(มีคลิป) เครือข่ายลุ่มน้ำสาละวินแถลงวอนอย่าผลักดันผู้อพยพกลับเมียนมา

กลุ่มเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำสาละวิน จ.แม่ฮ่องสอน ออกแถลงการณ์ด่วน วอนรัฐบาลอย่าผลักดันผู้ลี้ภัยกลับเมียนมาไปสู้ความตาย เนื่องจากสถานการณ์ยังน่าเป็นห่วง และมีการสู้รบอย่างต่อเนื่องระหว่างทหารกะเหรี่ยง เคเอ็นยู กับทหารรัฐบาลเมียนมา

เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2564 เครือข่ายประชนลุ่มน้ำสาละวิน ได้ออกหนังสือแถลงการณ์ด่วน เรื่องขอให้ชะลอการผลักดันชาวบ้านผู้หนีภัยสงคราม กลับรัฐกะเหรี่ยง เมียนมา

โดยในหนังสือแถลงการณ์ดังกล่าว ระบุว่า ณ เวลานี้ ผู้หนีภัยจากการสู้รบชายแดนไทย-เมียนมา ริมฝั่งแม่น้ำสาละวิน ที่ได้ข้ามมายังฝั่งไทย ที่ จ.แม่ฮ่องสอน เพื่อขอพักพิงชั่วคราว เพื่อความปลอดภัยในฝั่งไทย แต่หลายจุดในเวลานี้ชาวบ้านเหล่านี้ได้ถูกทางการไทย พยายามเจรจากดดันให้กลับไป โดยอ้างเหตุผลว่าสถานการณ์ดีขึ้นแล้ว แต่ทั้งๆ ที่ชาวบ้านยังมีความกังวล และหวาดกลัว เรื่องความปลอดภัย เพราะมีทั้งเด็ก ผู้หญิง คนชรา คนพิการ แต่เจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติงานในพื้นที่ แจ้งกับชาวบ้านว่าว่าข้างบนสั่งมาให้กลับแล้ว หากยังอยู่ก็จะกระทบต่อไทย กระทบต่อการค้าชายแดน และเศรษฐกิจ ทั้งๆ ที่ในเวลานี้ยังมีเครื่องบินรบของพม่า เข้ามาบินยิงทิ้งระบิดโจมตีฐานกองกำลังกะเหรี่ยง ใกล้บริเวณพรมแดนไทยเมียนมา ใกล้หมู่บ้านของประชาชน และหมู่บ้านข้างในกองทัพเมียนมาก็ใช้โดรนตรวจการณ์ และส่งเครื่องบินรบมาอยู่ตลอดทุกวัน

 

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตามแนวชายแดน ทางการไทย ต้องประเมินสถานการณ์ให้รอบด้าน บนฐานข้อมูลที่ถูกต้อง การข่าวที่เชื่อถือได้ และควรจะมีมาตรการผ่อนปรน ในการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้หนีภัยจากการสู้รบตามหลักมนุษยธรรมเป็นการด่วน ควบคู่ไปกับการติดตาม ประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และต่อเนื่อง บนหลักการความมั่นคงของชาติ และหลักมนุษยธรรม

เครือข่ายฯ จึงขอเรียกร้องต่อทางการไทย รัฐบาลไทย และฝ่ายความมั่นคงไทย ดังนี้

1. ขอให้รัฐบาลไทย กระทรวงกลาโหม ในฐานะฝ่ายความมั่นคงไทย ให้ประสานแจ้งเตือนไปยังกองทัพพม่า ให้ยุติการโจมตีทางอากาศ ตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา ทันที กองทัพเมียนมาต้องยุติการโจมตีบ้านเรือน ที่อยู่อาศัยของประชาชน เพราะปฏิบัติการโจมตีโดยโดยเครื่องบินของทหารเมียนมาที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนพลเรือนได้รับผลกระทบ เครื่องบินรบทิ้งระเบิด จึงส่งผลให้ประชาชนในรัฐกะเหรี่ยงต้องลี้ภัยข้ามมายังฝั่งไทย เพื่อความปลอดภัย ยังส่งผลกระทบต่อชุมชนไทยตามชายแดนอีกด้วย

2. ขอให้ฝ่ายความมั่นคงไทย ผ่อนปรนให้ที่อาศัยพักพิงชั่วคราวแก่ผู้หนีภัยสงคราม เพื่อความปลอดภัย ตามหลักมนุษยธรรม และเปิดช่องทางในการเข้าให้ความช่วยเหลือเยียวยาด้านมนุษยธรรม เป็นการด่วน ไม่ควรประวิงเวลาปล่อยให้เวลาล่วงเลยกับการประเมินสถานการณ์ช้าไปกว่านี้ เนื่องจากกลุ่มผู้หนีภัยที่พักพิงชั่วคราวเวลานี้ มีทั้งเด็กแรกเกิด เด็กเล็ก ผู้ป่วย สตรีมีครรภ์ มีอาการเจ็บป่วย ท้องเสีย มาลาเรีย ฯลฯ

3. ขอให้มีมาตรการผ่อนปรน เปิดพื้นในการบริหารจัดการบูรณาการหลายฝ่าย ในการควบคุม ช่วยเหลือดูแลผู้ลี้ภัยตามหลักมนุษยธรรม ให้สาธารณะรับรู้กระบวนการบริหารจัดการแก้ไขปัญหา และสร้างความเข้าใจต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นต่อสาธารณะอย่างถูกต้อง มากกว่าการสกัดกั้น ปิดช่องทางในการสื่อสารและความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

4. ขอให้จัดที่พักพิงชั่วคราวที่เหมาะปลอดภัยแก่ผู้หนีภัยจากการสู้รบ ตามหลักมนุษยธรรม เนื่องจากชาวบ้านเหล่านี้ล้วนเป็นกลุ่มเปราะบาง เด็ก คนแก่ ฯลฯ

5 ขอให้ยุติการผลักดันกลับไปสู่ความตาย การผลักดันผู้หนีภัยกลับสู่อันตราย ผิดจารีตระหว่างประเทศ หลักการ ไม่ส่งกลับ ถือเป็นจารีตประเพณีระหว่างประเทศ ที่จำเป็นต้องเคารพ และปฏิบัติตาม ควรพิจารณาให้ชาวบ้านตัดสินใจกลับเอง ในห้วงเวลาที่เหมาะสม และปลอดภัย

จากข้อมูล ของ กลุ่ม KNU-KNLA ระบุว่านับตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม-5 พฤษภาคม กองทัพพม่าส่งเครื่องบินรบเข้ามาโจมตีทิ้งระเบิดในเขตกองพลที่ 5 อย่างน้อย 27 ครั้ง ทหารพม่ามีการโจมตีโดยยิงปืน ค. เข้าโจมตีหมู่บ้านของประชาชน 575 ครั้ง มีประชาชนเสียชีวิต 14 ราย ได้รับบาดเจ็บ 28 คน บ้านเรือนถูกทำลายเสียหาย 20 หลัง โรงเรียนถูกทำลายจากการโจมตีของอากาศยาน 2 โรง และมีราษฎรกะเหรี่ยง ได้รับผลกระทบกว่า 2 หมื่นคน

ร่วมแสดงความคิดเห็น