กองทัพภาคที่ 3 ห่วงใยต่อสถานการณ์โรคไข้เลือดออก ในพื้นที่ภาคเหนือ

เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2564 กองทัพภาคที่ 3/กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 แถลงข่าวประชาสัมพันธ์ ประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 132 ณ ศูนย์ประชาสัมพันธ์ กองทัพภาคที่ 3 ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก โดยมี พันเอก รุ่งคุณ มหาปัญญาวงศ์ โฆษกกองทัพภาคที่ 3/กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 พร้อมด้วย พันเอก นายแพทย์ วิโรจน์ ชนม์สูงเนิน รองโฆษกฯ, พันโท วรปรัชญ์ กาศสกุล และ พันโท หญิง บุณฑริกา ฑีฆวาณิช ผู้ช่วยโฆษกฯ เป็นผู้แถลงข่าวฯ มีสาระสำคัญดังนี้

โรคไข้เลือดออก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue Virus) โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค มักพบในประเทศเขตร้อน และระบาดในช่วงฤดูฝนของทุกปี อาการมีตั้งแต่ไม่รุนแรง ไปจนถึงเสียชีวิตได้ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ซึ่งในปัจจุบัน ตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม 2564 เริ่มมีการแพร่ระบาดในบางพื้นที่ของจังหวัดแม่ฮ่องสอนแล้ว


เชื้อไวรัสเดงกี มี 4 สายพันธุ์ คือ DENV-1, DENV-2, DENV-3 และ DENV-4 มียุงลายเพศเมีย เป็นพาหะนำโรค เมื่อยุงลายดูดเลือดจากผู้ป่วยในระยะที่มีไข้ ซึ่งมีเชื้อไวรัสในกระแสเลือด เชื้อจะเข้าไปฝังตัวในกระเพาะยุงและต่อมน้ำลายของยุง โดยมีระยะฟักตัวในยุง ประมาณ 8-12 วัน เมื่อยุงที่มีเชื้อไปกัดคนอื่น เชื้อไวรัสก็จะเข้าสู่กระแสเลือดของผู้ที่โดนกัด ก่อให้เกิดการติดเชื้อและป่วยตามมา หลังจากถูกกัดประมาณ 3-15 วัน
สามารถพบได้ทุกเพศทุกวัย แต่พบบ่อยในเด็กวัยเรียนและวัยทำงานตอนต้น ผู้ป่วยที่มีภาวะเสี่ยง ต่ออาการรุนแรง หรือ เกิดภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ เด็กทารกและผู้สูงอายุ, หญิงตั้งครรภ์, ผู้ที่มีแผลในกระเพาะอาหาร, ผู้หญิงที่อยู่ระหว่างมีประจำเดือนหรือมีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด, ผู้ที่มีโรคเม็ดเลือดแดงแตกง่าย หรือโรคที่เกิดจากฮีโมโกลบินผิดปกติ, ผู้ป่วยโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด, ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น อ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หอบหืด โรคหัวใจขาดเลือด ไตวาย ตับแข็ง, ผู้ที่รับประทานยากลุ่มสเตียรอยด์ หรือยาในกลุ่มยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-Steroidal Anti-Inflammatory หรือ NSAIDs)

โดยทั่วไปการติดเชื้อไวรัสเดงกีครั้งแรก ผู้ป่วยส่วนใหญ่ (ร้อยละ 80 – 90) อาการจะไม่รุนแรง บางรายอาจมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก และมีผื่นที่ผิวหนังได้ แต่ถ้าเป็นการติดเชื้อครั้งที่สอง โดยเชื้อไวรัสที่สายพันธุ์ต่างจากครั้งแรก อาจมีอาการรุนแรงเกิดเป็นภาวะไข้เลือดออกได้ ซึ่งแบ่งออกได้ 3 ระยะ คือ

1. ระยะไข้ ผู้ป่วยจะมีไข้สูงเกือบตลอดเวลา มักไม่ค่อยตอบสนองต่อยาลดไข้ อาจมีอาการ เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง และอาจมีผื่นหรือจุดเลือดออกตามลำตัว แขน ขา ระยะนี้จะเป็นอยู่ราว 2-7 วัน

2. ระยะวิกฤติ ระยะนี้ไข้จะเริ่มลดลง ผู้ป่วยที่เกิดภาวะแทรกซ้อนเลือดออก อาการจะไม่ดีขึ้น ยังคงเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง อ่อนเพลีย มากกว่าเดิม ต่างกับผู้ป่วยที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนซึ่งอาการต่างๆ ค่อยๆ ดีขึ้น ผู้ป่วยที่อาการรุนแรง อาจเกิดภาวะช็อก มีความดันโลหิตต่ำ มือเท้าเย็น ชีพจรเต้นเบาเร็ว ปัสสาวะออกน้อย ร่วมกับมีเลือดออกง่าย เช่น มีเลือดกำเดาไหล อาเจียนเป็นเลือด อุจจาระมีสีดำ เป็นต้น ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้ ระยะนี้กินเวลา 24-48 ชั่วโมง ดังนั้น ถ้าผู้ป่วยมีไข้เกิน 2 วันแล้วอาการไม่ดีขึ้นควรไปพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัยและรักษา

3. ระยะฟื้นตัว อาการต่างๆ จะเริ่มดีขึ้น ผู้ป่วยอยากรับประทานอาหาร ความดันโลหิตสูงขึ้น ชีพจรเต้นแรงขึ้นและช้าลง ปัสสาวะมากขึ้น บางรายมีผื่นแดงและมีจุดเลือดออกเล็กๆ ตามลำตัว

