ครู จ.แพร่ ไม่เห็นด้วย “ตรีนุช” จัดติวเตอร์อบรมครูรับมือเปิดเทอม ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด สร้างภาระให้ครู

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าตามที่ ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไม่เห็นด้วยกับกระทรวงศึกษาที่จะดำเนินการอบรมครู ในช่วงระหว่างวันที่ 12-28 พฤษภาคม 2564 โดยทำหนังสือ ถึงกระทรวงศึกษาธิการธิการ ผ่านทาง เพจ Athapol Anunthavorasakul โดยสื่อมวลชนให้ความสนใจเมื่อวานนี้ 10 พฤษภาคม 2564 ความว่า เรียน รมว.ศธ. (คุณตรีนุช เทียนทอง) ตรีนุช เทียนทอง

ผมได้เห็นโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ และเห็นกำหนดการในโปรแกรมอบรมครูทั่วประเทศ ที่ส่งต่อกันในไลน์อย่างกว้างขวางแล้ว เกิดข้อสงสัยอย่างยิ่งเกี่ยวกับการคัดเลือกวิทยากร โดยระดมครูจากสถาบันกวดวิชา และเจ้าหน้าที่ฝึกอบรมจากสถาบันเอกชนที่ขายคอร์สพัฒนาครูเป็นหลัก มาอบรมครูในระบบ เท่าที่ผมศึกษาดูจากนโยบายพัฒนาครูในหลายประเทศ ตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ยังไม่พบว่ามีประเทศใดในโลกดำเนินการด้วยแนวทางนี้นะครับ

ธรรมชาติของงานที่ติวเตอร์ทำกับครูเต็มเวลาในโรงเรียนทำต่างกันมาก การดึงพวกเขามาไม่ใช่ความผิดพวกเขาเลย แต่มันสะท้อนว่าการกำหนดนโยบายยังขาดความเข้าใจเรื่องการศึกษา และไม่ได้กำหนดนโยบายบนฐานปรัชญาการศึกษาพิพัฒนาการนิยม ปฏิรูปนิยม และมนุษยนิยมใหม่ อันเป็นหัวใจของการศึกษากระแสหลักที่มีคุณภาพทั่วโลก รวมทั้งระบุอยู่ใน พ.ร.บ.การศึกษาฉบับปัจจุบัน กิจกรรมตามนโยบายนี้ สะท้อนชุดความคิดที่ยังติดอยู่ในโลกของการศึกษา 100 ปีที่แล้ว ที่คิดว่าต้องหาวิธีถ่ายทอด อธิบาย วิเคราะห์ให้ฟัง มองงานสอนเป็นงานเชิงเทคนิควิธีการ มากกว่าการส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียน

ความรู้ว่าด้วยการพัฒนาครูประจำการ (In-service Teacher Development) ในระดับนานาชาติ เน้นการสร้างความแข็งแกร่งชองชุมชนเรียนรู้ของครู (TLC : Teacher Learning Community) ใช้การสืบสอบ (Inquiry) การวิจัยชั้นเรียน (ClassroomResearch) การศึกษาบทเรียน (Lesson Study) ทำให้ครูเป็นนักปฏิบัติที่ชำนาญขึ้น จากการไตร่ตรองสะท้อนคิด (Reflective Practitioner) และทำให้โรงเรียนเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ (SLC: School as Leaning Community) ที่มีชีวิตชีวาสำหรับทุกคน

การอบรมแบบฟังอย่างเดียวให้ได้ Input แบบนี้ หลายประเทศยกเลิกไปนานแล้ว ใช้เฉพาะวาระรับฟังนโยบายบางอย่างที่สำคัญมาก ๆ หรือเชิญผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องระดับนานาชาติมาคุย ในลิสต์รายชื่อวิทยากรที่มี ผมเชื่อว่าสำหรับครูไทยที่เก่ง ๆ ใฝ่รู้ รักดี ก้าวข้ามกำแพงภาษาพอได้ เห็นเข้าคงส่ายหัว พวกเขาหาฟังประชุมออนไลน์นานาชาติที่มีวิทยากรดัง ๆ ระดับเอเซีย-แปซิฟิค ระดับโลก ได้ด้วย Free Webinar หรือเรียนผ่าน Mooc และ Coursera ได้มากมาย ทั้งในและต่างประเทศ มาสักพักใหญ่แล้วนะครับ ยิ่งไปกว่านั้นครูเก่งๆ ของเราเป็นวิทยากรอบรมระดับประเทศกันหลายคน พวกเขาน่าจะทำหน้าที่นี้ในการสื่อสาร แชร์ประสบการณ์จากห้องเรียนจริง ๆ สร้างแรงบันดาลใจ และพูดจาภาษาห้องเรียนเช่นเดียวกับเพื่อนครูได้มากกว่า

