ค้าส่ง ค้าปลีก เชียงใหม่ซึม ลูกค้าหาย รายได้วูบ จ่อลดลูกจ้าง เซ้งกิจการ

ผู้ประกอบการค้าส่ง ย่านกาดนวรัฐ นครเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ช่วงโควิดระบาดรอบล่าสุดนี้ ได้รับผลกระทบอย่างหนัก วิกฤตกว่าทุกครั้ง เพราะมีการสต๊อกสินค้าให้กลุ่มค้ารายย่อย ซึ่งคาดหวังว่าช่วงสงกรานต์จะมีกำลังซื้อ แต่เกิดการแพร่ระบาดแบบกระจัดกระจาย จนต้องมีมาตรการคุมเข้ม ป้องกันการแพร่ระบาด

“ที่เห็นผลทันตาคือ การสั่งปิดแหล่งค้า รายย่อยตามตลาดชุมชน ตามกาดนัด ซึ่งค้าส่ง ในย่านนวรัฐ ย่านกาดหลวง นครเชียงใหม่ กว่า 70-80 % กลุ่มลูกค้าหลักๆ จะเป็นค้ารายย่อยที่มาตระเวณซื้อหาสินค้า สิ่งของไปขายตามกาดนัด ตามอำเภอรอบนอกสินค้า ประเภทข้าวของเครื่องใช้ ไม่ว่าจะเป็น อุปกรณ์ไฟฟ้า เสื้อผ้า เครื่องครัว สิ่งของใช้ในชีวิตประจำวัน ยอดสั่งซื้อ หรือมารับสินค้ายังลดลง และบางกลุ่มที่เป็นคู่ค้าประจำ หายไป 2-3 สัปดาห์ ก็ไม่ต้องพูดถึง สินค้า ประเภทกิ๊ฟช๊อฟ ของเล่น สินค้าอื่นๆ ที่ไม่จำเป็นในชีวิตประจำวัน ยอดค้าขายจะย่ำแย่ขนาดไหน ไม่อยากสาธยาย”

เจ้าของร้านกิ๊ฟช๊อฟ ดัง ย่านกาดนวรัฐ นครเชียงใหม่ กล่าวว่า ร้านค้าที่มีลูกน้องหลายคน ก็ใช้วิธีให้สมัครใจ สลับกันหยุด เป็นอีกมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม แต่ที่เดือดร้อนคือ กลุ่มลูกจ้างรายวัน ไม่มาทำงานก็ไม่ได้ค่าแรง บรรดาเจ้าของร้านค้า กิจการก็จะเลือกลูกจ้างที่อยู่กันมานาน ที่รับใหม่ๆ ก็พูดคุยกัน ให้หางานอื่นสำรอง

“รายที่ไม่ไหวจริงๆ ก็เตรียมเซ้งร้าน ปล่อยเช่าอาคาร ช่วงปีที่ผ่านมา มีหลายรายที่ปรับปรุงตึกไปทำธุรกิจที่พัก ขายอาหาร หรือขนส่ง รับฝากของ พอมาเจอการระบาดไม่หยุด ลำบาก คาดหวังมาตรการเยียวยาจากภาครัฐ การกระตุ้นการใช้จ่ายทั้ง เราชนะ, คนละครึ่ง, ม.33 ที่น่าจะออกมาเร็วกว่านี้ เพราะกิจการค้าขาย การใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน กว่าจะผ่านพ้นสัปดาห์ๆ ทุกข์ยากกันจริงๆ”

ลูกจ้าง ร้านผ้า ย่านกาดหลวง นครเชียงใหม่ เปิดใจว่า เห็นใจนายจ้าง ที่ค้าขายไม่ดีช่วงนี้ ถ้าจะสลับกันหยุด ค่าแรงรายวันไม่ได้ หากนายจ้าง ขอความร่วมมือ แบบสมัครใจ คงต้องยอมรับ ดีกว่า ไปกันไม่ไหว อาจต้องประหยัดมากกว่าเดิม ส่วนมาตรการ เยียวยาต่างๆ นั้น กลุ่มแรงงานนอกระบบ เป็น แรงงานต่างด้าวคงเข้าไม่ถึงสิทธิ์ ทั้งนี้กรรมการหอการค้า จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า สภาวะแบบนี้ ทุกกิจการ ทุกพื้นที่ได้รับผลกระทบหมด ไม่ว่าจะเป็นค้าปลีก ค้าส่ง ธุรกิจโรงแรม ที่พัก ,ห้างสรรพสินค้า ขนาดย่านเศรษฐกิจหลักๆของเชียงใหม่ ทั้งท่าแพ, นิมมานฯ, กาดหลวง, นวรัฐ ยังขนาดนี้ ย่านอื่นไม่ต้องพูดถึง

ซึ่งมาตรการต่างๆ ที่ภาครัฐฯ จะขยับออกมาเยียวยา กระตุ้นเศรษฐกิจ ตั้งแต่ไตรมาส 2 จนถึงปลายปี คงต้องเร่งด่วน ทันสถานการณ์กว่านี้ “ระบบที่จะสนับสนุน แก้ไข ฟื้นฟู กระตุ้น จะใช้รูปแบบปกติไม่ได้ ต้องเป็นวิธีการที่ ใช้กับช่วงเวลาวิกฤต รวดเร็ว มีแผนสำรอง เป็นระยะๆ และที่สำคัญ การฉีดวัคซีน ป้องกันโควิด-19 ต้อง กระจายรวดเร็ว ทั่วถึงกว่าที่เป็นอยู่ ”

ร่วมแสดงความคิดเห็น