กองทัพภาคที่ 3 แนะนำสมุนไพรพื้นบ้าน ต้านเชื้อไวรัสโควิด-19

เมื่อวันที่ 29 เม.ย.2564 กองทัพภาคที่ 3/กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 แถลงข่าวประชาสัมพันธ์ ประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 130 ณ ศูนย์ประชาสัมพันธ์ กองทัพภาคที่ 3 ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก โดยมี พ.อ.รุ่งคุณ มหาปัญญาวงศ์ โฆษกกองทัพภาคที่ 3/กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 และ พ.อ.นพ.วิโรจน์ ชนม์สูงเนิน รองโฆษกฯ เป็นผู้แถลงข่าวฯ

มีสาระสำคัญดังนี้ จากข้อมูลของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ปัจจุบันได้มีการศึกษาวิจัยต่อยอดสมุนไพรพื้นบ้าน จนเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวาง สมุนไพรพื้นบ้านนับเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ที่สามารถใช้บรรเทาอาการเบื้องต้นของไข้หวัดและโรคอื่นๆ ที่เกิดมาจากเชื้อไวรัสได้ ซึ่งสมุนไพรพื้นบ้านนั้น นับเป็นจุดแข็งของประเทศไทย มีการใช้ประโยชน์กันมาอย่างยาวนาน และเป็นภูมิปัญญาที่ส่งต่อรุ่นสู่รุ่น โดยสมุนไพรพื้นบ้านที่เป็นประโยชน์และแนะนำให้ใช้ มีจำนวน 5 ชนิด

1. ฟ้าทะลายโจร มีการศึกษาวิจัยกันอย่างแพร่หลาย ทั้ง จีน สิงคโปร์ รวมถึงประเทศไทย และได้มีการนำเสนอผ่านสื่ออย่างต่อเนื่อง โดยงานวิจัยที่ได้รับการรับรองแล้วพบว่า กลไกต้านไวรัสของฟ้าทะลายโจรคือการป้องกันไม่ให้ไวรัสเข้าเซลล์ ลดการแบ่งตัวไวรัสภายในเซลล์ เพิ่มภูมิคุ้มกันในการต่อสู้กับไวรัส รวมถึง ลดอาการการอักเสบที่ปอดจากการติดเชื้อไวรัส

2. ขิง ซึ่งมีรสเผ็ดร้อน มีคุณสมบัติอุ่น พบฤทธิ์ต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ โดยทั่วไปแล้วมักนำมากินแก้หวัด ซึ่งขิงนั้นมีสารต้านอนุมูลอิสระ (Anti–Oxidant) และสารต้านการอักเสบ (Anti-Inflammatory) อยู่มากมาย เช่น Gingerol, Shogoal และ Paradoal, 3. มะขามป้อม เป็นยาแก้ไอ ละลายเสมหะ โดยพื้นบ้านใช้รักษาหลอดลมอักเสบ วัณโรคปอด หอบหืด ช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน โดยสารสำคัญในมะขามป้อมสามารถจับกับขาโปรตีนของไวรัส และตัวรับ ACE2 ซึ่งมีบทบาทการผ่านเข้าเซลล์ปอด และยังเข้าจับกับเชื้อในหลายตำแหน่ง ที่มีผลต่อการยับยั้งการสร้างและการแบ่งตัวของเชื้อไวรัสได้

4.ขมิ้นชัน จากการศึกษาในหลอดทดลอง พบว่ามีฤทธิ์ต่อต้านเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอ ในการป้องกันไม่ให้เชื้อเข้าเซลล์ ยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อไวรัส และช่วยยับยั้งการหลั่งสารอักเสบ ทั้งนี้จากการจำลองภาพสามมิติในคอมพิวเตอร์ พบว่าสารสำคัญของขมิ้นชัน และ Demethoxycurcumine สามารถแย่งจับกับตำแหน่งของไวรัส ที่มีผลยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัสได้

5. กระเทียม มีฤทธิ์ต่อระบบภูมิคุ้มกัน สาร Allicin ในกระเทียม มีฤทธิ์ลดการอักเสบ ป้องกันการ หลั่งสาร Cytokine ที่ทำให้เกิดการอักเสบ นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการทำงานของเม็ดเลือดขาว และช่วยเพิ่ม แอนติบอดี้ ชนิด Immunoglobulin A (IgA) ซึ่งเป็นด่านแรกของภูมิคุ้มกันในร่างกาย โดยพบมากที่ระบบทางเดินหายใจและระบบทางเดินอาหาร ตามเยื่อเมือกต่างๆ และยังช่วยกระตุ้นการทำงานของ B-cell Lymphocyte รวมทั้งกระตุ้นการหลั่งของสาร Interferon ซึ่งเป็นสารที่สร้างในระบบภูมิคุ้มกันเพื่อต้านไวรัส จากการจำลองภาพสามมิติในคอมพิวเตอร์ พบว่า สารสำคัญ Quercetin และ Allicin ที่พบสามารถแย่งจับกับตำแหน่ง Main Protease ที่ช่วยยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัสได้เช่นกัน

ในโอกาสนี้ พล.ท.อภิเชษฐ์ ซื่อสัตย์ แม่ทัพภาคที่ 3/ผู้บัญชาการ ศูนย์บรรเทาสาธารภัย กองทัพภาคที่ 3 และบุคลากรทางการแพทย์ กองทัพภาคที่ 3 มีความห่วงใยต่อข้าราชการทหาร ในสังกัดกองทัพภาคที่ 3 รวมทั้งพี่น้องประชาชน ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ จึงขอเชิญชวนให้รับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของสมุนไพรตามสรรพคุณขั้นต้น เพื่อเป็นการป้องกันและต้านทานต่อเชื้อไวรัส ซึ่งหากกำลังพล, ครอบครัว และพี่น้องประชาชนมีข้อสงสัย สามารถปรึกษาแพทย์ ณ โรงพยาบาลทหารทั้ง 10 แห่ง ในพื้นที่ภาคเหนือ หรือโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขใกล้บ้าน

ร่วมแสดงความคิดเห็น