ปรากฎการณ์นี้ ยังสะท้อนเรื่องใหญ่ที่สำคัญในการพัฒนาครู นั่นคือการขาดการเชื่อมต่อยึดโยง (Alignment) กับสถาบันเตรียมครูพัฒนาครูอย่างคณะครุศาสตร์ศึกษาศาสตร์ ซึ่งเป็นปัญหาทั้ง 2 ฝั่ง กล่าวคือ ศธ.ก็มองไม่เห็นคุณค่า ไม่ศรัทธาเชื่อมั่น มองไม่เห็นทั้งความพร้อมที่มีอยู่ (Availability) และการเปิดให้สาธารณะเข้าถึงได้ (Accessibility) จากสถาบันครุศึกษา ในระดับสถาบันนะครับ ไม่ใช่การเชื้อเชิญเจาะจงตัวเป็นรายๆ ไป

ในอีกมุมหนึ่ง สถาบันครุศึกษาเหล่านี้ก็ทำตัวห่างเหิน ไม่แสดงภาวะผู้นำทางการศึกษา ไม่กระตือรือล้นมากพอที่จะร่วมรับผิดรับชอบกับสถานการณ์ปัญหาทางการศึกษา ลอยตัวจากความล้มเหลวของระบบ มาอย่างยืดเยื้อเรื้อรังยาวนาน พูดภาษาชาวบ้าน คือ ผู้กำหนดนโยบายเขามองไม่เห็นหัวพวกท่าน เพราะพวกท่านไม่เคยอยู่ให้เห็นหัว

นี่คือบางช่วงบางตอน ที่ ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล ไม่เห็นด้วย พร้อมกับ มีข้อเสนอ 3 ข้อ สำหรับการดำเนินการของ ศธ ในช่วงเลื่อนเปิดเทอม 11 วัน

1. สนับสนุนให้ทุกโรงเรียนมีการจัดการประชุมออนไลน์ถอดบทเรียนการทำงานในรอบปีที่ผ่านมา ครูทุกคนได้มีประสบการณ์ตรงและลงมือแก้ปัญหามาหมดแล้ว ทั้ง Online (เลื่อมเวลา/ประสานเวลา) – On Air – On Screen – On Hand – On Site. รวมทั้ง Hybrid ไม่มีติวเตอร์หรือนักวิชาการเจอบริบทการสอนการทำงานแบบเดียวกับคุณครูในช่วง พ.ค.-ก.ค.63 และ ธ.ค.63 -ม.ค.64 ที่ต้องจัดกิจกรรมการเรียนทั้ง 5 ช่องทางนี้ผสมกัน

คุณครูเท่านั้นที่เคยล้มเหลว เรียนรู้ หลายคนปรับตัว จนเกิดแนวปฏิบัติที่ดี สามารถแลกเปลี่ยน ให้คำแนะนำเพื่อนครูร่วมโรงเรียน ได้การรับมือสถานการณ์นี้ เราเรียนรู้จากประสบการณ์ของเพื่อนครูโรงเรียนอื่น ผู้สอนในบริบทอื่นได้ แต่เรื่องสำคัญ คือการแลกเปลี่ยนกันเองกับครูที่ดูแลนักเรียนในบริบทเดียวกัน วิธีที่ใช้ได้กับโรงเรียนขนาดกลางระดับชุมชนเมือง ไม่อาจใช้ได้กับโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล หรือกระทั่งโรงเรียนใหญ่ในเมือง และต่อให้ขนาดใกล้เคียงกันโรงเรียนในบริบทเด็กหลากชาติพันธุ์ เด็กในบริบทวัฒนธรรมเฉพาะ และเด็กที่มีพื้นเพสถานะ ความพร้อมสนับสนุนของครอบครัวก็ไม่อาจเหมือนกัน

