กองทัพภาพที่ 3 ห่วงใยสุขภาพประชาชนและกำลังพล แนะดูแลสุขภาพภาวะการขาดวิตามินดี (Vitamin D) ในช่วงสถานการณ์โรคโควิด – 19

วันที่ 22 เม.ย.2564 กองทัพภาคที่ 3/กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 แถลงข่าวประชาสัมพันธ์ ประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 129 ณ ศูนย์ประชาสัมพันธ์ กองทัพภาคที่ 3 ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก โดยมี พันเอก รุ่งคุณ มหาปัญญาวงศ์ โฆษกกองทัพภาคที่ 3/กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 พร้อมด้วย พันเอก นายแพทย์ วิโรจน์ ชนม์สูงเนิน รองโฆษกฯ และพันโท วรปรัชญ์ กาศสกุล ผู้ช่วยโฆษกฯ เป็นผู้แถลงข่าวฯ มีสาระสำคัญดังนี้

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้พี่น้องประชาชนต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการอยู่ในสังคม เช่น การที่ต้องทำงานที่บ้าน (Work From Home) หรือแม้แต่การต้องกักตัว 14 วัน ซึ่งอาจทำให้ร่างกายของเราไม่ได้รับแสงแดดโดยตรง รวมทั้งการที่ได้รับแสง UV ในปริมาณความเข้มข้นที่ไม่เพียงพอต่อการสร้างวิตามินดี จึงเป็นสาเหตุสำคัญให้ร่างกายขาดวิตามินดีได้


วิตามินดี (Vitamin D) หรือชื่อในภาษาอังกฤษคือ Calciferol, Antirachitic Factor บางคนจะเรียกว่า วิตามินแดด วิตามินดีเป็นวิตามินที่สามารถละลายได้ในไขมันเท่านั้น ไม่สามารถถูกผลิตขึ้นมาเองจากในร่างกายได้ แต่จะได้รับจากการทานอาหารเข้าไป หรือสามารถได้รับจากการโดนแสงแดด
หน้าที่สำคัญของวิตามินดี จะช่วยดูดซึมแคลเซียมไปใช้ในกระบวนการสร้างกระดูก รักษาความสมดุลของระดับแคลเซียมและฟอสฟอรัสในเลือด มีส่วนสำคัญในการท้างานของระบบประสาท กล้ามเนื้อ ปอด สมอง หัวใจ และระบบภูมิคุ้มกัน

ประโยชน์ของวิตามินดี 1) ช่วยในการดูดซึมแคลเซียมและฟอสฟอรัสจากลำไส้ ส่งผลให้การสร้างกระดูกและฟันเป็นไปในทางที่ดี ยังช่วยปกป้องกระดูกจากการเป็นโรคกระดูกผุ ช่วยลดความเสี่ยงต่อการแตกหักของกระดูกที่เกิดจากโรคกระดูกผุ 2) ช่วยรักษาระดับความดันเลือด 3) ช่วยสังเคราะห์ Mucopolysaccharide ซึ่งเป็นสารที่จำเป็นในการสร้างคอลลาเจนให้กับร่างกาย 4) ช่วยควบคุมปริมาณของแคลเซียม และฟอสฟอรัสในกระแสเลือด 5) ช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคซึมเศร้า 6) ช่วยสังเคราะห์น้ำย่อยใน Mucous Membrane 7) ช่วยในการดูดซึมกลับของกรดอะมิโนที่ไต 8) ช่วยลดอาการปวดหัวจากโรคไมเกรน
สามารถพบวิตามินดีได้ในอาหารที่เราทานเข้าไปในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว หรือได้มาจากการได้รับแสงแดดในตอนเช้า รายละเอียดดังนี้ 1) วิตามินดีที่ได้จากการบริโภคอาหารแหล่งของอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินดี ได้แก่ตับ ไข่แดง เนย นม ปลาที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง (โอเมก้า 3 และ 6) เช่น ปลาแซลมอล ปลาทูน่า ปลาซาดีน ปลาสวาย ปลาดุก ปลาสลิด และน้ำมันตับปลา 2) วิตามินดีที่ได้ จากการรับแสง UV นอกจากอาหารแล้ว การได้รับแสง UV ในตอนเช้า ยังสามารถช่วยให้ร่างกายได้รับวิตามินดี 3) วิตามินดีที่ได้จากการทานอาหารเสริม ปัจจุบันมีผู้ผลิตหลายเจ้าได้วางขายผลิตภัณฑ์ วิตามินดี ซึ่งสามารถช่วยเพิ่มปริมาณวิตามินดีในร่างกายได้ แต่ก็มีราคาที่สูงด้วยเช่นกัน


