(มีคลิป) เปิดใจพยาบาลขวัญใจผู้ป่วยหญิง รพ.สนามแม่โจ้ เจ้าของฉายา “พยาบาลเสียงทอง” หลังผู้ป่วยหลายรายรีวิวในโลกโซเชียล สร้างสีสัน และคลายเครียดให้กับผู้รักษา

รายงานข่าวแจ้งว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ที่ยังคงมีความรุนแรง และยังคงพบมียอดผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง ซึ่งในขณะนี้ตามพื้นที่โรงพยาบาลสนามหลายแห่ง พบว่า ยังคงมีปริมาณผู้ป่วยติดเชื้อที่เดินทางเข้ามารักษาตัวกันอย่างต่อเนื่อง ขณะที่บรรยากาศที่โรงพยาบาลสนาม แห่งที่ 2 มหาวิทยาลัยแม่โจ้ พบว่าขณะนี้มีผู้ป่วยหญิงที่เข้ารักษาตัวแล้ว จำนวนประมาณ 350 ราย ซึ่งมีทั้งกลุ่มผู้ติดเชื้อเด็กและผู้ใหญ่อยู่รวมกัน โดยบรรยากาศพบว่ายังคงเป็นไปอย่างปกติ ที่ทางทีมแพทย์พยาบาล และเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ยังคงปฏิบัติหน้าที่กันอย่างสุดความสามารถ ทั้งการดูแลผู้ป่วย และการอำนวยความสะดวก รวมไปถึงสร้างความบันเทิง เพื่อผ่อนคลายสถานการณ์ไม่ให้ผู้ป่วยเกิดความเครียดสะสม

ขณะที่ทางผู้สื่อข่าวได้ทราบมาว่า ที่โรงพยาบาลสนามมหาวิทยาลัยแม่โจ้แห่งนี้ ได้มีกลุ่มผู้ป่วยหญิงหลายรายพูดถึงพยาบาลคนหนึ่ง ที่ทำหน้าที่ประกาศเสียงตามสายภายในโรงพยาบาลสนาม และได้มีการยกย่องให้เป็น “พยาบาลเสียงทอง” ขวัญใจผู้ป่วยที่รักษาอยู่ภายในโรงพยาบาลสนาม โดยทุกวันจะต้องได้ยินเสียงของพยาบาลคนนี้ แม้ว่าผู้ป่วยบางรายจะไม่เคยพบหน้าก็ตาม แต่วันไหนที่ไม่ได้ยินเสียงก็จะต้องถามหา รวมทั้งยังมีผู้ป่วยบางรายถึงขั้นสั่งอาหารหรือขนมให้กับ “พยาบาลเสียงทอง” ท่านนี้ รวมไปถึงการกล่าวถึงในโลกโซเชียล ที่ผู้ป่วยได้มีการรีวิวเป็นจำนวนมาก ทำให้หลายๆ คนสงสัยว่า “พยาบาลเสียงทอง” ท่านนี้คือใคร และผู้ป่วยหลายๆ คนอยากเห็นหน้า เนื่องจากได้ยินแต่เสียงที่คอยสร้างความสุข และสีสันให้กับโรงพยาบาลสนาม

ทั้งนี้ต่อมาทางผู้สื่อข่าวได้ติดต่อขอเข้าพบกับทาง นางดรุณี แปงทิศ หรือพี่แดง เจ้าของฉายา “พยาบาลเสียงทอง” ตำแหน่งผู้อำนวยการ ด้านการพยาบาล โรงพยาบาลสนามแม่โจ้ ซึ่งเจ้าตัวได้เล่าว่า เดิมทีตนเป็นเจ้าหน้าที่พยาบาลอยู่ที่โรงพยาบาลสันทราย เริ่มทำงานมาตั้งแต่ปี 2547 จนปัจจุบันนี้ก็ทำงานมาเกือบจะ 40 ปี และจากการที่จังหวัดเชียงใหม่ พบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่ก่อนหน้านี้ได้มีการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามขึ้นที่ศูนย์ประชุมนานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา และพบว่าปริมาณของผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาเริ่มเพิ่มสูงขึ้น จึงมีการขยายพื้นที่ของโรงพยาบาล เพื่อลดปริมาณของผู้ป่วยในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่โดยเร็วที่สุด จึงได้มีการสั่งเปิดโรงพยาบาลสนามที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้แห่งนี้ขึ้น ภายใน 48 ชั่วโมง โดยตนเริ่มเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ภายในโรงพยาบาลสนามแห่งนี้ ตั้งแต่วันที่ 13 เม.ย.64 ที่ผ่านมา ที่เป็นการเตรียมพร้อมสถานที่ โดยมาสำรวจพื้นที่พร้อมกับทางท่านอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลสันทราย พร้อมทั้งมีการจัดตั้งให้ตนเป็นผู้อำนวยการด้านการพยาบาล ที่ต้องดูแลด้านการพยาบาลทั้งหมด