ให้เวลาคุณครูได้คุยหารือ ได้พัก ได้เตรียมตัวสอนเถิดครับ ดีกว่าบังคับให้เปิดหน้าจอเช็คชื่ออบรมออนไลน์กับใครก็ไม่รู้ ที่ไม่ได้เข้าใจปัญหาเฉพาะหน้าที่ครูกำลังต้องเผชิญ แล้วก็ต้องแอบปิดกล้องนั่งประชุมเตรียมสอนกันไปและฝากโจทย์ให้คุณครูขบคิดวิธีการทำความรู้จักสร้างความสัมพันธ์เชิงบวกกับ นักเรียนในการสอนทางไกลตั้งแต่สัปดาห์แรกของเทอม

2. ให้เด็กๆ ได้พัก ได้เล่นสนุกตามใจบ้างเถิดครับในช่วง 11 วันที่เลื่อนเปิดเทอม เด็ก ๆ ล้ามาเต็มที กับการเรียนปนไปปนมาระหว่างออนไลน์/ออฟไลน์ หลายคนเครียด เบื่อ เหนื่อยล้า หมดแรงจูงใจไปแล้ว รวมทั้งอีกไม่น้อยที่ซึมซับรับรู้ความเครียดทางเศรษฐกิจ สังคม และความหวั่นกลัวการติดเชื้อร่วมกับผู้ใหญ่

ให้เขาได้เล่น ได้เป็นเด็ก มีเวลาว่างสั้น ๆ สัก 11 วัน ถ้าท่านเกรงว่าจะสูญเปล่า แนะนำว่าให้โรงเรียนประสานงานกับเด็กล่วงหน้าว่าไม่มีงาน ไม่มีการบ้าน ให้เล่นเต็มที่ แต่ฝากให้เขียนสั้นๆ หรือวาดอะไร เตรียมมาเล่าให้เพื่อนและครูฟังในวันแรกที่ได้เปิดเทอมว่า ’11 วันที่ได้มีเวลาว่าง ฉันทำอะไร’

3. หารือด่วนกับ อว. และเครือข่ายสถาบันครุศึกษา เชิญชวนผู้นำองค์กรของกลุ่มมหาวิทยาลัยทึ่มีคณะครุศาสตร์ศึกษาศาสตร์ หารือ ร่วมกันแบ่งพื้นที่ดูแลสนับสนุนงานคุณครูในช่วงภาคการศึกษาต้น ไม่มีงบประมาณก็น่าจะไม่ใช่ปัญหาใหญ่ ทุกสถาบันภายใต้มหาวิทยาลัยถูกกำกับด้วยตัวชี้วัดต้องให้บริการวิชาการอยู่แล้ว ทำเป็นออนไลน์แพลตฟอร์ม ให้เรียนรู้สนับสนุนยึดโยงกันระหว่างโรงเรียนและมหาวิทยาลัยเริ่มจากมหาวิทยาลัยไหนที่ส่งนิสิตนักศึกษาลงฝึกสอน ต้องร่วมสนับสนุนงานโรงเรียนนั้น และโรงเรียนใดทึ่ไม่ใช่พื้นที่ฝึกงานของนิสิตนักศึกษา ก็ควรจัดโซนพื้นที่ ระดมพลังช่วยสนับสนุนกันทั้งหมดนี้คือข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่อยากนำเรียนฝากไว้เพื่อพิจารณาใคร่ครวญอย่างถ้วนถี่รอบคอบด้วยความเคารพ อรรถพล อนันตวรสกุล คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ทางด้านวงการศึกษาทั้งครูผู้สอน ผู้บริหารสถานศึกษาต่างก็สนับสนุน ข้อเสนอของ ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล กันอย่างล้นหลาม โดย ผอ.โรงเรียนท่านหนึ่งใน จ.แพร่ กล่าว ว่า เป็นการอบรมที่นานเกินไป ใช้เวลามากถึง 11 วัน พร้อมกับให้เหตุผลว่า

1. โรงเรียนสามารถจัดการประชุมออนไลน์ถอดบทเรียนการทำงานในรอบปีที่ผ่านมา เช่น การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอน การพัฒนาหลักสูตรให้ทันกับสภาพปัจจุบัน โดยใช้โปรแกรมออนไลน์ต่าง ๆ เช่น โปรแกรม LINE โปรแกรม ZOOM เป็นต้น เนื่องจากสภาพบริบทของแต่ละโรงเรียนแตกต่างกัน จึงควรได้รับการพัฒนาตามจุดเน้นของสภาพบริบทโรงเรียน ชุมชนที่แตกต่างกันด้วยเช่นกัน

