พีช ผลไม้แก้มแดง จุดกำเนิดโครงการหลวง

ภาพแห่งความสุขของเกษตรกรชาวเขาในทุกวันนี้  เป็นผลมาจากสายพระเนตรอันยาวไกลของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จากวันนั้นที่ทรง ทอดพระเนตร ความเป็นไปได้ ได้เกิดขึ้นแล้วในวันนี้ ย้อนหลังไปเมื่อ 50 กว่าปีที่ผ่านมา พีช ถือว่าเป็นจุดกำเนิดของมูลนิธิโครงการหลวง จากการเสด็จประพาสต้นบนดอยของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

จากความตอนหนึ่งในหนังสือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับโครงการหลวง ว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงขับรถพระที่นั่งไปบ้านแม้วดอยปุย ใกล้พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ และได้ทอดพระเนตรต้นท้อ ที่แม้วเอากิ่งพันธุ์ดีมาต่อกับต้นพันธุ์พื้นเมืองตามโครงการแต่ปีก่อน และมีรับสั่งถามเจ้าของว่า ปลูกฝิ่นได้เงินเท่าไหร่ เก็บท้อพื้นเมืองขายได้กี่บาท ก็ทรงทราบว่าฝิ่นกับท้อพื้นเมืองทำรายได้ให้เกษตรกรเท่าๆ กัน ถ้าท้อลูกนิดๆ ยังทำเงินให้เกษตรกรได้ดีเท่ากับฝิ่นแล้ว เราก็ควรเปลี่ยนยอดให้ออกลูกมาเป็นท้อใหญ่ๆ หวานฉ่ำ สีชมพูเรื่อดังแก้มสาวในนิยายจีน เมื่อรายได้จากท้อ และผลไม้อื่นสูงกว่าฝิ่นแล้ว ฝิ่นก็จะสาบสูญไปเองตามธรรมชาติ ไม่ต้องใช้กำลั่งผลักดันแต่อย่างใด…” พระองค์ท่านจึงได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ให้ทำการวิจัยตั้งแต่นั้นมาอย่างต่อเนื่อง

ลูกพีช  หรือ ลูกท้อที่เรารู้จักกัน ถือว่าเป็นราชินีของไม้ผลเขตหนาว เป็นผลไม้เศรษฐกิจที่ทำรายได้ให้กับชาวเขาเป็นอย่างมาก มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีน เป็นไม้ผลยืนต้น ทรงต้นมีลักษณะพุ่ม ให้ผลดก โดยจะออกดอก ติดผล บนกิ่งใหม่ที่เจริญในฤดูกาล เจริญเติบโตที่ผ่านมา และเมื่อพ้นการพักตัวในฤดูหนาวแล้ว ตาดอกที่อยู่บริเวณข้อของกิ่ง ก็จะแตกตาออกดอกประมาณต้นเดือนมกราคม ดอกสีชมพู ผลพีชเป็นแบบผลเดี่ยวมีขนอ่อนนุ่มปกคลุมอยู่ทั่วไป สีของเนื้อมีตั้งแต่สีเหลืองจัดไปจนถึงสีขาว มูลนิธิโครงการหลวงได้นำพีชมาวิจัยที่สถานีวิจัยดอยปุย จังหวัดเชียงใหม่ เป็นแห่งแรก โดยมีอาสาสมัคร และนักวิชาการ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เข้ามาช่วย และได้ขยายการทดสอบและปรับปรุงพันธุ์ไปที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง และสถานี/ศูนย์ อื่น ๆ ในพื้นที่ของโครงการหลวง ปัจจุบันโครงการหลวงได้รับการขึ้นทะเบียนพันธุ์พีช และได้ออกส่งเสริมให้แก่เกษตรกรแล้วจำนวน 7 พันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ Tropic Beauty ซึ่งเป็นพันธุ์ที่เริ่มส่งเสริมใหม่เพื่อปลูกทดแทนพันธุ์ EarliGrande (พันธุ์ส่งเสริมเดิม)

มีลักษณะผลค่อนข้างกลม เนื้อแน่น ง่ายต่อการคัดบรรจุ และทนการขนส่ง ผลมีรสชาติหวานอมเปรี้ยว พันธุ์ Jade ผลค่อนข้างกลม  เนื้อแน่น  เมื่อสุกจะมีสีเหลืองทั้งผล รสชาติ หวานอมเปรี้ยว  สามารถทานสดได้ และสามารถใช้แปรรูปได้ดี  เช่น ทำพีชลอยแก้ว  หรือใช้ทำอาหาร ช่วงเก็บเกี่ยวหลังประมาณเดือน พฤษภาคม  พันธุ์อำพันอ่างขาง 1, 2, 3, 4 พันธุ์นี้ มีระยะเวลาการเก็บเกี่ยวที่ไม่ตรงกัน สามารถเก็บได้ช้าสุดเดือนมิถุนายน ทำให้ผลผลิตไม่ล้นตลาดและขยายเวลาการบริโภคให้นานขึ้น และ พันธุ์รูบี้โกลด์ 1 ซึ่งเป็นพันธุ์ใหม่ล่าสุดของโครงการหลวง ที่มีลักษณะเด่นคือ สามารถเจริญเติบโตได้ดี ให้ผลผลิตคุณภาพสูงอย่างสม่ำเสมอในสภาพภูมิอากาศบนพื้นที่สูงระดับ 1,100-1,300 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ผลทรงกลมสีเหลือง ขึ้นสีแดงทับสีเหลือง มีความสวยงาม เนื้อผล ไม่นิ่มเละ ง่ายต่อการขนส่ง สามารถชะลอการเก็บเกี่ยวผลผลิตให้ถึงระยะผลสุกเต็มที่ จึงทำให้ผลพีชมีความทนทาน ต่อการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว และการขนส่งได้ดี มีอายุวางจำหน่ายได้นาน นอกจากการบริโภคผลสดแล้วยังสามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้ดี

แหล่งปลูกพีชที่ใหญ่ที่สุดในพื้นที่ของมูลนิธิโครงการหลวง ได้แก่ สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง อำเภอฝาง  จังหวัดเชียงใหม่ รองลงมาได้แก่ สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ อำเภอจอมทอง และ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ปูนหลวง อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ที่ฝ่ายผลิตผลและผลิตภัณฑ์แปรรูป มูลนิธิโครงการหลวง สำนักงานเชียงใหม่  โทร. 0 5321 1631 และสำนักงานกรุงเทพ ฯ (ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน) โทร .0 2579 4747

ร่วมแสดงความคิดเห็น