หากร่างกายได้รับปริมาณของวิตามินดีที่ไม่เพียงพอ 1) ภาวะกระดูกอ่อนในเด็ก (Ricket) – ขาโก่ง (Bow Legs) – รอยต่อกะโหลกที่กระหม่อมปิดช้า – เกิดความผิดปกติขึ้นที่กระดูกซี่โครง – อารมณ์แปรปรวน – การเจริญเติบโตของกล้ามเนื้อเป็นไปได้ไม่ดี ไม่แข็งแรง – จะมีอาการฟันผุเร็วกว่าปกติ 2) ภาวะกระดูกอ่อนในผู้ใหญ่ (Osteomalacia) – รู้สึกเจ็บและปวดตามข้อ ตามกระดูกบริเวณทั่วร่างกาย 3) อาการชัก (Tetany) 4) ฟันผุ (Dental Caries)
ผลกระทบหากได้รับวิตามินดีมากเกินไป
1) มีอาการคลื่นไส้อาเจียน ท้องเดิน
2) ปัสสาวะมากกว่าปกติ ทั้งกลางวันและกลางคืน
3) หิวน้ำตลอดเวลา
4) น้ำหนักตัวลดลง เนื่องจากมีการสลายของแคลเซียมออกมาจากกระดูก
5) บางรายที่อาการหนัก สามารถเสียชีวิตได้เลย

วิตามินดีที่เป็นสิ่งจำเป็นต่อร่างกาย เป็นสิ่งที่ร่างกายผลิตออกไม่ได้เอง ต้องได้มาจากการบริโภคอาหารเท่านั้น แต่วิตามินดีจะพิเศษกว่าวิตามินอื่นๆ เนื่องจากสามารถได้มาจากการรับแสง UV ในตอนเช้าด้วย
ทั้งนี้ วิตามินดี ก็เหมือนกับวิตามินชนิดอื่นๆ ทั่วไป หากได้รับในปริมาณที่เหมาะสม ก็จะเกิดประโยชน์สูงสุดกับร่างกาย แต่หากได้รับในปริมาณที่มากหรือน้อยจนเกินไป ก็ล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อร่างกายทั้งสิ้น ดังนั้นจึงควรรับปริมาณวิตามินดี เข้าสู่ร่างกายในปริมาณที่เหมาะสมจึงจะดีที่สุด
ในการนี้ พลโท อภิเชษฐ์ ซื่อสัตย์ แม่ทัพภาคที่ 3/ผู้บัญชาการศูนย์บรรเทาสาธารภัย กองทัพภาคที่ 3 มีความห่วงใยต่อข้าราชการทหาร ในสังกัดกองทัพภาคที่ 3 และพี่น้องประชาชน ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ จึงขอเชิญชวนให้รับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่ครบถ้วน และได้ปฏิบัติตามคำแนะนำขั้นต้น ซึ่งหากกำลังพล, ครอบครัว และพี่น้องประชาชนมีข้อสงสัย สามารถปรึกษาแพทย์ ณ โรงพยาบาลทหารทั้ง 10 แห่ง ในพื้นที่ภาคเหนือ หรือโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขใกล้บ้าน

ร่วมแสดงความคิดเห็น