โดยในแต่ละวันตนจะต้องปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่เช้า จะต้องมาตรวจสอบความเรียบร้อยว่า เจ้าหน้าที่ในช่วงเวรดึกได้ทานข้าวหรือยัง และมีการส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลผู้ป่วยด้านในแล้วหรือยัง รวมไปถึงความพร้อมด้านต่างๆ แล้วหลังจากนั้นก็ต้องมาดูความพร้อมภายในทั้งหมด เนื่องจากจะต้องมีการจัดเจ้าหน้าที่พยาบาลตลอด 24 ชั่วโมง หมุนเวียนไม่ให้ขาดตกบกพร่อง ตั้งแต่ดูแลความเรียบร้อยทั้งหมด และพยาบาลทั้งหมด รวมทั้งการมอบหมายหน้าที่ให้กับพยาบาลทั้งหมดต้องทำอะไรในแต่ละวัน และส่วนตัวของตนก็จะดูภาพรวมทั้งหมด และรับผิดชอบในเรื่องการประชาสัมพันธ์และการสร้างสีสัน ให้ทั้งพยาบาลและผู้ป่วยที่อยู่ภายในโรงพยาบาลสนามด้วย

นางดรุณี กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกัน จากการที่มีกระแสบนโลกโซเชียล ที่ผู้ป่วยยกย่องให้ตนเป็น “พยาบาลเสียงทอง” นั้น ตนถือว่าเป็นคำชม ที่เปรียบเทียบกับนักร้องชื่อดัง ราชินีเสียงทอง และเป็นดาวลูกทุ่งที่ถือเป็นคำชมและรู้สึกยินดี แต่หากมองเป็นภาพลบ ทางตนก็ต้องขออภัย แต่ถ้าสื่อออกมาในภาพที่ดี ตนก็รู้สึกสบายใจที่ทางผู้ป่วยเห็นว่าตนได้ช่วยสร้างสีสันและหากขาดไปไม่ได้ยินเสียงก็จะคิดถึง แต่ผู้ป่วยบางท่านก็อาจจะมองว่าเป็นการรบกวนการพักผ่อน ตนก็ต้องขออภัยด้วย และตนก็อยากฝากถึงผู้ป่วยที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลสนามแห่งนี้ด้วยว่า การที่เราอยู่รวมกัน 300-400 ชีวิต นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเจ้าหน้าที่ทุกคนก็มีความเหน็ดเหนื่อย อีกทั้งค่ายของเราก็ไม่มีที่สิ้นสุดจนกว่าโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในจังหวัดเชียงใหม่ จะกลับมาสู่สถานการณ์ที่ลดลงและปกติ หรือจนกว่าจะมีคำสั่งยุบโรงพยาบาลสนามไป

อย่างไรก็ตาม ตนอยากฝากถึงผู้ที่เข้ามารักษาภายในโรงพยาบาลสนามแห่งนี้ว่า การที่เข้ามาอยู่ในโรงพยาบาลสนามนั้น ทุกคนไม่ใช่ผู้ป่วย และทุกคนที่มาอยู่ก็คือคนปกติ ที่ทำกิจกรรมและกิจวัตรประจำวันปกติ แต่ทุกคนเป็นเพียงผู้สัมผัสโรคที่ต้องการลดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในจังหวัดเชียงใหม่ และเป็นอีกส่วนที่ช่วยเหลือสังคมในการดูแลรับผิดชอบสังคมเช่นกัน เพราะไม่อยากให้เชื้อโรคกระจายไปแพร่คนอื่น ส่วนประชาชนที่อยู่ข้างนอก ตนก็อยากฝากด้วยว่าทุกคนก็ต้องปฏิบัติตามมาตรการในการป้องกัน และลดการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วยการสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง 2 เมตร และดูแลสุขภาพร่างกาย หมั่นทำความสะอาดล้างมือบ่อย เพื่อเป็นการต่อสู้และป้องกันการติดเชื้อ รวมทั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อีกทางหนึ่งด้วย

ร่วมแสดงความคิดเห็น