2. โรงเรียนสามารถร่วมกันหารือแนวทางการจัดการเรียนการสอนเพื่อเตรียมรับกับในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ตามสภาพบริบทที่เหมาะสมของแต่ละท้องที่ บางโรงเรียนสามารถเข้าถึงช่องทางแหล่งเรียนรู้ออนไลน์ได้ บางโรงเรียนต้องใช้สัญญาณดาวเทียม บางโรงเรียนต้องใช้รูปแบบการเรียนทางไกล ทั้งนี้ขึ้นอยู่กันแนวทางการหารือของแต่ละสถานศึกษา

3. หากโรงเรียนต้องการพัฒนาครูบุคลากรทางการศึกษาในเรื่องใด ตามสภาพความต้องการของโรงเรียนสามารถใช้หลายวิธีการ เช่น การอบรมออนไลน์ การจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการออนไลน์ โดยใช้โปรแกรมที่ครูสามารถเข้าถึงกัน ทั้งนี้เพื่อให้ตรงและสนองกับความต้องการของประชาคมครูของแต่ละโรงเรียนอีกด้วย

4. ท่ามกลางวิกฤตนี้ยังมีโอกาสสำหรับสถานศึกษา ครูผู้สอน ในการเสาะหาช่องทาง หรือ แนวทาง หรือ นวัตกรรม เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น สามารถพัฒนาบทเรียนสำเร็จรูปที่มีคุณภาพและสามารถใช้งานได้จริง บทเรียนออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ ขอเป็นกำลังใจให้คุณครูมองภาพบวกเชิงสร้างสรรค์อันจะส่งผลต่อการพัฒนาลูกหลานเยาวชนของชาติอย่างมีคุณภาพท่ามกลางยุคแห่งการเปลี่ยนผ่านทั้งโรคระบาด และช่องทางโอกาสของการเรียนรู้ของผู้เรียนอย่างไร้ขีดจำกัดนี้

ผอ.โรงเรียนอีกคนให้เหตุผล และสนับสนุนแนวคิดของ ผศ.อรรถพล เป็นแนวคิด และแนวทางที่น่าสนใจมากครับ โดยแนวทางการทำงานในช่วงก่อนเปิดภาคเรียนของโรงเรียน จะมีภารกิจงานของในส่วนของโรงเรียน และคณะครูบุคลากรค่อนข้างมาก ทั้งงานสรุปผลและวิเคราะห์ผลการจัดการศึกษาในปีการศึกษาที่ผ่านมา ทั้งในะดับรายวิชา ห้องเรียน ระดับชั้นและโรงเรียน รวมทั้งงานการวางแผนและเตรียมการการจัดการศึกษา ในปีการศึกษา 2564 ทั้งด้านหลักสูตร การจัดการเรียนระดับห้องเรียนและรายวิชา การเตรียมสือและวัสดุอุปกรณ์ทางการศึกษา และงานอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ภาระงานการวางแผนการจัดการศึกษาจะมีความยุ่งยากและซับซ้อนยิ่งขึ้น

ดังนั้น ช่วงนี้ด้วยภาระงานที่เต็มมือของครู ครูอาจจะแบ่งเวลามาติดตามการอบรมตามช่วงเวลาที่กระทรวงกำหนดได้ยาก อีกทั้งเป็นช่วงการอบรมที่ใช้เวลาหลายวันมาก อาจจะได้ดูในบางช่วงที่เห็นว่าเป็นประโยชน์จริงๆ หรือเป็นช่วงที่ครูว่างจากภารกิจก็ได้ หรือหากสามารถดูย้อนหลังได้ อาจต้องใช้เวลาช่วงกลางคืนมาดูย้อนหลัง ส่วนในการอบรมครั้งนี้ จะน่าสนใจ หรือเป็นประโยชน์ต่อครูหรือไม่ ต้องติดตามผลการอบรมต่อไป ว่าสัมฤทธิ์ผลตามเป้าหมาย หรือไม่? หวังว่า รมว.ศึกษาธิการ คงจะทบทวนการอบรมนี้หรือปรับเวลาให้เหมาะสมกับสถานการณ์


สมฤทธิ์ ชัยพลังฤทธิ์/แพร่

ร่วมแสดงความคิดเห็น