ชาวบ้านบุญแจ่ม !! อ.ร้องกวาง จ.แพร่ ปลูกผักกูดพืชผักสมุนไพรเลิศรสพันธุ์บุญแจ่ม สร้างรายได้งามให้ชาวบ้าน

นายจิรพัฒน์ แจ่มรัตนโสภิณ ผู้ใหญ่บ้านบุญแจ่ม หมู่ 1 ต.น้ำเลา อ.ร้องกวาง จ.แพร่ เผยว่า ขณะนี้เป็นช่วงในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่บ้านบุญแจ่ม กำลังขยายพันธุ์ผักกูดสายพันธุ์บุญแจ่ม 1 ให้เป็นสินค้าส่งออกของหมู่บ้านในยุคโควิด-19 ระบาด ทำรายได้ให้แต่ละครัวเรือนหลักพันถึงหลักหมื่นบาทต่อเดือน แล้วแต่จำนวนพื้นที่ปลูก

โดยได้นำสายพันธุ์มาจากป่าชุมชนบ้านบุญแจ่ม ทดลอง และวิจัยปลูกแบบบ้านๆ มาเป็นเวลา 5 ปี จนได้สายพันธุ์ตามที่ตลาดต้องการคือรสชาดดี สีสวย ยอดอ้วน ทนแล้ง ให้ผลผลิตสูง ไม่มีศัตรูรบกวน และข้อดีคือไม่ชอบสารเคมีใดๆ ได้ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติประวัติของหมู่บ้านคือ ผักกูดพันธุ์บุญแจ่ม 1

ปัจจุบันได้มีหลายหน่วยงานเข้ามาสนับสนุนต่อยอด เช่น เกษตร อ.ร้องกวาง โครงการผักกูดแปลงใหญ่ และการตลาด ธ.ก.ส.แพร่ ด้านการตลาด และงบประมาณ ม.แม่โจ้แพร่ วว.เบโด้ งบประมาณการวิจัย รวมถึงพัฒนาชุมชน อ.ร้องกวาง และศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เชียงใหม่ ศึกษาดูงานและสั่งซื้อพันธุ์ได้ที่แปลงต้นแบบสวนแจ่มบุญ หมู่ 1 ต.น้ำเลา อ.ร้องกวาง จ.แพร่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี กล่าวถึง ผักกูด ว่า (ชื่อวิทยาศาสตร์: Diplazium esculentum) เป็นชื่อของผักชนิดหนึ่ง ที่อยู่ในตระกูลเฟิร์นที่อยู่ในวงศ์ Athyriaceae ซึ่งมนุษย์สามารถนำมาปรุงเป็นอาหารได้ นอกจากจะนำมาเป็นอาหารได้แล้ว ยังนำมาเป็นสมุนไพรได้อีกด้วย ผักกูดมักจะขึ้นอยู่ตามริมน้ำหรือพื้นที่ชุ่มน้ำ มากกว่าในป่าทึบ มักพบบ่อยเพราะเป็นช่วงเจริญเติบโตในฤดูฝน มีเหง้าสูงได้ 1 เมตร ใบเป็นแผงรูปขนนก ตอนอายุยังน้อยจะแตกเป็นรูปขนนกชั้นเดียวคู่ขนานกัน ไปตั้งแต่โคนใบถึงปลายใบ เมื่ออายุมากขึ้นใบจะเปลี่ยนเป็นรูปขนนก 2 ชั้น ยอดอ่อนและปลายยอดม้วนงอแบบก้นหอย พบกระจายพันธุ์ทั่วไปในทวีปเอเชีย และโอเชียเนีย

ใบของผักกูดใช้ต้มน้ำดื่มหรือกินสด ช่วยแก้ไข้ตัวร้อน, แก้พิษอักเสบ, บำรุงสายตา, บำรุงโลหิต, แก้โลหิตจาง ป้องกันเลือดออกตามไรฟันและขับปัสสาวะเด็ดขาดมาก ลดความดันโลหิตสูง ลดคอเลสเตอรอลในเม็ดเลือด มีสารบีตา-แคโรทีนและธาตุเหล็กสูง ส่วนใหญ่จะนำใบอ่อน ช่ออ่อน ทำแกงกับปลาเนื้ออ่อนน้ำจืด เช่นปลาช่อนหรือลวกจิ้มน้ำพริกชนิดต่างๆ ยำผักกูด, ผักกูดผัดน้ำมันหอย, แกงกะทิกับปลาย่าง, ลวกกะทิ แต่ไม่นิยมกินสด ๆ กัน เพราะจะมียางเป็นเมือกอยู่ที่ก้าน

นอกจากนี้แล้ว ผักกูดยังเป็นดัชนีชี้วัดถึงสภาพแวดล้อมให้ได้รู้ว่า บริเวณไหนอากาศไม่ดี ดินไม่บริสุทธิ์ มีสารเคมีเจือปนอยู่ ผักกูดจะไม่ขึ้นหรือแตกต้นในบริเวณนั้นเด็ดขาด


สมฤทธิ์ ชัยพลังฤทธิ์/แพร่

ร่วมแสดงความคิดเห็น