(มีคลิป) น่าน-ทำบุญประเพณีสงกรานต์ บูชาข้าวปุ้นหรือบูชานพเคราะห์ทั้ง 9 ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ขึ้นปีใหม่เมืองวันสุดท้ายของชาวเหนือ 

เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2564 เวลา 07.00 น. หลายหมู่บ้านในจังหวัดน่าน ได้ประกอบพิธีทำบุญบูชาข้าวปุ้น หรือบูชานพเคราะห์ทั้ง 9 โดยชาวบ้านทุกหมู่บ้านในจังหวัดน่าน ร่วมกันทำบุญบูชานพเคราะห์ หรือการสะเดาะเคราะห์  สืบสานประเพณีสงกรานต์ และเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมของชาวล้านนา ในมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  โดยเฉพาะที่วัดท่าล้อ ตำบลฝายแก้ว อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน ได้มีพุทธศาสนิกชนนำเสื้อผ้า ดอกไม้ธูปเทียน  สีสาย  หรือสายสิญจน์ที่นำมาวัดความยาวของศีรษะ  วาแขน  และรอบอกและลำตัว แล้วนำไปร่วมพิธีเพื่อเป็นการส่งเคราะห์ และบูชานพเคราะห์  ประเพณีบูชาข้าวปุ้น หรือบูชานพเคราะห์ทั้ง 9 ได้แก่พระอาทิตย์ พระจันทร์ พระอังคาร  พระพุธ พระพฤหัส  พระศุกร์ พระเสาร์ พระราหู พระเกตุ

ซึ่งเป็นประเพณีสำคัญประจำหมู่บ้าน จัดเพื่อเป็นพุทธบูชาถวายแด่พระพุทธเจ้า เพื่อสะเดาะเคราะห์ แด่ นพเคราะห์ และเพื่อความเป็นสิริมงคล แก่ตนเองและครอบครัว โดยจะทำทุกหมู่บ้านในจังหวัดน่าน  โดยประชาชนจะร่วมกันนำเสื้อผ้า ของคนในครอบครัว ดอกไม้ธูปเทียน น้ำอบน้ำหอม กล้วยอ้อยมะเดื่อ สีสายหรือสายสิญจน์ที่นำมาวัดความยาวของศีรษะ วาแขน  และรอบอก  เพื่อความเป็นสิริมงคล  การจัดงานมีการทำบุญอุทิศถวายแด่พระพุทธเจ้าเชื่อว่าถ้าได้บูชานพเคราะห์ ถวายทาน เคราะห์กรรมในรอบปีนี้จะหมดไป และเชื่อกันว่าจะได้ความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองพร้อมครอบครัว  และหมู่บ้าน ตั้งแต่ปีใหม่นี้ ที่ได้ทานข้าวปุ้น ชีวิตก็จะมีแต่ความอุดมสมบูรณ์ตลอดไป

ส่วนวัดท่าล้อมีเรือแข่งที่มีอายุมากที่สุดในจังหวัดน่าน ได้แก่ เรือเสือเฒ่าท่าล้อ บ้านท่าล้อ อำเภอภูเพียง จังหวัดน่านขุดเมื่อ พ.ศ.2359 อายุ 203 ปี เมื่อปีที่ผ่านมา ก็ได้ลงแข่งในงานประเพณีแข่งเรือจังหวัดน่าน

ร่วมแสดงความคิดเห็น