ปัจจุบันยังไม่มียาต้านไวรัสที่มีประสิทธิภาพดีในการรักษาโรคไข้เลือดออก การรักษาประคับประคองที่ถูกต้องในเวลาที่เหมาะสม จะทำให้ผู้ป่วยกลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ซึ่งในรายที่อาการไม่รุนแรง อาจหายได้เองภายใน 2-7 วัน

สำหรับการดูแลอาการเบื้องต้น มีดังนี้ 1. ผู้ป่วยควรได้รับอาหารและนํ้าดื่มอย่างเพียงพอ ควรรับประทานอาหารอ่อนและงดอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีสีดำ แดง หรือนํ้าตาล เพื่อไม่ให้สับสนกับภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร ถ้าผู้ป่วยรับประทานอาหารได้น้อย อาจให้ดื่มนม นํ้าผลไม้ หรือนํ้าเกลือแร่ร่วมด้วย 2. การลดไข้ เช็ดตัวด้วยน้ำอุ่นเพื่อลดไข้เป็นระยะๆ และใช้ยาพาราเซทตามอล เฉพาะเวลามีไข้สูงเท่านั้น ห้ามใช้แอสไพริน ไอบูโพรเฟน หรือ ยากลุ่ม (Non-Steroidal Anti-Inflammatory Drug – NSAID) เด็ดขาด เพราะอาจทำให้เลือดออกมากขึ้น 3. สังเกตอาการ หากพบว่าผู้ป่วยคลื่นไส้/อาเจียนมาก อ่อนเพลียมาก ปวดท้องมาก รับประทานอาหาร และดื่มน้ำไม่ได้ มีภาวะเลือดออกรุนแรง สงสัยภาวะช็อก โดยเฉพาะเมื่อไข้เริ่มตํ่าลง เช่น ความดันโลหิตต่ำ ชีพจรเต้นเบาเร็ว มือเท้าเย็น ปัสสาวะออกน้อย ซึม สับสน กระสับกระส่าย ฯลฯ ควรรีบมาพบแพทย์โดยเร็วที่สุด

การป้องกันโรคไข้เลือดออก
1. ระมัดระวังไม่ให้ยุงกัด โดยสวมใส่เสื้อแขนยาว และกางเกงขายาว, การใช้สารไล่ยุงชนิดต่างๆ เช่น DEET, การใช้กลิ่นกันยุง เช่น ตะไคร้ หรือสารเคมีอื่นๆ นอนในมุ้ง เป็นต้น 2. เนื่องจาก วัคซีนไข้เลือดออกที่มีจำหน่ายในประเทศไทยขณะนี้ 1 ชนิด มีประสิทธิภาพไม่สมบูรณ์ กล่าวคือ วัคซีนสามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสเดงกี และลดความรุนแรงของโรคได้เฉพาะในผู้ใหญ่ หรือเด็กอายุมากกว่า 9 ปี ซึ่งเคยมีการติดเชื้อไวรัสเดงกีมาก่อนในอดีต (Seropositive) เท่านั้น สำหรับผู้ที่ไม่เคยติดเชื้อมาก่อน (Seronegative) วัคซีนอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นไข้เลือดออกรุนแรง ประมาณ 2 คน ในผู้ที่ได้รับวัคซีน 1,000 คน ในระยะเวลา 5 ปี ดังนั้นควรปรึกษาแพทย์ เพื่อการตัดสินใจ โดยอาศัยข้อมูลจากงานวิจัยล่าสุดทุกครั้ง

3. แนะนำให้มีการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายบริเวณบ้านและชุมชน ตามมาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” ดังนี้ 3.1 เก็บบ้านให้สะอาด เช่น พับเก็บเสื้อผ้าใส่ในตู้หรือแขวนให้เรียบร้อย เพื่อไม่ให้มีมุมอับทึบ เป็นที่เกาะพักของยุง 3.2 เก็บขยะที่อยู่บริเวณรอบบ้าน เก็บภาชนะใส่อาหารหรือน้ำดื่มที่ทิ้งไว้ใส่ถุงดำ และนำไปทิ้งลงถังขยะ 3.3 เก็บน้ำ ภาชนะที่ใส่น้ำเพื่ออุปโภค บริโภค ต้องปิดฝาให้มิดชิด ล้างคว่ำภาชนะใส่น้ำ และ เปลี่ยนน้ำในกระถางหรือแจกันทุกสัปดาห์ ป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่ ซึ่งจะสามารถป้องกัน 3 โรค คือ 1) โรคไข้เลือดออก 2) โรคติดเชื้อไวรัสซิกา 3) โรคไข้ปวดข้อยุงลายหรือโรคชิคุนกุนยา

ในการนี้ พลโท อภิเชษฐ์ ซื่อสัตย์ แม่ทัพภาคที่ 3/ผู้บัญชาการศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองทัพภาคที่ 3 มีความห่วงใยต่อข้าราชการทหาร ในสังกัดกองทัพภาคที่ 3 และพี่น้องประชาชน ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ต่อโรคไข้เลือดออก ซึ่งหากพบว่าตนเองหรือ คนรอบข้างมีอาการบ่งชี้ หรือสงสัยว่าป่วยดังอาการดังกล่าว ขอให้ได้ไปพบแพทย์ ณ โรงพยาบาลทหารทั้ง 10 แห่งในพื้นที่ภาคเหนือ หรือโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขใกล้บ้าน เพื่อคัดกรอง วินิจฉัย และรักษาต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น