที่เหมาะสมตามวัย


​นพ.สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า กลุ่มหญิงตั้งครรภ์กระทบต่อการเข้าถึงการฝากครรภ์ที่ครบถ้วนตามมาตรฐาน เนื่องจากต้องปรับบริการไปรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่งจากรายงานสถานการณ์งานอนามัยแม่ และเด็ก ปี 2563 พบว่าหญิงตั้งครรภ์ฝากครรภ์เมื่ออายุครรภ์น้อยกว่าหรือเท่ากับ 12 สัปดาห์ ร้อยละ 82.9 ฝากครรภ์ ครบ 5 ครั้งตามเกณฑ์ ร้อยละ 77.1 หญิงตั้งครรภ์มีภาวะโลหิตจางเมื่ออายุครรภ์ 32-34 สัปดาห์ ร้อยละ 15.97 นอกจากนี้ ยังพบปัญหาการถูกล่วงละเมิดทางเพศของเด็กที่มีมากขึ้น ผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงไม่ได้รับการดูแลจากผู้ดูแลผู้สูงอายุหรือ Caregiver การเข้าถึงข้อมูลและความรู้เพื่อการตัดสินใจฉีดวัคซีนโควิด ตลอดจนความปลอดภัยด้านสุขาภิบาลและอนามัยสิ่งแวดล้อมของสถานประกอบการ กิจการสาธารณะ
​“ทั้งนี้ ปัญหาดังกล่าวกรมอนามัยได้ส่งเสริมให้ผู้ปกครองสร้างความรอบรู้กับครอบครัว ในเรื่องโภชนาการและการเจริญเติบโต และขอความร่วมมือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สร้างระบบการสนับสนุน ที่เหมาะสมแก่ครอบครัวที่มีฐานะยากจน รวมทั้งการผลักดัน 3 หมอ และแอปพลิเคชัน Save Mom ในการดูแลสุขภาพหญิงตั้งครรภ์ การเฝ้าระวังเด็กกลุ่มเสี่ยงที่เด็กอาจถูกล่วงละเมิดทางเพศ และพัฒนากลไกความรอบรู้ เพื่อป้องกันตนเอง ผลักดันการใช้ Blue Book Online เพื่อสนับสนุนให้ผู้ดูแลผู้สูงอายุ (Caregiver) ใช้ดูแลผู้สูงอายุกลุ่มพึ่งพิงอย่างมีคุณภาพ รวมถึงสร้างการเข้าถึงข้อมูลความเสี่ยงจากการป่วยด้วยโรคโควิด-19 และความปลอดภัยจากการฉีดวัคซีน และกระจายวัคซีนอย่างเป็นธรรม ตลอดจนควบคุมกำกับสถานประกอบการ ให้ดำเนินมาตรการความปลอดภัยจากโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัดและต่อเนื่อง” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ร่วมแสดงความคิดเห็น